‘คดีชั้น 14’ นัดที่ 6 แพทยสภา 3 ปาก ให้การตรงกัน ‘ไม่ได้ป่วยวิกฤติ’ รักษาตัวแบบไปกลับได้
ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
‘คดีชั้น 14’ นัดที่ 6 แพทยสภา 3 ปาก ให้การตรงกัน ‘ไม่ได้ป่วยวิกฤติ’ รักษาตัวแบบไปกลับได้ – ศาลฎีกาฯนัดไต่สวน “วิษณุ เครืองาม” พยานปากสุดท้ายตามที่จำเลยร้องขอ 30 ก.ค.นี้
หลังจากที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไต่สวนพยานครั้งที่ 5 ในกลุ่มของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในส่วนของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ถึงสาเหตุที่ต้องส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจในคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เนื่องจากนายทักษิณมีอาการคล้ายกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ตามการวินิจฉัยอาการของแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ขณะที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีศักยภาพการรักษาโรคดังกล่าว หากไม่รีบทำการรักษา อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องส่งตัวนายทักษิณไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ และเมื่อนายทักษิณมาถึงโรงพยาบาลตำรวจ ปรากฎไม่ส่งตัวไปห้อง ICU แต่กลับนำตัวเข้าห้องพักชั้น 14 ทันที พร้อมกับจัดแพทย์เวรที่เชี่ยวชาญด้านสมองและไขสันหลังมาดูแลอาการป่วยของนายทักษิณ
ล่าสุด ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวน ‘คดีชั้น 14’ ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 ได้เชิญกรรมการจากแพทยสภา 3 ปาก มาถามความเห็นเกี่ยวกับอาการป่วยของนายทักษิณในช่วงกลางดึกของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 มีภาวะวิกฤติจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจจริงหรือไม่ ซึ่งพยาน 3 ปาก เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์สาขาต่างๆในระดับ ‘อาจารย์ของอาจารย์หมอ’ โดยพยานทั้ง 3 ปาก ประกอบด้วย
- ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภา คนที่ 1 เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์
- ศาสตราจารย์นายแพทย์ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล กรรมการแพทยสภา และประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินหายใจ และเวชบำบัดวิกฤติ หรือ “หมอไอซียู” ช่วยผู้ป่วยให้ผ่านพ้นวิกฤติ และ
- ศาสตราจารย์นายแพทย์ กีรติ เจริญชลวานิช กรรมการแพทยสภา และประธานราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ข้อสะโพก และข้อเข่าต่าง ๆ เป็นต้น
โดยพยานทั้ง 3 ปาก ได้ให้ความเห็นตรงกันว่า ในคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายทักษิณไม่ได้ป่วยวิกฤติ โดยนายทักษิณถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจด้วยเฝ้าระวังอาการของโรคหัวใจ ซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่มีโอกาสกำเริบได้ โดยพยานก็ให้ข้อสังเกตุว่า หลังจากคุมตัวนายทักษิณมาถึงโรงพยาบาลตำรวจแล้ว ปรากฎว่าโรงพยาบาลตำรวจก็ไม่ได้นำตัวผู้ป่วยเข้าห้อง ICU หรือ ห้อง CCU สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีอาการวิกฤติ เพื่อทำการตรวจวัดคลื่นหัวใจภายใน 10 นาที ตามหลักเวชบำบัดผู้ป่วยวิกฤติ และหลังจากนั้นก็ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีการจ่ายยารักษาอาการป่วยวิกฤติดังกล่าวแต่อย่างใด และก็ไม่ได้จัดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจทำการตรวจรักษาผู้ป่วยทันทีที่มีการรับตัวผู้ป่วยมารักษา แต่กลับจัดแพทย์เวรที่เชี่ยวชาญด้านสมองและไขสันหลังมาดูแลแทน กว่าที่นายทักษิณจะได้รับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจอีก 2 วันถัดมา ซึ่งอาการก็ทุเลาลงแล้ว
