ท่องโลกเงินตรา ที่พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ ขอนแก่น
จังหวัดขอนแก่นเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางยอดนิยมที่หลายคนคุ้นเคยกันดี เพราะถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของการมาเยือนดินแดนอีสาน เปรียบเสมือนเมืองหลวงของอีสาน ก็ว่าได้ ไม่ใช่จะมีแต่ความเจริญหรือทันสมัย แต่ขอนแก่นยังเต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งแหล่งขุดค้นถิ่นกำเนิดไดโนเสาร์ วัดวาอารามอันงดงาม ร้านอาหารอีสานรสชาติจัดจ้าน คาเฟ่เก๋ ๆ และธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งวิถีชีวิตของผู้คนที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์เฉพาะตัว ก็ยิ่งทำให้ขอนแก่นกลายเป็นเมืองน่าเที่ยวที่ครองใจทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ
แต่ท่ามกลางความคึกคักของเมืองใหญ่ ยังมีอีกหนึ่งมุมเงียบสงบที่เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าสนใจรอให้ค้นหา นั่นคือ “พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น” ตั้งอยู่บนถนนศรีจันทร์ในย่านเศรษฐกิจ สำคัญของเมืองขอนแก่น เป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านเงินตราไทยที่สำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดขอนแก่นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ที่นี่จึงพื้นที่แห่งการเรียนรู้ขนาดย่อมที่เปรียบเสมือนห้องเรียนประวัติศาสตร์ของเงินตราไทย มีการจัดแสดงเหรียญกษาปณ์ ธนบัตร และวัตถุโบราณที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงินการคลังในอดีต ผ่านเทคโนโลยีการนำเสนอที่ทันสมัย เข้าใจง่าย พร้อมเกร็ดความรู้มากมายที่ทั้งน่าสนใจและเพลิดเพลิน ช่วยเติมเต็มสีสันให้การท่องเที่ยวในขอนแก่นมีมิติยิ่งขึ้น
สำหรับอาคารพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น เดิมเป็นอาคารสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2511 จนหมดสัญญาเช่าที่ราชพัสดุใน พ.ศ. 2560 กรมธนารักษ์จึงปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเงินตราไทย โดยเฉพาะเงินตราท้องถิ่นของภาคอีสาน ซึ่งเป็นแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทันทีที่ก้าวเท้าเข้ามาภายในอาคารจัดแสดง สิ่งแรกที่สะดุดตาคือ “ตราสัญลักษณ์” อันเป็นเอกลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มองแวบแรกอาจนึกว่าเป็น พ.พาน แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น จะเห็นว่าแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจาก งูใหญ่หรือพญานาค ที่มีมาจากลายตอกตราประทับบนเงินฮ้อย ซึ่งเป็นเงินตราโบราณของภาคอีสานหรืออาณาจักรล้านช้าง และตามความเชื่อของชุมชนสองฝั่งลุ่มแม่น้ำโขง พญานาคคือสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์และความอุดมสมบูรณ์ จึงถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนของพิพิธภัณฑ์เงินตรา ที่ไม่เพียงแค่เก็บรักษาเรื่องราวของเงิน แต่ยังสะท้อนความเชื่อและวัฒนธรรมของผู้คนในภูมิภาคนี้ไว้ด้วย
ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ การจัดแสดงนิทรรศการถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ นิทรรศการธนารักษ์พัฒนา, นิทรรศการเงินตราภาคอีสาน และนิทรรศการเล่าเรื่องเมืองขอนแก่น เริ่มต้นกันที่ นิทรรศการธนารักษ์พัฒนา ที่เล่าเรื่องราวของภารกิจสำคัญของกรมธนารักษ์ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ในความดูแลทั้งส่วนกลางและภูมิภาคจำนวน 6 แห่ง
