แบงก์ชาติประเมิน ‘ภาษีทรัมป์’ จ่อกระทบเศรษฐกิจยาวและรุนแรงระดับโครงสร้าง ฉุด GDP ไทยระยะต่อไปแผ่ว-โตต่ำกว่าศักยภาพ
แบงก์ชาติประเมิน ‘ภาษีทรัมป์’ จ่อกระทบเศรษฐกิจไทยในลักษณะทอดยาวและรุนแรงถึงระดับโครงสร้าง เตือนไม่ว่าไทยโดนภาษีที่เท่าไร 18% หรือ 36% เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังก็จ่อแผ่ว โตต่ำกว่าระดับศักยภาพ
วันนี้ (9 กรกฎาคม) สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 2 ปี 2568 โดยเตือนว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 และในปี 2569 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง เนื่องจากการส่งออกสินค้าจะได้รับผลกระทบจาก ‘นโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ’ มากขึ้น หลังการเร่งส่งออกสินค้าหมดไป ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ตามแนวโน้มรายได้และความเชื่อมั่นที่ลดลง
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลงเหลือเพียง 1.6% YoY จากครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 2.9% YoY ทำให้คาดการณ์ว่า ทั้งปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.3% ก่อนที่จะแผ่วลงอีกเหลือโตเพียง 1.7% ในปี 2569
ขณะที่รายงานนโยบายการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2568 ระบุอีกว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยโดยรวมเบ้ไปทางด้านต่ำ ได้แก่ สงครามทางการค้า (Trade war) และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงกว่าคาด ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจโลกและไทยชะลอตัว ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ และความตึงตัวของสินเชื่อในบางจุดที่อาจกระทบกลุ่มเปราะบางและ SMEs มากกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านสูงคือ การส่งออกกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจสูงกว่าคาด
‘ภาษีทรัมป์’ กระทบเศรษฐกิจทอดยาว รุนแรงถึงระดับโครงสร้าง
โดยปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อธิบายเพิ่มเติมว่า ช็อกจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ (Tariff) แตกต่างจากช็อกที่เกิดในช่วงโควิดและช่วง Global Financial Crisis (GFC) เมื่อปี 2551
โดยช็อกที่เกิดในช่วงโควิดและ GFC มีลักษณะรุนแรงและกะทันหัน แต่ช็อกที่เกิดขึ้นจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ มีลักษณะเป็นผลกระทบที่ใหญ่ ทอดยาว และรุนแรงถึงระดับโครงสร้าง
“Shock เรื่อง Tariff มีผลระยะยาวมากกว่า ทำให้โครงสร้างการค้าโลกต้องเปลี่ยน ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ต้องเปลี่ยน ต้องมีการปรับตัว และหาตลาดใหม่ ทำให้ตอนนี้ ทุกประเทศต้องพูดถึงเรื่องการปรับโครงสร้าง (Restructuring)” ปิติกล่าว
ไม่ว่าไทยโดนภาษีที่เท่าไร 18% หรือ 36% เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังก็แผ่ว
ปิติ กล่าวอีกว่า ในประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ของธปท. ภายใต้สมมติฐานว่าไทยโดนภาษีในอัตรา 18% มีความครอบคลุมแล้ว (Robust) ส่วนฉากทัศน์ (Scenario) อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบไปจากเส้นกลางนี้ ทิศทางโดยรวมก็ยังเหมือนกัน คือ ครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป เศรษฐกิจไทยจะแผ่วลงค่อนข้างมาก และโตต่ำกว่าศักยภาพ เนื่องจาก Shock จากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ มีลักษณะทอดยาว
ปิติ อธิบายอีกว่า ปัจจุบันในตะกร้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ มีโดน Sectoral Tariff ในสัดส่วนราว 40% เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน ส่วนภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ซึ่งไทยมีความเสี่ยงที่จะเสียเปรียบได้เปรียบกับประเทศอื่น ครอบคลุม 60% สินค้าในตะกร้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