“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ชี้ประเทศไทยไม่ง่อนแง่น แต่ ‘ติดหล่มลึก-ไม่เปลี่ยนแปลง’ เผชิญภาวะถดถอยแบบรอบด้าน
วิกฤติศรัทธาที่เสื่อมถอยลงเรื่อยๆจากการเพิกเฉย/ละเลย ไม่ปฏิบัติตาม Rule of Law เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำลงเรื่อยๆ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าในปีนี้ประเทศไทยโตร้อยละ 1.6 ต่ำสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ ‘ทุน’ ทั้งที่เป็นธรรมชาติและที่สร้างขึ้นมาอย่างฟุ่มเฟือย จน ‘ทุน’ ที่ดีร่อยหรอ ขีดความสามารถในการแข่งขัน ศักยภาพของประเทศลดลงไปเรื่อยๆ จึงมีคำถามว่า ถ้าประเทศไทยต้องรอด เราจะร่วมกันฟื้นฟูอย่างไร
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองสถานการณ์ประเทศไทยว่าสิ่งที่ทุกคนค่อนข้างตื่นตัวกันมากขณะนี้ คือการยอมรับว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ถือเป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกความเข้มแข็ง และขีดความสามารถของประเทศได้ ตัวเลขนี้ลดลงมาโดยลำดับ ต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ไม่นับบางช่วงที่มีวิกฤติ เช่น โควิด แต่ในเชิงแนวโน้มลดลงมาต่อเนื่อง เมื่อก่อนการเติบโตร้อยละ 5 หรือร้อยละ 7 เป็นเรื่องปกติ แต่ปัจจุบัน ร้อยละ 1-3
เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของประเทศในอาเซียน เป็นการบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า เป็นปัจจัยจากภายนอกหรือเป็นปัจจัยจากโลกเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ใช่แล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเทียบว่าการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด เราเป็นประเทศที่ฟื้นตัวช้าที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ขณะเดียวกันผมเชื่อว่าทุกคน ไม่ว่าจะคนไทย คนต่างชาติ นักวิชาการ นักธุรกิจ ก็จะประเมินว่าอัตราการขยายตัวที่เป็นอยู่ ต่ำกว่าศักยภาพอย่างแน่นอน
ภาวะการถดถอยแบบนี้ สะท้อนให้เห็นว่าเรามีปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งหมายความว่าการจะหลุดพ้นจากสภาพแบบนี้ เราคงไม่สามารถที่จะคิดแค่เพียงมาตรการระยะสั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจ เราคงไม่สามารถแค่มีโครงการอะไรสักโครงการหนึ่ง แล้วก็จะพาเราออกไปจากภาวะแบบนี้ได้ ตรงกันข้ามน่าจะมีเรื่องยากๆ ที่เราจะต้องเผชิญกับมันโดยตรง
ถามว่าปัจจัยอะไรที่พาเรามาอยู่ตรงนี้ มันคงมีหลายปัจจัย 10 กว่าปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ซึ่งหมายถึงภาพโดยรวมของธุรกิจหรือเศรษฐกิจเปลี่ยนไป ตัวอย่างหนึ่ง ถ้าเราดู 10 อันดับบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์อย่างสหรัฐอเมริกา ชื่อเปลี่ยนไปเกือบหมด ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทั้งสิ้น
ขณะที่ 10 อันดับของไทยยังคงวนเวียนอยู่กับรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทที่อาจจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ถูกมองว่ามีลักษณะการผูกขาดหรือทำธุรกิจกับภาครัฐ บ่งบอกให้เห็นว่า เราไม่ได้ปรับตัวในเชิงของโครงสร้างธุรกิจและเศรษฐกิจไปกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
โลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาที่โลกทั้งโลกเผชิญอยู่ ประเทศไทยยังตามหลังในแง่ของเป้าหมายที่เรากำหนดไว้เอง แล้วก็การเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคพลังงานหรือภาคการเกษตร ที่ต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ก็ขยับได้ช้ากว่าเป้าหมายและช้ากว่าที่ควรจะเป็น เรายังมีปัญหาสังคมสูงวัย ซึ่งกระทบต่อทั้งเรื่องปริมาณแรงงาน ความจำเป็นที่จะต้องมีเงินออม กระทบต่อเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพ
อีกส่วนหนึ่งที่ต้องพูดด้วยก็คือโครงสร้างเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำมากขึ้น เราจะเห็นว่าในหลายครั้งกำลังซื้อของคนทั่วไปขาดหายไป ภาระของหนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูงมาก ถ้าเทียบกับบรรดาประเทศในระดับรายได้แบบเดียวกับเรา ก็เป็นตัวถ่วงที่ทำให้กำลังซื้อในภาพรวมของเศรษฐกิจหายไป
จะมีคำพูดอยู่เสมอว่าปัจจุบันการทำธุรกิจ ถ้าพึ่งตลาดคนรวยหรือพึ่งตลาดข้างนอกอาจจะง่ายกว่า ไม่นับในความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากนโยบายการค้าของรัฐบาลสหรัฐชุดใหม่
ในภาพรวมตรงนี้ผมคิดว่ามันคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า เรากำลังเผชิญกับภาวะที่ถดถอยแบบรอบด้าน เรากำลังอยู่ในภาวะการติดหล่ม สืบเนื่องมาจากความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลายอย่าง
‘ติดหล่ม’ คือการที่เราพึ่งพิงอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจเดิม จะไม่สามารถสร้างอัตราการเจริญเติบโตแบบที่เราต้องการได้ ถ้าหากว่าเรายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือปฏิรูปด้านสำคัญต่างๆ โอกาสที่จะได้เครื่องยนต์ใหม่ๆ ในการมาขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้าได้ก็จะยากเช่นเดียวกัน
ถ้าเราอยู่เฉยๆ ยังไงมันก็ไม่มีทางขึ้นมา ขณะเดียวกันผมก็ยังมีความมั่นใจว่า ปัจจัยพื้นฐานหลายอย่างหรืออาจจะเรียกว่าเป็น ’ทุน’ ที่เรามีอยู่หลายอย่าง ยังเป็นทุนที่อยู่ในสภาพที่ดีและพร้อมที่จะถูกนำมาใช้งานในการที่จะทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้
เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่การแก้ปัญหาที่ติดขัดอยู่ในเชิงโครงสร้างมากกว่าที่จะพาเราขึ้นมาจากหล่มตรงนี้ได้
‘ทุน’ที่ยังแข็งแกร่งอยู่มีอะไรบ้าง
ถ้าพูดในภาพรวมก็ต้องบอกว่า ‘ทุน’ ที่เรามีมาเหมือนกับเป็น ‘ทุน’ ที่มาโดยธรรมชาติ ยังมีอยู่ เช่น ภาคการเกษตร ความอุดมสมบูรณ์ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนหรือความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่โดยพื้นฐานประเทศไทยยังมีศักยภาพสูงมากในเรื่องของการผลิตอาหาร ส่งออกอาหาร มีความมั่นคงทางอาหารและสามารถที่จะเป็นครัวของภูมิภาคหรือของโลกได้ด้วย
ในภาคการเกษตร ถ้าเรามองในแง่ลบ เราจะบ่นว่า ทำไมผลิตภาพของเรามันต่ำ แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง ก็แปลว่าศักยภาพเรามีสูงมากในการที่จะเพิ่มมูลค่าตรงนี้ ทั้งในแง่ของการปรับปรุงตัวระบบการผลิต รวมไปจนถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านห่วงโซ่อุปทานที่ไปถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อีกหลายต่อหลายอย่าง
ยิ่งถ้าเราเอาโจทย์นี้มาบรรจบกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมซึ่งมันมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีทำการเกษตรของเราอยู่แล้ว ที่เอาเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อใช้ทรัพยากรน้อยลง เพื่อเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการที่จะป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและอื่นๆ ผมมองเห็นว่าเราสามารถที่จะเพิ่มมูลค่าในภาคการเกษตรได้มากมายมหาศาล จะเป็นการเกษตรแบบสมัยใหม่ อิงเทคโนโลยีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
อุปนิสัยใจคอของคนไทย ที่ได้รับการยอมรับว่า นำมาสู่การมีบริการที่ดีเลิศอันดับต้นๆ ของโลกก็ยังอยู่เหมือนเดิม จะเห็นว่าชาวต่างชาติ จะเป็นคนที่เกษียณ คนที่คิดมาทำงาน ถ้าพูดถึงเฉพาะในแง่ของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการได้รับการต้อนรับขับสู้ มีอาหารการกิน มีความสุข ประเทศไทยก็เป็นประเทศอันดับต้นๆ ในโลกที่เขาคิดถึง
