แนวรบไทย-กัมพูชา อาจต้องมีกรรมการหย่าศึก
การมีรัฐบาลที่มีอำนาจในขณะนี้ ที่มีความคลอนแคลนอยู่ในตัวเอง แล้วก็ยังมีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจเป็นอย่างมาก ก็ทำให้คนตะขิดตะขวงใจ ไม่มั่นใจ จะเดินหน้าหรือถอยหลัง หรือรัฐบาลจะเอาจริงหรือไม่ มันก็สร้างความไม่มั่นใจให้ประชาชน รักษาการนายกฯ ก็มีอำนาจไม่เต็ม กระทรวงกลาโหมไม่มีรัฐมนตรีว่าการ มีแต่รัฐมนตรีช่วยว่าการ มันอ่อนแอไปทุกอย่าง แต่ประชาชนเขาสนับสนุนทหารเต็มที่ แต่พอพูดถึงรัฐบาล ก็เอ๊ะ เอาจริงหรือไม่ ทำหลอกหรือเปล่า มีลูกเล่นอะไรอีกหรือไม่ ภาวะแบบนี้มันทำให้การบริหารจัดการบ้านเมืองมันไม่ราบรื่น ไม่มีประสิทธิภาพ
สถานการณ์ความตึงเครียดชายแดนไทย-กัมพูชา ที่เริ่มเปิดฉากการปะทะกันเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มโจมตีไทยก่อน จนสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ติดชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ จ.สุรินทร์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี และบุรีรัมย์นั้น หลังจากนี้ต้องติดตามว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป
รายการ "ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด" สัมภาษณ์มุมมองและความเห็นของ "ถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะอดีตผู้บริหารของหน่วยงานด้านการข่าว-ความมั่นคงของประเทศไทย" ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเป็นการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ซึ่งถึงวันที่บทสัมภาษณ์นี้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ สถานการณ์บางส่วนอาจเปลี่ยนแปลงไป แต่มุมมองของอดีตเลขาธิการ สมช.ย่อมมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะทำให้เกิดความเข้าใจสถานการณ์ไทย-กัมพูชาได้แบบรอบด้าน
"ถวิล" บอกว่า เหตุการณ์การเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายกองทัพไทยกับกองทัพกัมพูชาดังกล่าวไม่ผิดจากคาดหมาย เพียงแต่เมื่อใดเท่านั้นเอง เพราะที่ผ่านมาสถานการณ์เขม็งเกลียวตลอดเวลา จนมีวันนี้ที่หลังเกิดเหตุก็มีผู้เสียชีวิต ซึ่งมันไม่น่าจะเกิดขึ้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมองในแง่ข้อเท็จจริง ว่ายังไงมันก็ต้องเกิด รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนๆ เหตุมันก็ต้องเกิด การที่พูดแบบนี้เพราะว่าต้นเหตุหรือแรงจูงใจมาจากฝั่งกัมพูชา เพราะฮุน เซนกับลูกชาย หรือที่เรียกระบอบฮุน เซน ที่ควบคุมทุกอย่างในกัมพูชา ทั้งการเมือง ทหาร เศรษฐกิจ ซึ่งฮุน เซน สถาปนามาถึง 40 ปี มันไม่มีที่ไหนที่จะยั่งยืนได้นานขนาดนี้ อย่างสิงคโปร์ก็มีประชาธิปไตยมากกว่านี้ แม้มีพรรคการเมืองเดียวควบคุมเสียงในสภา มีเสียงข้างมากเด็ดขาด หรืออัมโนที่มาเลเซีย แต่ขนาดนั้นก็ยังไม่ยั่งยืน ยังมีฝ่ายค้านมาท้าทาย
