BIZ: รู้จักแนวคิด ‘Degrowth’ ที่ตั้งคำถาม ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ว่าโลกเรามีทรัพยากรพอ ให้โตไปได้เรื่อยๆ จริงหรือ?
นานมาแล้ว ในยุคที่ภาคธุรกิจยังไม่สนใจประเด็น ESG (Environment, Social, Governance) กันอย่างทุกวันนี้ แนวคิดที่เป็นกระแสหลักในสายสิ่งแวดล้อมก็คือแนวคิด ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ โดยมีการสู้กันแทบตายจนแนวคิดนี้ไปปรากฏในการประชุม Earth Summit ในปี 1992 โดยการผลักดันมาเรื่อยๆ ในปี 2015 ทางสหประชาชาติก็มีการยอมรับ ‘เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ในปี 2015 และก็ไม่น่าแปลกเลยที่หลังจากนั้นภาคธุรกิจต่างๆ จะหันมาสมาทานแนวคิด ESG
ทั้งหมดเป็นชัยชนะของสายเขียว สายรักษ์โลกทั้งหลาย ที่หลายคนคิดว่าถ้าภาคธุรกิจยอมรับเอาแนวทาง ‘การเติบโตอย่างยั่งยืน’ มาใช้ โลกจะอยู่ไปได้ยาวๆ
เว้นเสียแต่ว่า คนในสายสิ่งแวดล้อมจำนวนไม่น้อย เลิกเชื่อแนวคิดแบบนี้แล้ว และเชื่อกันว่า ‘การเติบโตอย่างยั่งยืน’ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และ ‘ทางรอด’ เดียวของโลกคือ ‘เราต้องหยุดโต’ เพราะโลกใบนี้รับการเติบโตต่อไปไม่ไหวอีกแล้ว
แนวคิดนี้มีชื่อว่า ‘Degrowth’ ถ้าเราเห็นนักกิจกรรม Gen Z เดือดๆ ไล่ประท้วงแบบถึงรากถึงโคน แนวโน้มคือพวกเขาสมาทานแนวคิดนี้
แนวคิดนี้มีรากฐานมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 โดยหลักๆ มันเกิดจากบทสนทนาของพวกนักปรัชญาฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งที่เริ่มคุยกันเมื่อเห็นพัฒนาการต่างๆ ของโลกแล้วเริ่มคิดว่า ‘โลกไม่มีทางเติบโตต่อไปได้ชั่วกัลปาวสาน’ ซึ่งทั้งหมดที่ว่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่โลกยังไม่ได้คุยกันเรื่อง ‘การพัฒนาอย่างยื่นยืน’ ด้วยซ้ำ
ไอเดียยุคแรก คือการเสนอความคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่การเติบโตทางวัตถุอย่างไม่จำกัด จะเป็นไปได้ในโลกที่มีวัตถุจำกัด ซึ่งต่อๆ มาก็มีการขยายแนวคิดนี้เป็นพวกโมเดลทางคณิตศาสตร์ มีการเอาเศรษฐศาสตร์มาจับ และเสนอแนวคิดนี้ให้แหลมคมขึ้น
ซึ่งแนวคิดนี้เป็น ‘ชายขอบ’ ตลอดแม้แต่ในโลกปรัชญา แต่มันเริ่มกลายมาเป็น ‘กระแสหลัก’ เมื่อคนทั่วไปเริ่มพูดถึง ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ในช่วงทศวรรษ 2000 เพราะพวกนี้จะมองอย่างถึงรากถึงโคนไปอีกขั้นว่า ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ เป็นไปไม่ได้ โลกมีทรัพยากรจำกัด การพัฒนาไม่จำกัดเป็นไม่ได้ในทางทฤษฎี และสุดท้ายคือเราต้องเรียนรู้จะ ‘หยุดเติบโต’
แน่นอน แนวคิดแบบนี้ตอนแรกไม่มีใครสนใจ แต่สุดท้าย เมื่อทุกคนเริ่ม ‘เชื่อ’ ว่า ‘ภาวะโลกรวน’ คือสิ่งที่มีจริงๆ และถ้าเราหยุดมันไม่ได้ ทุกชีวิตในโลกจะดับสูญไป นี่เลยทำให้แนวคิด Degrowth กลับมาเป็นที่สนใจ ด้วยคำถามง่ายๆ แบบที่นักฝรั่งเศสยุคแรกถามว่า “เราจะโตไปได้แบบนี้เรื่อยๆ จริงหรือ?”