ที่ตั้งของเรา แม้จะมีความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจ แต่ความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรายังอยู่ในสมการของการตัดสินใจของมหาอำนาจ
การที่เราเคยตัดสินใจตั้งแต่นานมาแล้วว่า เราเป็นเศรษฐกิจที่จะอิงอยู่กับเรื่องของกลไกตลาด ระบบเศรษฐกิจเสรี เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไปจนถึงการที่เราเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติและคนไทยเองก็พร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น แม้เราจะบ่นว่าเศรษฐกิจยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี แต่ถ้าดูการใช้เทคโนโลยีของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การใช้โซเชียลมีเดีย เราอยู่ในระดับต้นๆ โดยสภาพธรรมชาติของคนไทย ใจเปิดรับของใหม่ๆ และปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ‘ทุน’ เหล่านี้ผมว่ายังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม
รวมไปถึงสิ่งที่อาจจะบอกว่า ‘ทุน’ ที่ไม่ใช่ธรรมชาติ แต่เราได้สร้างขึ้นมาในอดีต ไม่ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันยังอยู่ในภาวะที่อาจจะต้องมีการปรับตัว แต่สามารถต่อยอดได้เพราะความเชื่อมั่นของนักลงทุนในแง่ท่าทีของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงการเป็นพื้นที่ปลอดภัยในภาวะที่มีความขัดแย้งกันรุนแรงระหว่างมหาอำนาจ ก็ยังเป็นตัวดึงดูดอยู่แม้ว่าจะมีปัญหาในเชิงโครงสร้างหรืออื่นๆ
ภาคบริการที่อาจจะต้องครอบคลุมไปถึงอีกหลายอุตสาหกรรม ซึ่งในอดีตเราอาจจะไม่ได้เปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาแข่งขันหรือมากระตุ้นให้เกิดขนาดที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคหรือเรื่องอื่นๆ แบบนี้เป็นต้น ไปจนถึงว่าเรายังมีหนทางในการที่จะเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว โดยไม่ได้คำนึงถึงแค่เพียงการดึงดูดคนหรือจำนวนคนที่เข้ามามากขึ้น แต่หมายถึงบริการที่มีระดับสูงขึ้นไปอีกและก็มีมูลค่าเพิ่มมากกว่าในปัจจุบัน
ผมคิดว่าจุดแข็งของเราอย่างหนึ่งในอดีตคือการที่เรามีความหลากหลาย ข้างต้นเราก็พูดถึงทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ แน่นอนภาคบริการน่าจะเติบโตได้อย่างค่อนข้างรวดเร็ว แต่อุตสาหกรรมกับเกษตรก็ยังโตได้ ผมไม่ได้มองว่าเราจำเป็นจะต้องมุ่งไปเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยลำพัง หรือทิ้งเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกไป เพียงแต่การปรับน้ำหนัก ปรับวิธีการในการส่งเสริมของแต่ละสาขาจะต้องมีการวางน้ำหนักให้เหมาะสมเท่านั้นเอง
ทุนที่ร่อยหรอ ปัญหาโครงสร้าง จะฟื้นฟูอย่างไร
ถ้ามองในเรื่องของ ‘ทุนที่ร่อยหรอ’ ส่วนใหญ่มันจะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ธรรมชาติ คือเรื่องของการวางระบบ ซึ่งเราเคยทำมาในอดีตแล้วอาจจะสูญเสีย ทอดทิ้งหรือปล่อยให้มันสึกหรอไป
ผมว่าตัวเลขที่จะฟ้องเรื่องเหล่านี้ได้ดีที่สุดคือ การจัดอันดับในเรื่องต่างๆ ที่ทางต่างประเทศเขาทำ จะเห็นว่าในระยะหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเสรีภาพ การเมืองเศรษฐกิจ ความเป็นประชาธิปไตย ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน บทบาทของสื่อ การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ อันดับของประเทศไทยตอนนี้ลดลงไปในทางลบค่อนข้างต่อเนื่อง และในบางเรื่องจากเดิม เราเคยอยู่ในอันดับต้นๆ ตอนนี้บางเรื่องเราอาจจะตกไปถึงเลข 3 หลักแล้วในโลกนี้
เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นตัวที่ผมบอกว่า ‘ทุนธรรมชาติ’ มันไม่ได้สึกหรอ แต่ระบบที่จะรองรับตัวนี้มันหายไป อย่างเช่น สมมติถ้าเราพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ก็ต้องบอกว่า 2 เรื่องหลักเวลาเขาจัดอันดับความพร้อมของประเทศไทย หรือดูอุปสรรคของประเทศไทยในเรื่องนี้ ผมว่ามันก็มี 2 เรื่องใหญ่ๆ