เหตุมาจากฝ่ายนั้นที่เป็นความตั้งใจของเขา ถ้าตราบใดที่เขายังอยู่ในอำนาจ ก็หนีไม่พ้นกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ที่มีเรื่องการส่งต่อ การเปลี่ยนผ่าน แล้วความสำเร็จที่ฮุน เซน ทำอยู่ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพขึ้นภายใน แต่ความสำเร็จในการบริหารงานอื่นๆ มันไม่เกิด เช่นการพัฒนาเศรษฐกิจก็ไม่ใช่ คอร์รัปชันก็คงไม่ต้องพูดถึง เลยต้องหาที่ลง เพราะการถ่ายเทอำนาจไปสู่รุ่นลูกก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ฮุน มาเนต ก็ยังไม่มีบทบาท ส่วนเรื่องความพยายามจะขยายดินแดนอาจจะเป็นเรื่องในจิตใต้สำนึกของเขาอย่างหนึ่งตั้งแต่อดีตก็ได้ แต่การจะไปหาเพื่อนบ้านก็มีแค่สองด้าน คือด้านเวียดนามกับไทย ซึ่งเวียดนามไม่ต้องพูดถึง ไปเมื่อไหร่ก็เด้งกลับมาเมื่อนั้น แต่เมื่อมาทางเรา ของเราค่อนข้างยึดหลัก บางคนอาจบอกใจดี ไม่ตอบสนองกับความรู้สึกของประชาชน ซึ่งผมคิดว่าเราก็ต้องพอสมควร หากนักเลงหัวไม้ออกมาท้าเราตีแล้วเราไปตีด้วย ก็เป็นนักเลงหัวไม้ด้วยกันทั้งคู่ แต่ก็ต้องไม่ถึงขั้นยื่นหัวไปให้เขาตี ก็ต้องระมัดระวังป้องกันตัวพอสมควร ก็เลยทำอย่างตอนนี้
อยากให้นึกถึงอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ผมว่ารูปแบบคล้ายๆ กัน เพราะเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลก็ปัญหาเยอะ หากเดินหน้าต่อไป หากมีอะไรเข้ามาก็ต้องลงจากอำนาจ แต่พอเข้าสู่สถานการณ์สงคราม ทำให้ประชาชนเห็นว่าขาดเขาไม่ได้ ขาดแล้วยุ่งแน่ อันนี้ก็เช่นเดียวกัน การสถาปนาอำนาจตรงนี้ขึ้นมา แล้วทำให้ไทยตกเป็นผู้ร้ายหรือตกเป็นคู่กรณีมันง่าย และทำได้ผลมาหลายครั้ง ที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้
…แผนที่เขียนไว้ล่วงหน้าแบบนี้ แล้วใส่เหตุการณ์ ใส่ตัวละคร จนมาสู่การฟ้องร้องศาลโลกเรื่องเขตแดน มันมีมานานแล้ว ซึ่งเมื่อไหร่ที่เขาจะทำ เขาก็ทำมันขึ้นมา เราจึงเห็นการก่อเหตุ การสร้างสถานการณ์เป็นระยะๆ อย่างที่ผมบอกถึงแม้ไม่ใช่รัฐบาลนี้ สิ่งนี้ก็ยังเกิด เพราะนี่คือแนวทางที่เขาต้องทำ ปัญหาไม่ได้อยู่ฝั่งเรา แต่ปัญหาอยู่ฝั่งเขา คือยังไงก็ต้องเดินแบบนี้ เพียงแต่ระบอบฮุน เซน หรือรัฐบาลที่มีนายทักษิณกับแพทองธาร ที่เป็นลูกเป็นนายกฯ แต่นายทักษิณก็เหมือนจะอยู่เหนือนายกฯ มันก็ทำให้เราไม่ไว้ใจ ผมพยายามจะแยกระหว่างความสัมพันธ์กับทักษิณ (ทักษิณกับฮุน เซน) ที่มีร่วมๆ สามสิบปี ที่ผมว่ามีอะไรอยู่เยอะในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ที่มีอะไรซึ่งซ่อนอยู่อีกมากมาย การต่อสู้หรือการเผชิญหน้าการจัดการระหว่างประเทศ โดยที่มีรัฐบาลแบบนี้อยู่ เขาอาจจะทำได้ดีก็ได้ แต่ความไว้วางใจมันไม่มี ไม่รู้เมื่อไหร่ฮุน เซน จะงัดอะไรมาอีก ไม่รู้ว่าเมื่อใดความลับต่างๆ ที่เรามีอยู่จะหลุดไปอยู่ในมือฮุน เซน ที่เราไม่รู้เลยว่าเมื่อไหร่เขาจะงัดขึ้นมาใช้
…ทำให้สถานการณ์เผชิญหน้าหรือต่อสู้กับกัมพูชาหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การที่มีรัฐบาลที่มีอำนาจในขณะนี้ ที่มีความคลอนแคลนอยู่ในตัวเอง แล้วก็ยังมีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจเป็นอย่างมากอีก ก็ทำให้คนตะขิดตะขวงใจ ไม่มั่นใจ จะเดินหน้าหรือถอยหลัง หรือรัฐบาลจะเอาจริงหรือไม่ มันก็สร้างความไม่มั่นใจให้ประชาชนได้ แล้วตอนนี้รักษาการนายกฯ ก็มีอำนาจไม่เต็ม กลาโหมก็ไม่มีรัฐมนตรีว่าการ มีแต่รัฐมนตรีช่วยว่าการ ซึ่งมันอ่อนแอไปทุกอย่าง แต่ประชาชนเขาสนับสนุนทหารเต็มที่ แต่พอมาพูดถึงรัฐบาล ก็เอ๊ะ เอาจริงหรือไม่ ยังมีอะไรกันอีกหรือไม่ ที่ทำหลอกหรือเปล่า มีลูกเล่นอะไรอีกหรือไม่ ภาวะแบบนี้มันทำให้การบริหารจัดการบ้านเมืองมันไม่ราบรื่นและไม่มีประสิทธิภาพ
