‘สุดาวรรณ’ สั่ง สสน.-GISTDA ตั้งวอร์รูมแจ้งเตือนภัย
'สุดาวรรณ' สั่งการให้ทุกหน่วยงาน อว.เร่งช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน'วิภา' ให้ สสน. – GISTDA ตั้งวอร์รูมแจ้งเตือนภัย24 ชม. ชี้ต้องแม่นยำ ส่งข้อมูลทันท่วงที เตรียมพร้อมทุกพื้นที่ สื่อสารทั่วถึง
23 ก.ค.2568 น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประชาชนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคอื่นๆ กำลังได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “วิภา” ซึ่งทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก และมีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ตนในนามของรัฐบาลและกระทรวง อว. มีความห่วงใยต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานของกระทรวง อว.เตรียมความพร้อมและเร่งช่วยเหลือประชาชนโดยด่วน โดยให้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ยกระดับการทำงานเป็น “ศูนย์บัญชาการและวิเคราะห์สถานการณ์ (War Room) ตลอด 24 ชั่วโมง ใช้ระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เทคโนโลยีโทรมาตรอัตโนมัติ และข้อมูลจากดาวเทียม วิเคราะห์ คาดการณ์ และชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงให้มีความแม่นยำและรวดเร็วที่สุด พร้อมทั้งรายงานสถานการณ์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องทั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมชลประทาน ศูนย์บัญชาการของทางจังหวัด รวมทั้ง เครือข่าย อว. ส่วนหน้า ซึ่งเป็นหน่วยบัญชาการเชิงพื้นที่ เพื่อเตือนภัย วางแผนอพยพ การระบายน้ำและการให้ความช่วยเหลือภาคพื้นดิน เป็นไปอย่างเอกภาพและมีประสิทธิภาพสูงสุด
รมว.กระทรวง อว.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ให้เครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ สนับสนุนจังหวัดและชุมชน พร้อมเตรียมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ อาสาสมัครและใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวหรือศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือ หากได้รับการร้องขอและให้สำนักงานปลัดกระทรวง อว.และ สสน.ร่วมกับทุกหน่วยงานในกระทรวง อว.เผยแพร่ข้อมูล “รายงานสถานการณ์น้ำประจำวัน” ลงเผยในช่องทางการสื่อสารต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เข้าถึงคนได้ทุกวัยและเชื่อถือได้ เช่น เว็บไซต์ www.thaiwater.net แอปพลิเคชัน ThaiWater กลุ่มไลน์เครือข่าย อว.ในพื้นที่ทุกจังหวัด เครือข่ายชุมชนของ สสน. ทั่วทุกภูมิภาค
น.ส.สุดาวรรณ กล่าวอีกว่า กรณีเกิดภัยพิบัติให้ระดมเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย เช่น โดรนปฏิบัติภารกิจสำรวจและลำเลียงสิ่งของไปมอบให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก เรือไวไฟ (WiFi) เข้าไปให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ บ้านสำเร็จรูป ที่นอนยางพารา เครื่องกรองน้ำไส้กรองนาโนแบบเคลื่อนที่และถุงยังชีพที่มีอาหารนวัตกรรมพร้อมทานโดยไม่ต้องอุ่น ยาและของใช้ที่จำเป็นไปมอบให้ผู้ประสบภัย เป็นต้น
“หัวใจสำคัญคือต้องชี้เป้าแม่นยำ ส่งข้อมูลทันท่วงที เตรียมพร้อมทุกพื้นที่ สื่อสารทั่วถึง และระดมเทคโนโลยีเข้าช่วย กระทรวง อว.มีความพร้อมที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน เพราะสถานการณ์น้ำท่วมนั้นถือว่าหนักหนาสาหัส ในฐานะที่ดิฉันเกิดและเติบโตที่ต่างจังหวัด ทราบดีว่าความทุกข์ยากของประชาชนหนักหนาสาหัสเพียงใด วันนี้ดิฉันได้เข้ามาทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนจะขอทำหน้าที่ดูแลประชาชนเพื่อให้พวกเขามั่นใจได้ว่ากระทรวง อว.จะอยู่เคียงข้างพวกเขาในทุกวิกฤต” น.ส.สุดาวรรณ กล่าว
ด้าน ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อน “วิภา” มีแนวโน้มอ่อนกำลังลง จากนั้นจะเคลื่อนตัวตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ส่งผลให้ช่วงในช่วงวันที่ 23 - 24 ก.ค.นี้ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก รวมถึงลมกระโชกแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขณะที่คลื่นลมในทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนจะสูง 2–3 เมตร อาจมากกว่า 3 เมตรในบางจุด ปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมง ประเทศไทยมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางกระจายตัวทั่วทุกภูมิภาค โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณจังหวัดน่าน 90 มิลลิเมตร เชียงใหม่ 85 มิลลิเมตร พิษณุโลก 75 มิลลิเมตร นครพนม 72 มิลลิเมตร เชียงราย 66 มิลลิเมตร ระนอง 62 มิลลิเมตร ตาก 61 มิลลิเมตร พิจิตร 53 มิลลิเมตร พะเยา 50 มิลลิเมตร บึงกาฬ 43 มิลลิเมตร ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลัก มีน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำอิง จ.พะเยา ห้วยหลวง จ.อุดรธานี ลำน้ำอูน จ.สกลนคร และลำน้ำก่ำ จ.นครพนม
“ ช่วงวันที่ 25 - 28 ก.ค.ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคเหนือตอนบนประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ยังคงมีกำลังแรง ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากได้ในบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนบนและภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้มีฝนต่อเนื่องและอาจมีฝนตกหนักได้ในบางแห่ง โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก” ผอ.สสน.กล่าว
ดร.รอยบุญ กล่าวต่อว่า สำหรับการคาดการณ์ฝนในเดือน ส.ค.และ ก.ย.2568 จากการวิเคราะห์ร่วมกันระหว่าง สสน.และกรมอุตุนิยมวิทยา โดยใช้แผนที่ One Map พบว่าประเทศไทยจะมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติ ร้อยละ 9 และ 4 ตามลำดับ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะประสบภาวะฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ อย่างไรก็ตาม หลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแนวโน้มปริมาณฝนตกมากกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา น่าน หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม