โรงเรียนในปักกิ่งจ่อบริการ ‘ถาดหลุมช้อนส้อม’ เต็มรูปแบบ หมดยุคนักเรียนพกมาเอง
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
ปักกิ่ง, 7 ก.ค. (ซินหัว) — คณะกรรมการการศึกษาเทศบาลกรุงปักกิ่งของจีนเปิดเผยว่าโรงเรียนประถมและมัธยมในกรุงปักกิ่งจะจัดสรรเครื่องใช้ในการรับประทานอาหาร เช่น ถาดหลุม ช้อน ส้อม และตะเกียบ แก่นักเรียนทุกคนระหว่างมื้ออาหารกลางวัน เริ่มต้นตั้งแต่ภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วงในเดือนกันยายนนี้
เมื่อวันศุกร์ (4 ก.ค.) คณะกรรมการฯ ระบุว่ากรุงปักกิ่งพยายามปรับปรุงโภชนาการและความสะดวกสบายในการรับประทานอาหารของนักเรียน นำสู่การลดจำนวนนักเรียนที่ต้องพกเครื่องใช้เหล่านี้มาเองจาก 3.2 แสนคนในช่วงต้นปี 2024 เหลือ 20,000 คนในปัจจุบัน
ตั้งแต่ภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วงนี้ นักเรียนกลุ่มที่เหลือข้างต้นจะไม่จำเป็นต้องพกเครื่องใช้เหล่านี้มาโรงเรียนอีกต่อไป ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองที่ยังต้องการให้นักเรียนพกเครื่องใช้เหล่านี้มาโรงเรียนสามารถทำได้ตามความสมัครใจ
นโยบายนี้สานต่อจากความพยายามระดับชาติ ซึ่งส่งเสริมพ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนร่วมกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารและการจัดการโภชนาการในโรงเรียนภายใต้ระเบียบข้อบังคับปี 2019 ขณะกระทรวงศึกษาธิการส่งเสริม “ครัวกลาง” ในปี 2020 เพื่อยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของอาหาร พร้อมคงคุณค่าทางโภชนาการ
ปัจจุบันมีโรงเรียน 2,114 แห่งทั่วกรุงปักกิ่งที่จัดสรรอาหารกลางวันแก่นักเรียน 1.81 ล้านคน โดยก่อนหน้านี้นักเรียนของโรงเรียนที่ไม่มีโรงอาหารหรือสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการล้างเครื่องใช้เหล่านี้ต้องพกเครื่องใช้มาเอง
กรุงปักกิ่งกำลังขยายการทดลอง “ครัวกลาง+” สำหรับมื้ออาหารในโรงเรียน ซึ่งย้ายขั้นตอนเตรียมวัตถุดิบอย่างล้างและตัดแต่งไปยังนอกโรงเรียน รวมถึงสร้าง “ครัวเล็ก” ที่มีอุปกรณ์ประกอบอาหารอัจฉริยะและติดตั้งเครื่องล้างภาชนะตามโรงเรียนแห่งต่างๆ พร้อมใช้มาตรฐานสุขอนามัยอันเข้มงวดยิ่งขึ้นในการฆ่าเชื้อภาชนะ
นอกจากนั้นมีการจัดตั้งกลไก “ความร่วมมือระหว่างโรงเรียน” ซึ่งเปิดทางให้โรงเรียนที่มีการปฏิบัติงานด้านห้องครัวเพียงพอจัดสรรอาหารแก่โรงเรียนใกล้เคียงที่ขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง ซึ่งลดระยะเวลาจัดส่งอาหารและรักษาคุณภาพอาหารได้ดียิ่งขึ้น
คณะกรรมการฯ ยังวางแผนเพิ่มเติมสำหรับอนาคต เช่น การก่อสร้างระบบจัดการโรงอาหารอัจฉริยะที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ การจัดตั้งแพลตฟอร์มจัดซื้อวัตถุดิบอาหารแบบรวมศูนย์ และการเพิ่มจำนวนโรงอาหารที่โรงเรียนบริหารจัดการเอง