"ถวิล อดีตเลขาธิการ สมช. และอดีตนักการข่าว" มองการที่ฮุน เซน ปล่อยคลิปเสียงการสนทนากับนายกฯ ออกมาก่อนหน้านี้ว่า ก็คิดอยู่ว่าเป็นจังหวะหรือความตั้งใจ คือความสัมพันธ์ระหว่างฮุน เซน กับนายทักษิณที่มีความสัมพันธ์ที่ดี จนเคยไปเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้ฮุน เซน คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หนีออกนอกประเทศไปก็ผ่านช่องทางกัมพูชา คือความสัมพันธ์ดีมาก คนมองว่าความสัมพันธ์แบบนี้จะทำให้สองประเทศพูดคุยกันดียิ่งขึ้น แต่มันกลับตรงกันข้าม ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ และยิ่งทำให้สถานการณ์มันบานปลาย ผมก็มองว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่บังเอิญ อาจจะเป็นนิสัยส่วนตัวของฮุน เซน ด้วยหรือไม่
ส่วนสถานการณ์การเผชิญหน้ากันระหว่างไทย-กัมพูชาต่อจากนี้ หากดูเหตุการณ์ในอดีตเช่นสมัยปี 2554 ก็มีการรบกันหลายวัน คิดว่าเหตุการณ์ครั้งนี้คงไม่จบลงง่ายๆ เพียงแต่ว่ามันอันตรายมากกว่า อย่างที่พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม บอกว่าอาวุธทั้งฝ่ายเราและฝั่งกัมพูชามันรุนแรงขึ้น ทำให้อำนาจการทำลายล้างมันมากขึ้น เหตุการณ์ต่างๆ ผมว่ามันคงไม่หยุดง่ายๆ ความสูญเสียจะมากขึ้น เลยไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร ผมยังไม่เคยคิดเลยว่ามันจะมีการปะทะกันในวันนี้ (24 ก.ค. วันที่สัมภาษณ์) ในใจก็คิดอยู่ว่ามันคงมีเหตุยั่วกันไปยั่วกันมาแบบที่ผ่านมา
"ส่วนว่าจะจบอย่างไร ผมคิดว่าโดยคู่ปรปักษ์หรือคู่ขัดแย้ง ถ้าจะจบลงได้หมายถึงอีกฝ่ายหมอบหรือยอมเลย ซึ่งมันไม่เกิดขึ้นได้ง่าย ผมคิดว่าจบแบบมีกรรมการ อาจจะเป็นอาเซียนหรืออะไรสักอย่าง หรือมิตรประเทศที่มีกำลังอำนาจเพียงพอและมีไมตรีกับทั้งสองข้าง ที่เป็นไปได้หมดอย่างจีน เพราะอยู่ๆ กำลังตะลุมบอนกันอยู่ แล้วอีกฝ่ายบอกว่ายอมแพ้ มันไม่ค่อยเกิดขึ้น แล้วทางฝ่ายเราก็ไม่ยอม และเราก็ต้องชนะทางการเมืองด้วย คือหากชนะในสมรภูมิ แต่หากโดนประณามซึ่งก็ไม่ได้ ที่ความลำบากของเราก็อยู่ตรงนี้ เราต้องทำให้ชนะทั้งในทางการเมือง การสู้รบ และในพื้นที่สามารถดูแลความปลอดภัยของประชาชน ส่วนในพื้นที่ก็ป้องกันดินแดนได้ ต้องไปด้วยกัน ตรงนี้ก็เลยต้องอดทน แต่ต้องเร็ว เพราะตอนนี้เจ็บจริงตายจริง"
และจากการที่รัฐบาลมีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.) โดยมีการใช้กลไกของ สมช.เข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา "ถวิล อดีตเลขาธิการ สมช." กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ดีใจที่รัฐบาลใช้กลไกของ สมช. เพราะจริงๆ สมช.ไม่ได้มีอำนาจอะไรมาก เป็นหน่วยงานในเชิงฝ่ายเลขาฯ ให้นายกรัฐมนตรีที่เป็นประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และเป็นหน่วยงานที่รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อเสนอแนะการข่าวต่างๆ ที่แม้ สมช.จะมีกำลังคนไม่มาก แต่ สมช.