หนึ่ง ทักษะของคน การวิจัยและการศึกษา ถ้าไปเทียบเคียงกับตัวชี้วัดด้านการศึกษาอื่น มันชัดว่าไปในทิศทางเดียวกัน ระบบของเราไม่ได้ปรับปรุงปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้น และตรงนี้ก็มีความจำเป็นมาก เป็นเรื่องง่ายที่ทุกคนจะพูดอันนี้ แต่ว่าการกระทำจริงๆ มันต้องหมายถึงการปฏิรูปครั้งใหญ่จริงๆ ตั้งแต่กระบวนการเรียนรู้ การบริหารจัดการของระบบการศึกษาทั้งหมด
สอง ระบบของกฎหมาย กฎระเบียบ การกำกับดูแลต่างๆ มีประเด็นตั้งแต่กฎระเบียบที่ล้าสมัย ไปจนถึงการบังคับใช้กฎหมายและกฎที่นับวันได้รับความเชื่อถือน้อยลง จะเห็นว่าหลายครั้งการพูดถึงการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ถ้าเราไปถามบรรดานักธุรกิจ 2 เรื่องแรกที่เขาจะพูดเกือบจะเสียงเดียวกัน 1. ทำอย่างไรให้กฎหมายชัดเจน มั่นใจได้ว่าการปฏิบัติจะเป็นอย่างนี้ แข่งขันเป็นธรรม กับ2.ทักษะของคน ถ้าไม่มี ขอเขานำเข้าได้ไหมหรือขอเขามีโอกาสในการที่จะฝึกฝน หรือเข้าไปสู่โครงการความร่วมมือที่จะให้เขามั่นใจว่าคนที่จะมาทำงานมีทักษะที่ตรงกับที่เขาต้องการ
แต่ในภาพรวมตรงนี้ก็หลีกหนีไม่พ้นที่จะพูดถึงภาพของการเมืองที่มันถดถอยไป ภาพของปัญหาการผูกขาดในเศรษฐกิจกับการผูกขาดทางการเมือง มาทาบกันแล้ว จะทำให้มันออกจากภาวะแบบนี้ไม่ได้เลยหรือเปล่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือการมองหาเรื่องของภาวะผู้นำ แล้วก็เจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจนว่าต้องการจะพาประเทศไปทางไหน
ก็น่าเสียดายว่าในรอบ 5-6ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างน้อย ไม่นับปัญหาการรัฐประหารก่อนหน้านั้น สภาพของรัฐบาลแม้จะมีการเลือกตั้ง ก็เป็นรัฐบาลที่ค่อนข้างอ่อนแอ เพราะเป็นรัฐบาลในลักษณะของการผสมผสาน แล้วก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่ลงตัว มากกว่าการมีวิสัยทัศน์ร่วมกันว่าจะพาประเทศไปทางไหน
เรื่องที่เราต้องทำเพื่อให้เราขึ้นมาจากหล่มได้แต่ละเรื่อง แทบจะไม่มีเรื่องไหนเลยที่จะสามารถแก้ไขได้โดยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง หรือแม้กระทั่งกลุ่มกระทรวงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งดูแลอยู่
แต่ว่าภาพทางการเมืองที่เราเห็นมีแต่การต่อรองแล้วก็ความพึงพอใจของพรรคร่วมว่าได้ร่วมรัฐบาลกันอยู่มากกว่าที่จะมาผนึกกำลังบอกประชาชนว่าจะทำอะไร ตรงนี้คือสิ่งที่น่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในการที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากตรงนี้ได้
ผมไม่อยากบอกว่าน้ำหนักการเมืองหรือเรื่องไหนมันแย่กว่าเรื่องไหน แต่บังเอิญการเมืองมันเป็นกลไกที่จำเป็นในปัจจุบัน และตัวนี้ผมคิดว่าถ้าเรามองเปรียบเทียบกับในอดีต มันก็จะพอมองเห็นเหมือนกัน เพราะว่าในอดีตถามว่าการเมืองมันดีกว่านี้เยอะ หรือดีกว่านี้ไหม ก็ต้องบอกว่าจริงๆ การเมืองก็แทบจะไม่ได้ดีกว่านี้ มีบางช่วงเท่านั้นเองที่อาจจะมีคนมองว่าการเมืองมันดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แต่ปัญหาก็คือ ในอดีตถึงการเมืองเป็นแบบนี้ แต่เพราะ ‘ทุนทั้งที่เป็นธรรมชาติทั้งที่เป็นเชิงสถาบัน’ มันยังเอื้อให้ภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมทำงานได้ การเมืองขอเพียงแต่อย่าไปเป็นอุปสรรค มันก็ไปได้แล้ว แต่พอวันนี้สภาวะแวดล้อมเหล่านี้มันต้องมีการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องใช้อำนาจรัฐ การเมืองมันจึงกลายมาเป็นตัวที่มีผลอย่างรุนแรงต่อปฏิรูประบบโครงสร้าง
ประเทศไทยยังมีความหวัง