ซึ่งพอถามแบบนี้ แน่นอนว่ามีคำตอบ และคำตอบมาเป็นหนังสือเป็นเล่มๆ แต่เอาสั้นๆ คือเขาก็จะอธิบายง่ายๆ ด้วยการคำนวณทรัพยากรที่มนุษย์ทุกวันนี้ใช้ว่าปีนี้ ‘เราได้ใช้ทรัพยากรเกินกำลังผลิตซ้ำของโลกต่อปี’ ไปตั้งแต่วันไหนเดือนไหน? ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า Earth Overshoot Day โดยถ้าจะสรุปง่ายๆ ก็คือเราใช้ทรัพยากรหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2024 มนุษย์เราใช้ทรัพยากรในโลกเกินกำลังผลิตซ้ำไปตั้งแต่ 1 สิงหาคม หรือพูดอีกแบบคือ การใช้ทรัพยากรใดๆ หลังจากนั้นมันไม่มีทาง ‘ยั่งยืน’ ได้ เพราะโลกผลิตไม่ไหว
ดังนั้น ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ณ ตรงนี้ คือเป็นไปไม่ได้แล้ว มนุษย์เราใช้ทรัพยากรเกินกำลังการผลิตซ้ำของโลกไปเรียบร้อย และสิ่งที่เกิดคือ ชั้นบรรยากาศเราเป็นรูจนโลกร้อนขึ้น มลพิษเราเพิ่มขึ้นทุกปี ขยะเราล้นแผ่นดินลงไปทะเล ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ แก้ได้ด้วยการ ‘ผลิตให้น้อยลง บริโภคให้น้อยลง’ และนี่คือ ‘แก่นความคิด’ ของ Degrowth ที่ไม่ได้คุยกันในเรื่องว่าเราจะ ‘โต’ ได้อย่างไรแล้ว แต่คิดว่าจะ ‘อยู่กันอย่างไรในการบริโภคน้อยลงให้โลกรับไหว’
ความน่าสนใจคือแนวคิดพวกนี้เป็นแนวคิดที่โจมตี ‘วิถีชีวิตแบบประเทศพัฒนาแล้ว’ โดยเขามองว่าคุณภาพชีวิตทั้งหมดของประเทศตะวันตกมันก็อาจดูดี แต่เราไม่มีทางจะมีทรัพยากรบนโลกพอให้ทุกคนบนโลกมีคุณภาพชีวิตขนาดนั้น โดยเขาคำนวณออกมาได้ด้วยซ้ำว่า ถ้าคนทั้งโลกอยากมีคุณภาพชีวิตแบบคนสวีเดน เราจะต้องการทรัพยากรจากโลกอีก 3 ใบ ไม่งั้นเป็นไปไม่ได้ ในขณะเดียวกัน เขาก็จะเห็นว่าจริงๆ แล้ววิถีชีวิตที่ใช้ทรัพยากรน้อยแบบประเทศแอฟริกาอย่างมาลี จริงๆ มันพอดีกับทรัพยากรบนโลกมากกว่า
และพูดง่ายๆ ก็คือ เป้าของการเปลี่ยนแปลงโลกให้สมเหตุสมผลกับทรัพยากรบนโลก มันไม่ใช่การพยายามพัฒนาให้ มาลี ‘เติบโต’ กลายเป็นสวีเดน แต่คือการทำให้สวีเดน ‘เติบโตถอยหลัง’ กลายเป็นมาลีต่างหาก
โดยแนวคิดในภาคปฏิบัติคือ การเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วลดการบริโภค โลกคุณภาพชีวิตลงหนักๆ เพราะปัญหาโลกปัจจุบันจากมุมพวกนี้ไม่ใช่ประเทศโลกที่สามไม่พัฒนา แต่เป็นการที่ประเทศโลกที่หนึ่งพัฒนามากเกินไป และเคยชินกับคุณภาพชีวิตในระดับที่ไม่สมเหตุสมผลกับทรัพยากรบนโลกใบนี้
และถ้าเข้าใจแนวคิดพวกนี้ เราก็จะเข้าใจว่าสิ่งที่นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ในโลกตะวันตกยุคนี้ต้องการ คือเขาไม่ได้ต้องการ ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ อีกแล้ว แต่เขาเรียกร้องให้มีการลดคุณภาพชีวิตอย่างเป็นระบบ เพื่อประหยัดทรัพยากรโลก เพื่อให้โลกคงอยู่ต่อไปได้
สุดท้าย ก่อนจะรู้สึกว่าแนวคิดนี้ก็ดี ไปเรียกร้องให้ประเทศที่ ‘คุณภาพชีวิตสูงเกินไป’ ลดคุณภาพชีวิตลง เพราะชาติที่ ‘คุณภาพชีวิตต่ำเกินไป’ อย่างไทย ก็น่าจะไม่ได้รับผลกระทบอะไร ก็จงช้าก่อน
เพราะที่เขาคำนวณมา แม้แต่ประเทศที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่อย่างไทย เรายังมี ‘คุณภาพชีวิตสูงเกิดศักยภาพโลก’ เลย โดยแค่ให้ทุกคนในโลกมีคุณภาพชีวิตเท่าคนไทย เราก็ต้องการโลกอีกครึ่งใบแล้ว และถ้าจะให้ดูเพื่อนบ้านที่คุณภาพชีวิตสอดคล้องกับศักยภาพของโลก ก็ต้องดูเขมร นั่นแหละระดับคุณภาพชีวิตที่โลกรับไหว
แน่นอน สิ่งเหล่านี้มันฟังดูขัดหูไปหมด แต่มันคือสิ่งที่คนสมาทานแนวคิด Degrowth เชื่อและเคลื่อนไหวอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรอีกที่แนวคิดที่ฟังดู ‘สุดขั้ว’ แบบนี้พวกภาคธุรกิจไปจนถึงพรรคการเมืองต่างๆ จะไม่ ‘ซื้อ’ และเอาไปเป็นนโยบายของตัวเอง