ปริญญา มองการเมืองไทยไม่ถึงทางตัน รัฐบาลเสี่ยงล้มชนวนมาตรา144
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการคมชัดลึก ในหัวข้อ ผ่าทางตัน ว่า การเมืองไทยยังไม่ถึง "ทางตัน"โดยแท้จริง หากเทียบกับวิกฤตปี 2549 หรือ 2557 ทว่ากลับมีผู้หวังใช้จังหวะสร้างสถานการณ์ เพื่อช่วงชิงอำนาจ และหากปล่อยให้สถานการณ์ไหลไปสู่จุดอันตราย ก็อาจมีจุดจบที่ "รัฐประหาร" ได้ไม่ต่างจากอดีต
นายปริญญา ย้ำว่าในระบบรัฐสภายังมีทางออกเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการปรับคณะรัฐมนตรี การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี การที่นายกรัฐมนตรีลาออก หรือการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ก่อนครบวาระ แต่ปัญหาแท้จริงคือมี "คนหวังเพื่อไปสู่อำนาจทางการเมืองบางอย่าง" ทำให้สถานการณ์ถูกผลักดันไปในทิศทางที่ไม่พึงประสงค์
นายปริญญาชี้ว่า ปัจจุบันพรรคเพื่อไทยยังไม่เลือกทาง "ยุบสภา" เหมือนสมัยไทยรักไทย หรือเพื่อไทยในอดีตสมัยทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นแกนนำ เหตุผลสำคัญคือ "กลัวว่าเลือกตั้งใหม่แล้วไม่สำเร็จ" เนื่องจากมีปัจจัยเปรียบเทียบหลายด้าน นอกจากนี้ นายปริญญาแสดงความห่วงใยเป็นพิเศษต่อสถานการณ์ที่มีการหยิบยก รัฐธรรมนูญ มาตรา 5 ขึ้นมาพูดถึง ซึ่งอาจนำไปสู่การตีความที่อยู่นอกเหนือกลไกปกติ
สำหรับเหตุผลที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังไม่เลือกทางยุบสภา อาจเป็นเพราะต้องการหาคะแนนเสียงกับประชาชน และผลักดันการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2569 ให้สำเร็จ หรืออาจต้องการทำบัญชีโยกย้ายข้าราชการท้องถิ่นให้แล้วเสร็จ ซึ่งจะล่วงเลยไปหลังเดือนกันยายน
ประเด็นที่น่าจับตาคือคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อการถอดถอนนักการเมือง โดยล่าสุดคดี "คลิปเสียง" ของ น.ส.แพทองธาร กำลังถูกพิจารณา และหลายฝ่ายมองว่า "รอดยาก" หากศาลมีคำสั่งถอดถอน อาจเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ที่ถูกถอดถอนโดยศาลรัฐธรรมนูญ
นายปริญญาประเมินว่า หากสถานการณ์บีบจน น.ส.แพทองธาร "ไม่รอดแน่" นายทักษิณ ชินวัตร อาจ "กระซิบ" ให้มีการยุบสภา เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง หรือชิงลาออกก่อน (เหมือนกรณี นายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่ลาออกก่อนศาลตัดสิน) เพื่อตัดประเด็นต้นเรื่องให้หมดไป
นายปริญญามองว่าการเลือกลาออกอาจเป็น "ไพ่ที่อยู่ในมือ" และอาจเกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการพิจารณาคดีคลิปเสียงอาจจะลากยาวไปถึงปลายสิงหาคม หรือต้นกันยายน นอกจากนี้ ยังมีคดีของนายทักษิณ ชินวัตร ทั้งคดีชั้น 14 และคดีมาตรา 112 ที่จะมีการพิจารณาด้วย ซึ่งอาจต้อง "ชิงลงมือ" ในจังหวะที่เหมาะสมกว่า
นายปริญญาชี้ถึงสถานการณ์ที่อาจไม่มีนายกรัฐมนตรีได้จากประเด็นการร้องว่ารัฐบาลทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ว่าด้วยการยุ่งเกี่ยวกับงบประมาณ โดยเฉพาะกรณีการนำเงินของสถาบันการเงินมาใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เงินดิจิทัล 10,000 บาท) ซึ่งมีบทบัญญัติว่าหากคณะรัฐมนตรีรู้การกระทำและยังดำเนินการต่อ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และมองว่ามาตรา 144 อาจไม่ทำให้ ครม. พ้นไปทั้งคณะ แต่หากพบว่า "จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติ" ย่อมมีความผิด
นายปริญญาปิดท้ายว่า "การเมืองไม่มีทางตัน" หากนายกรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งหรือลาออก กลไกการเลือกนายกรัฐมนตรีก็ยังสามารถเดินหน้าได้ตามปกติ แต่จุดที่จะเกิด "ทางตัน" แท้จริงคือ หาก "ผู้รักษาการนายกฯ" ไม่มีอำนาจยุบสภาฯ และเห็นด้วยกับความเห็นของกฤษฎีกาที่ว่าผู้รักษาการนายกฯ ไม่มีอำนาจยุบสภาฯ เพราะอำนาจนี้เป็นของนายกฯ ซึ่งเป็นบุคคลที่ประชาชนเลือกผ่าน ส.ส.
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวเป็นกรณีปกติ ไม่เหมือนกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดทางตันได้ เพราะคือการสั่งห้ามไม่ให้นายกฯ ใช้อำนาจยุบสภา
"สังคมต้องพยายามช่วยกันไม่ให้การเมืองไทยถูกผลักไปถึงจุดที่เป็นทางตัน เพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์รัฐประหารซ้ำรอยอีกครั้ง"
-ที่มา ประกอบเนื้อหา รายการคมชัดลึก