ลำดับเหตุการณ์ ‘คดีชั้น 14’ จากเรือนจำกรุงเทพฯ ถึงรพ.ตำรวจ
ศาลฎีกาฯ ไต่สวนบุคลากรการแพทย์ คดีชั้น 14 จากเรือนจำกรุงเทพฯ ถึง รพ.ตำรวจ – สั่งสื่องดเผยแพร่คำเบิกความทั้งพยานบุคคล-พยานเอกสาร
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 เวลา 9.00 น. ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดไต่สวนการบังคับโทษจำคุกนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ฯ ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 ,อม.5/2551 และ อม.10/2552 หรือ “คดีชั้น 14” หรือไม่ ซึ่งในวันนี้อัยการสูงสุด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทก์ รวมทั้งทนายจำเลยมาศาล ส่วนจำเลยได้รับอนุญาตจากศาล ไม่มาฟังการพิจารณา
ในวันนี้ ศาลได้ไต่สวนกลุ่มบุคลากรการแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ รวม 5 ปาก อาทิ แพทย์หญิงรวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่ตรวจร่างกายนายทักษิณ นายแพทย์นทพร ปิยะสิน แพทย์เวรทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ , นายธัญพิสิษฐ์ ขบวน พยาบาลเวร เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เป็นต้น โดยศาลได้นัดไต่สวนอีกครั้ง ตามกำหนดการเดิมคือวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 เวลา 9.00 น.
อนึ่ง มีการนำข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของพยาน ซึ่งศาลไต่สวนในนัดก่อนออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนในลักษณะคำต่อคำผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ซึ่งอาจทำให้พยานบุคคลที่จะมาเบิกความในลำดับถัดไปทราบข้อเท็จจริงที่พยานคนก่อนได้เบิกความไว้ และอาจทำให้ศาลไต่สวนแล้วได้ข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมถึงอาจมีการนำคำเบิกความของพยานดังกล่าวไปวิเคราะห์หรือให้ความเห็นในทางคดี จนก่อให้เกิดความสับสนแก่สังคมได้ ประกอบกับข้อมูลด้านสุขภาพของจำเลยเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ศาลให้คู่ความ และผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีงดเว้นการเผยแพร่โฆษณาคำเบิกความพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ศาลไต่สวน
สำหรับการไต่สวนในวันนี้ได้มีการลำดับเหตการณ์ตั้งแต่นายทักษิณ ชินวัตร เข้ารับการตรวจร่างกายในฐานะผู้ต้องขังรายใหม่ โดยมีแพทย์ประจำทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นผู้ตรวจ ซึ่งมีการนำเอกสารเวชระเบียนจากประเทศสิงคโปร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรต มาประกอบกับการวินิจฉัยอาการป่วยของนายทักษิณ รวมทั้งได้ให้ความเห็นว่า อาการป่วยของนายทักษิณเกินศักยภาพการรักษาของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่ง ณ ขณะตรวจนั้นยังไม่เกิดภาวะฉุกเฉิน แต่แพทย์ได้เขียนใบส่งตัวไว้ล่วงหน้า เพื่อเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายนอกภายในเวลาราชการ ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติของแพทย์คนดังกล่าว จึงได้มอบพยานหลักฐานใบส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2568 ให้ศาลไว้พิจารณา
จากนั้นเวลาประมาณ 22.00 น. แพทย์คนดังกล่าว ได้รับการติดต่อทางไลน์จากพยาบาลเวรประจำ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ว่า ขออนุญาตใช้ใบส่งตัวล่วงหน้าที่แพทย์ได้เซ็นไว้ล่วงหน้า โดยพยาบาลได้เล่าอาการผู้ป่วยว่า ณ ขณะนั้นอยู่ในภาวะวิกฤติ จำเป็นต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ
ถัดมาเป็นแพทย์เวรซึ่งประจำโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ขณะเกิดเหตุตั้งแต่เวลา 22.00 น. ได้รับสายโทรศัพท์จากพยาบาลเวร โดยแจ้งอาการป่วยของนายทักษิณว่าเข้าข่ายวิกฤติ แพทย์เวรจึงให้ความเห็นว่าไม่ควรเฝ้ารักษาตัวในเรือนจำต่อ ควรส่งตัวต่อไปโรงพยาบาลเครือข่าย
ส่วนพยาบาลเวร ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานพยาบาลให้ติดตามอาการนายทักษิณอย่างใกล้ชิดทุก 4 ชั่วโมง โดยเวลา 22.00 น. นายทักษิณแจ้งว่ามีอาการป่วยหนัก พยาบาลเวรจึงโทรศัพท์ไปหาแพทย์เวรประจำโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งห่างจากสถานพยาบาลในเรือนจำฯ ราว 200 เมตร แพทย์เวรจึงแนะนำให้ติดต่อขออนุญาตใช้ใบส่งตัวจากแพทย์ที่เตรียมไว้ล่วงหน้า
จากนั้นพยาบาลเวรจึงประสานไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่เวลา 22.00 – 00.00 น.ระหว่างนี้ได้ให้ออกซิเจนในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเบื้องต้น จนกระทั่งได้รับการอนุมัติการส่งตัวจากโรงพยาบาลตำรวจ จึงเคลื่อนย้ายนายทักษิณจากห้องกักโรคชั้นสองมายังรถพยาบาลเพื่อส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ โดยใช้เวลาเดินทาง 20 นาที
เมื่อถึงโรงพยาบาลตำรวจ พยาบาลเวรได้รับมอบหมายให้ทำเวชระเบียนของนายทักษิณกับโรงพยาบาลตำรวจ โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมอบหมายให้พยาบาลเวรนำใบเวชระเบียนขึ้นไปส่งที่ห้องพยาบาล (nurse station) ชั้น 14 ซึ่งพยาบาลเวรเข้าใจว่านายทักษิณอยู่ในห้องพักชั้น 14 แล้ว