มีความหวัง เพราะว่าประเทศไทยพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เวลาเราเผชิญปัญหาอุปสรรคค่อนข้างที่จะรุนแรง เราก็ฟื้นตัวมาได้ ความจริงถ้าไปดูการเติบตัวของเศรษฐกิจ ไปดูช่วงต้มยำกุ้ง ช่วงวิกฤติการเงินโลก ช่วงวิกฤติโควิด เราฟื้นตัวเป็นรูปตัววีชัดเจน และอย่างที่ผมบอกคือโดยธรรมชาติของเรา เราเป็นสังคมที่เปิดแล้วก็รับอะไรได้ง่ายปรับตัวได้ง่าย
ผมว่าปัญหาความแตกต่างตรงนี้ก็คือ บังเอิญสิ่งที่เราเผชิญอยู่ มันไม่ได้มาในรูปของวิกฤติ แต่มันเหมือนค่อยๆ ซึมลงไป มันยังขาดตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาในการที่จะฉุดประเทศขึ้นมาจากหล่ม
ฉะนั้น ก่อนที่จะไปถึงเรื่องการเมือง มันอาจจะเป็นความจำเป็นที่ทำอย่างไร เราจะสร้างความตื่นตัวให้คนในประเทศเห็นก่อนว่า สภาพยากลำบากหลายอย่างที่ทุกคนเผชิญอยู่ มันเป็นเรื่องในระดับโครงสร้างแล้ว มันเป็นเรื่องที่หมายถึงเราจะทำอะไรกันแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้วนะ แล้วก็มาช่วยกันกระตุ้นหรือตื่นตัวว่าตอนนี้มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ จับต้องไม่ได้ ไกลตัวเกินไป
ปัญหาเชิงโครงสร้าง มันไม่ใช่วัฏจักร คำว่าโครงสร้างตรงนี้หมายถึงโครงสร้างการเมือง โครงสร้างการศึกษา โครงสร้างระบบราชการ ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรหรือภาคส่วนต่างๆ ในสังคมแม้กระทั่งโครงสร้างประชากร โครงสร้างของการกระจายรายได้ มันเป็นแนวโน้มที่ซึมลึก
พอพูด ‘โครงสร้าง’ คนก็จะบอกมันแปลว่าอะไร แต่เราสามารถที่จะชี้ให้เห็นเป็นเรื่องๆ ได้เลยว่ารูปธรรมมันคืออะไร เช่น ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยที่เห็นได้ชัดขึ้น การศึกษาที่ไม่ตอบสนอง ระบบราชการที่ล้าหลัง ระบบการเมืองที่ไม่มีภาวะความเป็นผู้นำ
ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ผมไม่อยากใช้คำว่า ‘ง่อนแง่น’ ตรงที่ว่า ‘ง่อนแง่น’ หมายความว่ามันพังโดยตัวของมันเอง สิ่งที่ผมกลัวมากกว่าคือโครงสร้างนี้ ‘มันไม่ได้ง่อนแง่น มันไม่ยอมเปลี่ยนแปลง’ ผมว่าตรงนี้คือความน่ากลัวกว่า
ถ้าโครงสร้างมันกำลังจะพังด้วยตัวของมันเอง เราจะเห็นได้ชัดว่าเรากำลังจะสร้างสิ่งใหม่ๆ แต่สิ่งที่เรากลัวมากกว่าคือโครงสร้างที่มันไม่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง มันกลับยังแข็งแรงอยู่ในระดับหนึ่ง
เหมือนอย่างที่เราเห็นว่าพอธุรกิจไทยยังไม่ไปในลักษณะที่เท่าทันกับเทคโนโลยี แต่ธุรกิจขนาดใหญ่อาจจะไม่เดือดร้อน เพราะไม่ได้ต้องแข่งขัน ผูกขาดอยู่
การเมืองที่ไม่ตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจ แต่พรรคการเมืองทั้งหลายก็อาจจะยังไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไร เพราะยังสามารถทำให้เขาได้มีอำนาจอยู่ เพราะฉะนั้นผมไม่กลัวโครงสร้างง่อนแง่นเท่ากับโครงสร้างที่ไม่รับกับความต้องการเราแล้ว แต่ยังแข็งแกร่งอยู่
ถามว่าทำไมมีความหวัง เพราะว่าผมคิดว่าถึงจุดหนึ่งถ้าเราสามารถสร้างความตื่นตัวได้ มันก็จะเกิดแรงผลักดัน เกิดเสียงเรียกร้องแล้วก็สามารถที่จะทำให้เราเดินไปข้างหน้าได้ ผมยังพูดแล้วก็เสียดายว่า เฉพาะปีนี้ปีเดียว มันมีเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้น ถ้าหากรัฐบาลจะวางท่าทีที่เหมาะสมและใช้ประโยชน์จากมัน น่าจะเป็นจุดที่เริ่มต้นในการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวหรือสร้างวิสัยทัศน์ร่วมในประเทศได้มากกว่านี้ เช่น เวลาเผชิญกับเรื่องของภาษีของทรัมป์ หรือแม้กระทั่งล่าสุดเรื่องมีกระแสชาตินิยมขึ้นมาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาชายแดน
rule of law บิดเบี้ยวทำให้เชื่อมั่นลดลง
นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งพื้นฐาน ที่ตอนหลังเราตื่นตัวกันมากขึ้นกับสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘รัฐล้มเหลว’ บ้าง หรือ ‘ความล้มเหลวของประเทศ’ บ้าง และบังเอิญนักเศรษฐศาสตร์ที่เขียนเรื่องนี้ก็ได้รับรางวัลโนเบล
สาระสำคัญของนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลคู่นี้ ซึ่งไม่ได้เขียนเฉพาะหนังสือเล่มนี้ แต่เขียนหนังสือหลายเล่ม ชี้ชัดว่าปัจจัยที่ทำให้บางประเทศล้มเหลว บางประเทศประสบความสำเร็จ ทำไมความล่มสลาย อาจจะมาจากการกลายเป็นเผด็จการหรือกลายเป็นอนาธิปไตย ทั้งหมดอยู่ที่ตัวระบบสถาบันและระบบกฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นมาในลักษณะที่มีความแน่นอน ไว้ใจได้ ในลักษณะที่เอื้อให้ทุกคนสร้างมูลค่ามากกว่าแก่งแย่งมูลค่า ในลักษณะที่ทำให้การพัฒนามันสามารถที่จะดึงทุกภาคส่วนอย่างครอบคลุม ไม่ใช่เป็นการพัฒนาที่กลายเป็นคนจำนวนไม่มาก กลุ่มเล็กๆ สามารถที่จะมายึดครองหรือใช้อำนาจในการดึงผลประโยชน์ทุกสิ่งทุกอย่างไปได้
เพราะฉะนั้นการมีระบบนิติรัฐ นิติธรรม แทบจะเป็นพื้นฐานที่สุดของการที่จะสร้างสภาวะแวดล้อมของเศรษฐกิจและธุรกิจที่ดี
ประเทศไทยต้องรอด
รอดได้แน่นอน อยู่ที่เรา ผมกลับมองว่าถ้าวันนี้ ‘ทุน’ ที่มีอยู่ธรรมชาติมันร่อยหรออาจจะยากกว่าอีก เพราะเราต้องไปสร้างทุกสิ่งทุกอย่างมา แต่ประเทศของเรายังมี ‘ทุน’ ที่หลายประเทศน่าจะอิจฉา เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้ทุนเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างประโยชน์ สร้างมูลค่าให้กับทุกคนในสังคมได้อย่างแท้จริง
ผมว่ามันหลายเหตุผลหลายระดับ ในแง่พื้นฐาน ถ้าพูดถึงความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน ผมว่าทุกคนมีความรับผิดชอบด้วยกันทั้งสิ้น และโดยที่ปัญหานี้ ในที่สุด ไม่มีแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะแก้ได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกคน เพราะฉะนั้นโดยสำนึกของความรับผิดชอบของความเป็นมนุษย์ที่มีต่อโลกหรือคนรุ่นหลัง ลูกหลานเรา เรื่องนี้ก็มีความสำคัญ
เพราะว่าถ้าปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง แบบที่เป็นอยู่ อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าเท่านั้นเอง เราอาจจะได้เห็นความหายนะในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัยหรืออะไรต่างๆ มากมาย แต่ว่าในอีกด้านหนึ่ง ถ้าบอกว่าไปเรียกร้องให้ทุกคนมีสำนึกก็ไม่ได้
ในแง่ของเศรษฐกิจเอง เป็นปัญหาอยู่แล้ว เราเพิกเฉยไม่ได้ ถ้าเราไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องภาคการเกษตร ความเชื่อที่ว่าเรามีความอุดมสมบูรณ์ ความเพียงพอเรื่องอาหาร อาจจะไม่จริงอีกต่อไป ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบริการ โดยที่เราเองเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพิงโลกสูงมาก เป็นเศรษฐกิจที่เปิดมากๆ มูลค่าการค้ารวมกันแล้วสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม การพึ่งพิงนักท่องเที่ยวเป็นรายได้สำคัญ
กระแสของโลกถึงแม้ว่าในสหรัฐอเมริกาตอนนี้อาจจะสะดุดไปก็ตาม แต่ที่อื่นยังมีความตื่นตัวเรื่องนี้ ต่อให้เขาไม่จริงใจ เขาก็อ้างในการที่จะมากีดกันเรา เพราะฉะนั้นสินค้าบริการหรือการค้าขายหรือการดึงการลงทุนไปเกี่ยวข้องกับยุโรปบ้าง จีน ก็ล้วนแล้วแต่จะเป็นแรงกดดันมาที่เราทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการปรับเปลี่ยนตัวเราเองในเรื่องนี้มันสำคัญ
ผมคิดว่าปัญหาพื้นฐานสำคัญที่สุดคือเรายังไม่ค่อยสร้างความตื่นตัวเรื่องการเผชิญความจริง
ประเมินการมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืนของไทย
ถ้าพูดถึงประชาชนทั่วไป อาจจะรับรู้ ตื่นตัวเรื่องนี้ แล้วพยายามปรับตัวเอง ใช้พลาสติกน้อยลงหรือจะลองไปพิจารณาดูว่าจะปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไหม แต่ข้อเท็จจริงที่ผมคิดว่าภาครัฐควรจะสนทนากับคนในประเทศมากขึ้นคือว่าในระยะเปลี่ยนผ่าน การทำตัวและการทำประเทศหรือเศรษฐกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มันมีต้นทุน เมื่อต้นทุนเกิดขึ้น ต้องมีคนแบก คนแบ่งก็มีอยู่ 3 ส่วน หนึ่ง รัฐบาล รัฐบาลทำได้แค่ไหน ต้องบอกให้ชัด จะอุดหนุนสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือจะเก็บภาษีสิ่งที่ไม่เป็นมิตร เอกชนยอมลดกำไรไหม แต่เอกชนต่อให้เขามีเจตนาที่ดี เขามีปัญหาอีกว่าถ้าเขาลดคนเดียว คู่แข่งเขาไม่ลด แล้วเขาเสียเปรียบ เขาอยู่ไม่ได้ จึงกลับมาที่รัฐอีกว่า บางเรื่องคุณต้องบังคับเป็นกติกา และวนมาถึงเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายอีก
ผมเคยคุยกับนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นเคยถามว่าเขาตื่นตัวแค่ไหนต่อการปรับให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กับสิ่งที่เขาทำอยู่ในประเทศไทย เขาตอบว่าเขายินดีทำถ้าทุกคนทำ หรืออย่างน้อยเขามั่นใจว่าคนไม่ทำ จะถูกลงโทษ
เช่นเดียวกันตัวผู้บริโภคเอง ผมทราบดีว่าพอเจอภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ของแพง ผู้บริโภคพร้อมแค่ไหนในการที่จะรับต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ตราบที่เราไม่พูดถึงตรงนี้ ผมมองไม่เห็นว่าเราจะขยับหรือสร้างหนทางที่มันชัดเจนว่าเราจะปรับตัวกันอย่างไร
ทุกคนยังเรียกหาให้น้ำมันกับแก๊สถูกลง ขณะที่ถ้าพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม มีแต่จะต้องพูดกันว่าการเก็บภาษีคาร์บอนที่แท้จริงจะต้องทำกันอย่างไร
ถามว่าความยั่งยืนเป็นภาพลวงตาไหม ต้องบอกว่า ทุกคนสัมผัสได้กับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ยิ่งคนมีอายุมากเท่าไหร่ น่าจะยิ่งยืนยันได้ว่าทำไมระยะหลังๆ สิ่งที่ไม่เคยเกิด ไม่เคยเห็น มันถึงได้เกิดได้เห็นบ่อยขึ้น ถี่ขึ้น แรงขึ้น เพราะฉะนั้น มันคงไม่ใช่ภาพลวงตา
เพียงแต่ว่าผมเห็นด้วยว่า หลายครั้งมันกลายเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้าบ้าง เป็นเรื่องที่มีการสร้างภาพกันอยู่
อันตรายของตรงนี้คือ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ในระดับโลกคือปัญหาเรื่องการฟอกเขียว ทุกวันนี้หลายบริษัทใหญ่ๆ หรือหน่วยงานกล้าที่จะประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอนโดยแทบจะไม่ได้ลดการปล่อยคาร์บอนเลย แต่คิดว่ามีเงินไปซื้อเครดิตได้ และปัญหาก็คือตลาดเครดิตเองถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะว่าในที่สุด มันได้ส่งผลในเรื่องของการลดคาร์บอนจริงหรือเปล่า เพราะว่าบรรดาโครงการที่เอามาใช้หรือมาเป็นเครดิต หลายครั้งไม่ได้รับการพิสูจน์หรืออาจจะถูกพิสูจน์ด้วยซ้ำว่าไม่ได้ส่งผลต่อคาร์บอนแบบที่โฆษณาจริง
การสร้างความตื่นตัวตรงนี้จะเป็นโดยภาคของสื่อมวลชน ประชาสังคม หรือแม้กระทั่งองค์กรที่ได้รับผลกระทบอย่างภาคธุรกิจ ถ้าสร้างความตื่นตัวตรงนี้ได้ ถึงแม้ว่าตอนนี้เราอาจจะมองไม่เห็นคนที่เป็นผู้นำทางการเมืองที่มาทำตรงนี้ แต่ถ้ามันเป็นประเด็นของสังคมจริงๆ อาจจะไปกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มาตอบสนองตรงนี้ก็ได้
ถ้าสมมติว่าตื่นตัวจริงๆ เราอาจจะได้เห็นว่า การเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป ใครเอาแต่เรื่องประชานิยมมาพูด ประชาชนจะบอก เฮ้ย… พอแล้ว ฟังมาเยอะแล้ว แต่ตอนนี้ปัญหาประเทศ มันไปไกลกว่านั้นเยอะแล้ว
การสร้างให้ประชาชนมีความตื่นตัวขึ้นมา
เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ในการที่จะอธิบาย แล้วทำให้ทุกฝ่ายเห็นหรือซึมซับให้เห็นตรงกันทั้งหมด เพราะมีหลายแง่มุม และบางเรื่องก็ไกลตัวบางคน
พอมีภาวะทางเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ของแพง กดดันเข้ามา ไม่ง่ายในการที่ทำให้คนตื่นตัวตรงนี้ เพราะคิดว่าอยากจะได้อะไรที่มันตอบโจทย์ ให้หลุดพ้นจากสภาพที่ยากลำบากไปก่อน
