ฟอสซิลไดโนเสาร์ยังคงอยู่ให้เห็นได้อย่างไร? แม้เหล่ากิ้งก่ายักษ์จะสูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อหลายล้านปีก่อน
“ฟอสซิลไดโนเสาร์” เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าในยุคดึกดำบรรพ์หลายล้านปีก่อน “ไดโนเสาร์” ได้มีชีวิตอยู่บนโลกของเราจริง และฟอสซิลไดโนเสาร์ยังถือเป็นพื้นฐานของจินตนาการและการคาดเดารูปลักษณ์และลักษณะการใช้ชีวิตของเหล่ากิ้งก่ายักษ์ชนิดต่างๆ เมื่อครั้งยังมีชีวิต
“ไดโนเสาร์” เป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งที่เคยอาศัยอยู่บนโลกของเราและสูญพันธุ์ไปเมื่อหลายล้านปีมาแล้วในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องฟอสซิล ได้ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์มานานแล้ว หลังจากฟอสซิลของสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่ได้ค้นพบกันมานานเป็นที่รู้จักแพร่หลาย จึงได้มีการตั้งชื่อไดโนเสาร์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1841 ในการประชุมของสมาคมวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าในประเทศอังกฤษ โดย ศาสตราจารย์ริชาร์ด โอเวน (Richard Owen)
คำว่า “ไดโนเสาร์” (dinosaur) มาจากภาษากรีก โดยคำว่า ”ไดโน” (deinos) แปลว่าน่ากลัวมาก และ ”ซอรอส” หมายถึงสัตว์เลื้อยคลาน
แม้ว่าเหล่ากิ้งก่ายักษ์จะสูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อหลายล้านปีก่อน แต่ปัจจุบันก็ยังมีการค้นพบฟอสซิลของไดโนเสาร์อยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเราเองก็ยังมีการค้นพบด้วยเช่นกัน และคำถามที่มักจะพบบ่อยคือ การที่เหล่าสัตว์เลื้อยคลานยักษ์ได้สูญพันธุ์ไปเมื่อหลายสิบล้านปีก่อน แต่ทำไมฟอสซิลของสัตว์เหล่านี้ยังคงอยู่
อ่าน :ปักหมุด 5 พิกัด ตะลุยดินแดนไดโนเสาร์ ตามรอยหนัง “Jurassic World”
นักธรณีวิทยาได้อธิบายว่า เมื่อไดโนเสาร์ตาย ส่วนอ่อนๆ เช่น เนื้อและหนังจะเน่าเปื่อยหลุดไป แต่ส่วนที่แข็ง เช่น กระดูก - ฟัน จะถูกโคลนและทรายทับถมเอาไว้ กระบวนการทางธรรมชาตินี้ ถูกเรียกว่ากระบวนการ Permineralization หรือการแทนที่ของเซลล์ต่างๆ ด้วยแร่ธาตุจนกลายสภาพเป็นก้อนหินที่คงรูปร่างของสิ่งมีชีวิตและถ้าการทับถมของโคลนทรายเกิดขึ้นอย่าวรวดเร็วก็จะคงเรียงรายต่อกันในตำแหน่งที่มันเคยอยู่เป็นโครงร่าง แต่หากการทับถมเกิดขึ้นอย่าง ช้าๆ กระดูกก็จะมีโอกาสถูกทำให้กระจัดกระจายปะปนกัน
การทับถมของโคลนทรายทำให้อากาศและออกซิเจนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของแบคทีเรียไม่สามารถเข้าถึง ซากได้ ขณะเดียวกันน้ำและโคลนที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลไซต์ เหล็กซัลไฟด์และซิลิก้า จะค่อยๆ ซึมเข้าไปในเนื้อกระดูก อุดตันโพรงและช่องว่างที่มีอยู่ ทำให้กระดูกเหล่านั้นแกร่งขึ้น สามารถรับน้ำหนักของหิน ดิน ทรายที่ทับถมต่อมาภายหลังได้ เมื่อเวลาผ่านไปกระดูกจะกลายเป็นหิน ซึ่งในส่วนของฟันจะยังคงรูปลักษณ์เดิมมากว่ากระดูกเนื่องจากฟันเป็นส่วนที่แข็งที่สุด จากกระบวนการทางธรรมชาติที่น่ามหัศจรรย์นี้ จึงทำให้เราได้เห็นฟอสซิลของไดโนเสาร์ในปัจจุบัน แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานนับหลายสิบล้านปีก็ตาม
และเนื่องจากไดโนเสาร์ส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ในช่วงยุค Triassic ถึง Cretaceous หรือประมาณ 245 - 65 ล้านปีก่อน ฟอสซิลของไดโนเสาร์จึงถูกพบอยู่ในชั้นหินตะกอนที่สะสมตัวบนบกในช่วงยุค Triassic ถึง Cretaceous ซึ่งเป็นช่วงเวลาทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า มหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ยุคกลางของสัตว์เลื้อยคลาน"
ฟอสซิลไดโนเสาร์ที่พบในปัจจุบันเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวสภาพแวดล้อมของโลกในอดีตของโลก และยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาและทำความเข้าใจให้ได้ทราบถึงชนิดรูปลักษณ์และวิวัฒนาการในช่วงระยะเวลาที่ไดโนเสาร์ยังมีชีวิตอยู่อีกด้วย
ข้อมูล - รูปอ้างอิง
- - - - - - - - - - - - - - -
- dmr.go.th (กรมทรัพยากรธรณี)
- theprincipia.co (dinosaur fossil)
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO