เปิด ‘เทรนด์หางาน’ แรงงานไทย ปี 2025 เน้นทำงาน 5 วัน แบบไฮบริด-รับเด็กจบใหม่
“CareerVisa Thailand” และ “JobThai” ร่วมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของแรงงานไทยรุ่นใหม่ ในงาน Career Trends & Skills in Thailand: 2025 Onward ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการและความกังวลของแรงงานไทยในปัจจุบันที่เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง
ธีรยา ธีรนาคนาท CEO จาก CareerVisa Digital เปิดเผยผลการสำรวจทัศนคติของคนทำงานรุ่นใหม่ว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับ “ซอฟต์สกิล” (Soft Skills) อย่างเช่นการสื่อสารและการปรับตัว ควบคู่ไปกับ “ฮาร์ดสกิล” (Hard Skills) ทักษะด้านดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่ทุกอาชีพจำเป็นต้องมีในปัจจุบัน เพราะคนรุ่นใหม่ต้องการพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น เพื่อจะได้เติบโตในสายงาน
นอกจากนี้การสำรวจยังพบว่า แรงงานไทยส่วนใหญ่ต้องการทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid Working) มากที่สุดถึง 43.9% เพราะเป็นรูปแบบการทำงานที่ช่วยให้พนักงานสามารถจัดการเวลาได้ดีขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์และเอื้อต่อการทำงานมากที่สุด อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานได้อีกด้วย
รองลงมาเป็นการทำงานระยะไกล (Remote Working) ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) หรือ ทำงานจากทุกที่ (Work From Everywhere) คิดเป็น 39.3% โดยรูปแบบนี้ทำให้พนักงานไม่จำเป็นต้องไปออฟฟิศ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง พนักงานมีความยืดหยุ่นในการทำงานและมีเวลาว่ามากขึ้น
มีเพียง 17% เท่านั้นที่เลือกเข้าออฟฟิศทุกวัน เนื่องจากให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะในบางอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถทำงานได้ที่บ้าน เช่น การผลิต งานบริการลูกค้า หรือทำงานในห้องแล็บ
เมื่อถามแรงงานว่าบริษัทแบบใดที่ไม่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุด พบว่า 5 ปัจจัยหลักที่ทำให้แรงงานไม่สนใจทำงานด้วย ได้แก่ การเอาเปรียบพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นให้พนักงานทำงานเกินเวลา มอบหมายงานเกินขอบเขตหน้าที่ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้ทำให้พนักงานรู้สึกไม่ได้รับการเคารพและเห็นคุณค่า ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพกายและใจในระยะยาว
ข้อต่อมาคือ การไม่รับฟังความเห็นของพนักงาน ซึ่งสร้างความอึดอัดและลดความกระตือรือร้นของพนักงาน ไปจนถึงรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าต่อองค์กร เช่นเดียวกับ ค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสมก็เป็นอีกปัจจัยหลักที่ทำให้คนไม่อยากร่วมงานด้วย เนื่องจากรายได้ที่ต่ำกว่าความรับผิดชอบหรือความคาดหวังจะส่งผลต่อขวัญกำลังใจและความมุ่งมั่นในการทำงาน
ขณะที่ บริษัทที่ขาดความเป็นมืออาชีพและระบบการทำงานที่ไม่ชัดเจน จะสร้างความสับสนและลดประสิทธิภาพการทำงาน โดยการบริหารที่ไม่ดีมักทำให้พนักงานต้องเผชิญกับปัญหาในการตัดสินใจที่ไม่มีเหตุผล หรือขาดความรับผิดชอบจากผู้บริหารอีกด้วย
บริษัทที่ทำให้พนักงานไม่มีสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work Life Balance) เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้แรงงานไม่อยากร่วมงานด้วย เพราะการทำงานมากกว่า 5 วันต่อสัปดาห์ หรือทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่า ทำให้แรงงานมองว่าบริษัทไม่ให้ความสำคัญกับพนักงานมากพอ
เทคโนโลยีและเอไอ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่แรงงานเป็นกังวลมากที่สุด เพราะถูกมองว่าเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง แม้ว่าจะเป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่คนก็ยังกังวลว่าเทคโนโลยีจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีแต่ความไม่แน่นอน จนทำให้เสียงานไป
เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความกังวลในระยะยาว แรงงานอาจจะสูญเสียงานได้ทุกเมื่อ นำไปสู่ความไม่มั่นคงทางการเงิน ทำให้แรงงานตั้งใจจะทำงาน 2 อย่างควบคู่กันไป เช่นงานประจำคู่กับธุรกิจส่วนตัว ฟรีแลนซ์ หรือรับงานเสริม เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้และสวัสดิการที่สามารถช่วยรองรับความเสี่ยงในชีวิตได้ เพราะงานประจำอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอสำหรับยุคที่เศรษฐกิจไม่ฟื้น แต่จำเป็นต้องบริหารเวลาให้เหมาะสม เพื่อให้การทำงานทั้งสองอย่างประสบความสำเร็จ และไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวม
ขณะที่ แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ COO และผู้ร่วมก่อตั้ง JobThai เปิดเผยพฤติกรรมผู้สมัครงานผ่านแพลตฟอร์ม JobThai ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2025 แสดงให้เห็นว่าผู้คนสมัครงานกันตลอดทั้งวันทั้งคืน แต่ช่วงที่คนสมัครงานมากที่สุด คือ เวลา 11:00 น. ของวันจันทร์ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานเลือกจะเปลี่ยนงานมาจาก การขาดโอกาสในการเติบโตและพัฒนาในอาชีพ ไม่มีสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน การได้รับผลตอบแทนที่ไม่เหมาะสม สวัสดิการที่ไม่ตอบโจทย์ และความเครียดจากการทำงาน
สำหรับคีย์เวิร์ดยอดนิยมที่คนใช้มากที่สุด พบว่า คนหางานที่ “หยุดเสาร์-อาทิตย์” เยอะสุด สะท้อนให้เห็นว่าแรงงานให้ความสำคัญกับแนวคิด Work Life Balance ตามด้วยการแสวงหาโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ เช่น “งานรับเด็กจบใหม่” และ “นักศึกษาฝึกงาน” รวมถึง “งานภาษาจีน” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพร้อมก้าวสู่โลกกว้าง
สายงานที่มีคนสมัครงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ฝ่ายผลิต (QC/QA) 2.งานธุรการและฝ่ายจัดซื้อ 3.สายงานวิศวกรรม 4.ฝ่ายทรัพยากรบุคคล 5.ฝ่ายเทคนิค ซึ่งไม่สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่เปิดมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1.ฝ่ายขาย 2.ช่างเทคนิค 3.ฝ่ายผลิต (QC/QA) 4.งานธุรการและฝ่ายจัดซื้อ 5.สายงานวิศวกรรม
อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครงานก็ยังมีความกังวลในการหางานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการไม่มั่นใจในคุณสมบัติของตนเอง เพราะไม่ความโดดเด่นแตกต่างจากผู้สมัครคนอื่น หรือไม่รู้ว่าจะเริ่มหางานได้จากไหน รวมถึงบริษัทไม่สามารถให้ค่าตอบแทนได้ตามที่ต้องการ บางครั้งก็ไม่สามารถหางานที่ตรงทักษะหรือความสนใจได้ และมีหลายครั้งที่สมัครงานไปแล้วไม่รับการติดต่อจากบริษัท
ก่อนหน้านี้ มีผลสำรวจระบุว่า บริษัทหลายแห่งไม่รับ “เด็กจบใหม่” เข้าทำงาน สำหรับความเห็นของ วสันต์ สินพิทักษ์สกุล Group Chief People Officer จาก CP Axtra มองว่า เป็นเพราะบริษัทมองว่าเด็กจบใหม่ขาดประสบการณ์ และขาดซอฟต์สกิล โดยเฉพาะทักษะการเข้าสังคม อีกทั้งเด็กจบใหม่ส่วนใหญ่มีความต้องการเงินเดือนที่ค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทอาจรู้สึกไม่คุ้มค่าที่จะจ่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีบริษัทไหนรับเด็กจบใหม่เลย บริษัทชั้นนำส่วนใหญ่ยังยินดีรับเด็กจบใหม่ เพียงแต่ต้องหาองค์กรที่ใช่ให้เจอ
นอกจากนี้ วสันต์ยังกล่าวว่า สิ่งที่องค์กรมองหาจากคนรุ่นใหม่คือ ความอดทนและความพร้อมที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลว เพราะตอนนี้คนรุ่นใหม่มักจะอยากประสบความสำเร็จเร็ว แต่ก่อนที่จะประสบความสำเร็จต้องผ่านความล้มเหลวไปก่อน ซึ่งหลายคนอาจอดทนไม่พอ ดังนั้นเด็กรุ่นใหม่จำเป็นต้องฝึกรับมือความล้มเหลว ยอมรับความผิดพลาด และลุกขึ้นลองอีกครั้ง