จากนั้นในระหว่างที่นายทักษิณเข้าพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อรอดูอาการโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคประจำตัวจะกำเริบขึ้นมาอีกหรือไม่ ปรากฏว่ามาเกิดอุบัติเหตุ นายทักษิณมีอาการเจ็บที่นิ้ว และหัวไหล่จนเข้ารับการผ่าตัดไป 2 ครั้ง ซึ่งอาการเจ็บป่วยดังกล่าวนี้ ทำให้กรมราชทัณฑ์พิจารณาอนุญาตให้นายทักษิณนอนพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจต่อไปอีก
ประเด็นนี้พยาน ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์ ได้ให้ความเห็นว่า การรักษาโรคที่เกี่ยวกับกระดูกสำหรับคนทั่วไป โดยส่วนใหญ่แพทย์จะจ่ายยา เพื่อทำการบำบัดรักษาก่อนการผ่าตัด ไม่ใช่การรักษาโรคแบบเร่งด่วน ซึ่งสามารถนัดผู้ป่วยมาผ่าตัดภายหลังได้ และถ้าเป็นการผ่าตัดเล็กๆ แบบใช้ยาชา กรณีนี้สามารถรักษาแบบไปกลับได้ แต่ถ้าวางยาสลบ กรณีนี้ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล รอจนแผลแห่งตัดไหมเสร็จ ก็กลับบ้านได้เต็มที่ก็ไม่เกิน 7 วัน ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
จากคำให้การของพยานจากกรรมการแพทยสภาทั้ง 3 ปาก พอได้สรุปว่า การส่งตัวนายทักษิณ จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมารักษาตัวต่อเนื่องที่โรงพยาบาลตำรวจนั้นมาด้วยการเฝ้าระวังอาการโรคประจำตัวของนายทักษิณจะมีอาการกำเริบอีกหรือไม่ แต่พอมาถึงโรงพยาบาลตำรวจแล้ว ก็กลับไม่ได้รับการรักษาโรค หรือ อาการป่วยที่บุคลากรการแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์วิตกกังวล ส่วนแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจก็ไม่ได้รักษาอาการป่วยวิกฤติ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ต้องส่งตัวนายทักษิณมารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่กลับไปรักษาโรคอื่น ซึ่งไม่ใช่โรคร้ายแรง ซึ่งสามารถทำการรักษาแบบไปกลับได้
โดยการไต่สวนครั้งนี้ พยานจัดทำเอกสารส่งมอบให้ศาลฎีกาฯ ใช้ประกอบการพิจารณาคดี โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นการลำดับเหตุการณ์และรายละเอียดการรักษาตัวของนายทักษิณ รวมทั้งได้อธิบายคำศัพท์ทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาโรค และชื่อยาที่ระบุในใบเสร็จรับเงินของโรงพยาบาลตำรวจ
นอกจากนี้ศาลฎีกาได้มีคำสั่งยกคำร้อง กรณีทนายของจำเลยร้องขอให้ศาลออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการอนุญาตบุคคลภายนอกเข้าฟังการไต่สวนคดี ทั้งนี้ เนื่องจากมีผู้รับอนุญาตให้เข้าฟังการไต่สวนคดี บางคน ‘ไลฟ์สด’ โดยศาลเห็นว่า การออกข้อกำหนดตามที่ทนายจำเลยร้องขอ อาจขัดเรื่องสิทธิเสรีตามรัฐธรรมนูญ และเนื้อหาของการไลฟ์สดก็เป็นการบรรยายภาพรวมทั่วไป ดังนั้น จึงมีคำสั่งยกคำร้อง
จากนั้นศาลฎีกาฯก็มีคำสั่งให้ไต่สวนพยานบุคคลครั้งต่อไปในวันที่ 30 กรกฎาคม 2568 ตามที่ทนายจำเลยร้องขอ คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น มาให้ปากคำ
ไต่สวนนัดที่ 5 คดีชั้น 14 แพทย์ยัน ‘ผ่าตัดจริง’ แต่ปมป่วยวิกฤติ-อาการทุเลา ยังไม่เคลียร์
‘ชาญชัย’ ร้องค้านทนาย ‘ทักษิณ’ ขอศาลไต่สวนลับ คดีชั้น 14 ชี้อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ
เรื่องเล่านาทีชีวิต “ผู้ป่วยวิกฤติ” จากเรือนจำกรุงเทพฯ ถึงห้องพัก ชั้น 14 รพ. ตำรวจ
คดีชั้น 14 “ป่วยวิกฤติ” ให้ออกซิเจน-ใช้เวลา 2.20 ชม. จากเรือนจำกรุงเทพฯ ถึง รพ. ตำรวจ
ศาลฎีกาเลื่อนฟังคำสั่งคดี “กรมราชทัณฑ์” นำ “ทักษิณ” รักษาตัว รพ. ตำรวจ – ขัด ป.วิอาญา?
“ชาญชัย” เตรียมฟ้อง “ราชทัณฑ์” ปมให้ “ทักษิณ” รักษาตัว รพ.ต่อ – ขัด ป.วิอาญาฯ?