เดินต่อมาในห้องนิทรรศการเงินตราภาคอีสาน ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับการใช้โลหะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ การแลกเปลี่ยนสินค้าในอดีต ไปจนถึงเหรียญกษาปณ์และเงินตราไทย ซึ่งจัดแสดงไว้ใน 5 ห้องย่อยในห้องแรก นาคา ผู้คน และเงินตรา ภายในมีรูปปั้นชายชาวอีสานที่ดูเหมือนจะมีชีวิต กำลังรอให้เราไปนั่งชมวิดีทัศน์ที่ฉายเรื่องราวในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ถ่ายทอดผ่านมุมมองของนาค สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ตามความเชื่อของชาวอีสานมีหน้าที่เฝ้าสมบัติอันล้ำค่าในทุกยุคทุกสมัย
ถึงห้องที่สอง มรดกภูมิปัญญาไทยใต้ผืนดินอีสาน ชมร่องรอยของอารยธรรมโบราณที่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ใต้ผืนแผ่นดินนี้ ทั้งตราเงิน ในสมัยทวารวดี หลักฐานทางโบราณคดี รวมถึงวัฒนธรรมเขมรที่เคยรุ่งเรืองบนแผ่นดินอีสาน จากนั้นเข้าสู่ห้องที่สาม อาณาจักรล้านช้าง ยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองบนดินแดนลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านช้างเรื่อยมาจนถึงช่วงรัชกาลที่ 5 จะได้เห็นหลักฐานของการค้าขายระหว่างชุมชนต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การใช้เงินตราเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน โดยมีเจ้าเมืองทำหน้าที่ผลิตเงินตราท้องถิ่น เช่น เงินฮ้อยและเงินลาด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของล้านช้าง ก่อนที่ระบบเงินตราจะเปลี่ยนแปลงไปในยุค สยามใหม่ ที่มีการนำเหรียญกษาปณ์มาใช้แทน และยกเลิกเงินท้องถิ่น เพื่อรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง
ห้องที่สี่ อีสานยุคใหม่ สยามใหม่ สู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อการค้า ห้องนี้จัดแสดงเหรียญกษาปณ์ของไทยในช่วงรัชกาลที่ 5 - 8 จะได้สัมผัสบรรยากาศของยุคสมัยใหม่ผ่านโบกี้รถไฟ ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางห้อง เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคแห่งการพัฒนา ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมของภาคอีสาน สู่ห้องที่ห้า อีสานจากพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางการเมืองการปกครองสู่พื้นที่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต มีการจัดแสดงเหรียญกษาปณ์และเหรียญที่ระลึกในสมัยรัชกาลที่ 9-10 ที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของภาคอีสานในเวทีเศรษฐกิจไทย และความเปลี่ยนแปลงที่กำลังขับเคลื่อนไปสู่อนาคต
เดินมาถึงโซนสุดท้ายของการจัดแสดง คือ นิทรรศการเล่าเรื่องเมืองขอนแก่น ที่พาย้อนเวลาไปยังช่วงปี 2500 ยุคที่ขอนแก่นถูกกำหนดให้เป็นเมืองหลวงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้เมืองนี้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ จนกลายมาเป็นรากฐานของความเจริญในปัจจุบัน นิทรรศการนี้แบ่งออกเป็น 3 ห้องจัดแสดง เริ่มที่ห้องแรก นิราศขอนแก่น เต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งอดีต ชมวิดีโอที่พาย้อนกลับไปยังความศิวิไลซ์ของเมืองขอนแก่นในยุค 2500 พร้อมฟังนิราศขอนแก่น ผลงานของคุณโสภัณ สุภธีระ อดีต ส.ส. ขอนแก่น ที่บรรยายถึงภาพผู้คน สถานที่ และบรรยากาศของเมืองในยุคนั้นได้อย่างมีชีวิตชีวา
เข้าสู่ห้องที่สอง ขอนแก่น รากฐานจากยุคเหมืองหลวงอีสาน สู่สมาร์ทซิตี้ ห้องนี้ออกแบบอย่างน่าสนใจด้วยเสาจัดแสดงที่เรียงรายอยู่ทั่วห้อง แต่ละต้นเปรียบเสมือนเส้นใยของประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงเรื่องราวของบ้านเมืองและผู้คนเข้าด้วยกัน เสาบางต้นแอบมีลูกเล่นซ่อนอยู่เพียงก้มลงไปมอง ก็จะเห็นภาพเมืองจำลองตึกสูง หรือแม้แต่ถ่ายภาพตัวเองให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของขอนแก่นยุคก่อนปี 2500 ได้ด้วย
ปิดท้ายกันที่ ห้องที่สาม แม่นหยังน้อ สมาร์ทซิตี้ ห้องนี้ชวนเราคิดถึงอนาคตของขอนแก่น ผ่านมุมมองของคนในพื้นที่เอง ที่มาร่วมออกแบบทิศทางของเมืองไปด้วยกัน เพื่อให้ขอนแก่นกลายเป็นสมาร์ทซิตี้อย่างแท้จริงในแบบที่ตอบโจทย์คนทุกยุคทุกสมัย