ผมเทียบเคียงให้เห็นอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม เราบอกยุโรปนำหน้าสุด แต่วันที่เกิดวิกฤติโควิดขึ้น ยุโรปหลายประเทศถอยหลังเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อมหมด เพราะในที่สุดเอาไม่อยู่ หรือตอนนี้และก่อนหน้านี้ ยุโรปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับการปกป้องยูเครน จำเป็นมากๆ ในแง่ของการรักษาตัวภูมิภาคเขา หรือเรื่องของหลักการของเสรีภาพ หรือดินแดนอะไรต่างๆ แต่พอสหรัฐจะไม่ยอมจ่ายเงิน แล้วภาวะเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ เราเริ่มได้ยินเสียงว่า ทำไมจะต้องมาเสียเงินกับการที่จะช่วย ยูเครน… ใช่ ปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นตัวมากดดันและเป็นอุปสรรคต่อการจะทำอะไรที่มันเกินเลยไปกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ถ้าเราทำให้คนเข้าใจว่า ปากท้อง ถ้าแก้แบบ ขอไปที เดี๋ยวอีกไม่กี่วันเราก็จะกลับมาสู่สภาพนี้อีก แต่บางทีถ้าหากว่าเรากัดฟันว่าปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้แก้ได้เร็วๆ แต่วันข้างหน้าเราอาจจะหลุดพ้นจากสภาพนี้ไปเลย
กลไกการเมืองแบบไหนถึงจะรอด
ต้องวิจารณ์อย่างนี้ หนึ่ง สภาพการเมืองที่เป็นปัญหา เพราะตัวกติกาถูกออกแบบมาเพื่อให้รัฐบาล โอกาสที่จะมีความอ่อนแอสูง เนื่องจากถูกออกแบบมาบนความกลัวรัฐบาลที่เข้มแข็งแกับฉ้อฉล
สอง พอกติกาเป็นอย่างนี้ พรรคการเมืองซึ่งถูกมองว่าเป็นนักการเมืองในกลุ่มเก่าก็รู้วิธีเล่นเกมในการที่จะเข้าสู่อำนาจได้หมด ขณะที่พรรคการเมืองที่พยายามนำเสนอการเปลี่ยนแปลง หรือคนรุ่นใหม่ขณะนี้ไม่มีอำนาจและถูกมองว่าอาจจะขาดประสบการณ์
ขณะที่คนที่มาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง อาจจะเริ่มฉายภาพชัดขึ้นว่า ‘ทุนที่ร่อยหรอ’ เขาอยากจะเปลี่ยนแปลงมันอย่างไร แต่มีคนที่กลัวว่าสิ่งที่เขาพูดประหนึ่งว่าจะไปทำลายทุนที่ดีๆ อยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคือสิ่งที่มันอาจจะทำให้คนขาดความมั่นใจในตอนนี้ แต่ในที่สุดต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะสังคมต้องหาทางเรียนรู้ แล้วนำเสนอประเด็นที่ทำให้ภาคการเมืองต้องมีการปรับตัวในทุกด้าน
ทุนเศรษฐกิจทาบทุนการเมือง
ถ้าคนมองเห็นว่าตัวนี้ (ทุนเศรษฐกิจทาบทุนการเมือง) มันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ ไม่ดีเท่าที่ควร มันน่าจะเกิดปฏิกิริยา และผมเชื่อว่าจะต้องมีคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพร้อมที่จะเข้าสู่หรืออยู่ในระบบการเมือง แล้วบอกว่าอันนี้จะต้องเป็นวาระสำคัญที่ต้องเข้ามาแก้ไข
ส่วนเรื่องคอร์รัปชัน เรื่องนี้อยู่ในทุกเรื่องอยู่แล้ว เพราะว่าความไม่สามารถในการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องนี้ ผลประโยชน์ คอร์รัปชัน แล้วการเอาเงินซื้ออำนาจ เอาอำนาจมาสร้างความร่ำรวยให้กับพรรคพวกอะไรต่างๆ แทบไม่ต้องพูดเฉพาะเจาะจง มันฝังอยู่ในสิ่งต่างๆเหล่านี้
ทุกการปฏิรูป ทุกการเปลี่ยนแปลงในทุกโครงสร้างที่เราพูดถึง ตราบใดที่ยังมีคอร์รัปชันอยู่ จะเป็นตัวที่ทำให้ทุกอย่างเสื่อมลงอยู่ดี แต่คนยังชอบพรรคการเมืองที่เอื้อประโยชน์ให้เขา ย้อนกลับไปที่การศึกษาอีก วนไปมา ในที่สุดมันต้องเรียนรู้ แล้วต้องสร้างค่านิยมและความตื่นตัวกันให้ได้
สร้างค่านิยมและความตื่นตัว ผมว่ามันต้องสร้างองค์ความรู้ก่อน การจะรณรงค์เรื่องค่านิยมอะไร ประการหนึ่งก็คือ คนที่จะรณรงค์มีน้ำหนักได้ ก็ต้องมีความน่าเชื่อถือในเรื่องนั้น
สอง ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีตที่ผ่านมา พอเราเผชิญกับปัญหาของนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชันแล้ว คนที่อ้างตัวว่ามาปราบนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชัน มาตรฐานไม่ได้สูงกว่ากัน เลยทำให้คนมีความหวาดระแวงอยู่เสมอว่า การมารณรงค์เรื่องนี้มันคือเป็นการทำเพื่อที่จะทำลายฝ่ายตรงข้ามเฉยๆ หรือเปล่า