คือแหล่งรวมของข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งทหาร พลเรือน ตำรวจ แล้วนำไปสู่การตัดสินใจ ซึ่งการเรียกประชุมไม่ได้ยาก ไม่จำเป็นต้องประชุมทั้งหมด แต่ต้องมีรัฐมนตรีสำคัญๆ มาประชุม แล้วก็ตัดสินใจ ซึ่งการตัดสินใจของ สมช.เป็นแค่มติ-นโยบาย มันไม่ได้มีผลบังคับทางกฎหมายจนกว่ากระทรวง กรมต่างๆ หรือนายกฯ ไปใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ในการสั่งการใช้กฎหมายต่างๆ ของกระทรวง-กรมไปทำงาน แต่ในกรณีของการตอบสนองสถานการณ์ในพื้นที่ ทหารทำได้อยู่แล้ว เช่นประกาศกฎอัยการศึก หรือหากมีการล่วงล้ำอธิปไตยเข้ามาก็ซัดให้เต็มที่
ที่ผ่านมา สมช.ก็มีการปรับปรุงระบบการทำงานครั้งใหญ่ ตั้งแต่สมัยนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ (รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) โดยมีการปรับปรุงให้ สมช.มีบทบาทอำนาจมากขึ้น ซึ่งผมเห็นว่างานความมั่นคงมีความสำคัญมาก เพราะเปรียบเทียบหลายครั้งว่าเหมือนอากาศที่เราหายใจ มันเกี่ยวข้องกับเรื่องอธิปไตย ดินแดน ความอยู่รอดของประเทศ การสูญเสียตรงนี้ไปมันคือการสูญเสียชาติ อย่างอื่นยังเรียกกลับมาได้ แต่หากเสียตรงนี้ไปมันเสียเลย แต่ความสำคัญของมัน สำคัญก็จริงแต่เหมือนกับได้มาเปล่าๆ ตราบใดที่เรามีอยู่เราไม่รู้สึกว่ามันหายไป เหมือนกับที่กำลังทำศึกปะทะกันที่ชายแดน ที่กระทบความมั่นคง แต่ถ้าเป็นวันปกติธรรมดา ท้องฟ้าแจ่มใส ทุกอย่างดำเนินไปคนก็ไปมองว่าความมั่นคงไม่สำคัญ จนเมื่อมีเหตุการณ์เข้ามา ความมั่นคงก็เป็นแบบนั้น เหมือนอากาศที่เราหายใจ หากวันหนึ่งเรายังหายใจได้สบายๆ เราก็ไม่เห็นความสำคัญ จนเมื่อเราขาดมันไป ความมั่นคงจะปรากฏความสำคัญก็เมื่อวันใดวันหนึ่งเราขาดมันไป
งานความมั่นคงมันครอบคลุมหลายด้านของกำลังอำนาจของชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองระหว่างประเทศ เมื่อเป็นแบบนี้เลยกว้าง พอกว้างเลยหาจุดที่รวมไม่ได้
เคยมีความพยายามทำให้งานความมั่นคงอยู่ที่จุดเดียว จนเป็น Homeland Security เพื่อรวมงานความมั่นคงไว้ที่แห่งเดียว ที่ไม่ประสบความสำเร็จ เราเคยเอารูปแบบมาศึกษา ที่ดูแล้วคิดว่ามันน่าจะดี ที่รวมงานความมั่นคงไว้ที่เดียว แต่พบว่ามันขัดกับลักษณะงานความมั่นคงที่มันแผ่ไปหลายเรื่อง ที่ลักษณะงานเป็นการบูรณาการ แต่พอไปทำให้มันอยู่นิ่งกับที่ โดยที่ไปทำ Homeland Security ก็ล้มเหลว เพราะไปขัดกับลักษณะงานเฉพาะ
ส่วนการที่รัฐบาลไม่มีการตั้ง รมว.กลาโหม ผมไม่ทราบว่าเขามีความคิดอย่างไร แต่ก็มีข่าวว่าจะรออดีต ผบ.สส. แต่จริงหรือไม่เราก็ไม่รู้ แต่ว่าโดยหลักแล้วก็ไม่สมควร รัฐบาลอาจมีเหตุผลเฉพาะของเขาที่ยังไม่ตั้ง คิดว่าวันนี้หากพลเอกณัฐพลเป็น รมว.กลาโหมไปเลย มันจะมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นในการไปสั่งการ ไปทุบโต๊ะ แต่เพื่อประโยชน์ประเทศชาติมันควรจะมี ไปคาตำแหน่งไว้ทำไม การตั้งรัฐบาลมาแล้วไม่มี รมว.กลาโหมแบบนี้มันไม่ให้เกียรติประเทศ ไม่ให้เกียรติประชาชน แล้วตอนนี้ก็ไม่ได้อยู่ในภาวะเดินในทุ่งลาเวนเดอร์ ยิ้มแย้มกอดคอกับกัมพูชา เพราะภาวะแบบนี้มันแสดงให้เห็นมาก่อนหน้านี้แล้ว แล้วตัดสินแบบนี้ผมเห็นว่าเป็นการไม่ให้เกียรติประชาชน ตัวพลเอกณัฐพลก็แบกรับภาระเยอะ แต่อำนาจในมือก็ครึ่งๆ กลางๆ.