โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สวทช.และพันธมิตร พาชม “แพลตฟอร์ม LEAD Education” ลดความเลื่อมล้ำด้านการเรียนรู้

สยามรัฐ

อัพเดต 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในกิจกรรม NSTDA x Press Interviews: นักวิจัย สวทช. พบปะสื่อมวลชน ในประเด็นเรื่อง โครงการ Adaptive Education Platform: แพลตฟอร์ม LEAD Education บริการติดตาม วิเคราะห์ และประเมินผลการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล โดยมีทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย เนคเทค สวทช. ผู้แทนสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ผู้อำนวยการโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนักเรียนเข้าร่วมงาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ณ ห้องประชุม 2 และห้องเรียน AI โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

·LEAD Education: ตัวช่วยสำคัญในการเรียนรู้ AI ยุคใหม่

ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย เนคเทค สวทช. ในฐานะหัวหน้าโครงการ Adaptive Education Platform กล่าวว่า แพลตฟอร์ม LEAD (LEarning analytics of ADaptive Education) หรือ LEAD Education คือการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่ผ่านการปรับให้มีความจำเพาะกับผู้เรียนรายบุคคล ที่กำลังเป็นเทรนด์การศึกษาในหลายประเทศชั้นนำ เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันมีความก้าวหน้าจนเอื้อให้นักพัฒนาเทคโนโลยีสามารถออกแบบ Adaptive Education Platform รูปแบบต่าง ๆ มาให้บริการติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านระบบอีเลิร์นนิงแบบรายบุคคล เพื่อวิเคราะห์จุดที่อาจเป็นปัญหาในการเรียนรู้ และแนะนำเนื้อหาที่ควรทบทวนหรือควรศึกษาเพิ่มเติมตามหลักคิด Adaptive Education แบบอัตโนมัติได้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้นอกจากจะทำหน้าที่เป็นโค้ชส่วนบุคคลให้แก่ผู้เรียนได้แล้ว ยังเป็นผู้ช่วยที่ทำให้ครูและอาจารย์ทำงานด้านการติดตามคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในเวลาที่น้อยลง

“หัวใจสำคัญ คือ แพลตฟอร์ม LEAD ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นให้เป็นระบบที่ชาญฉลาดในการติดตาม วิเคราะห์ และประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนแบบเฉพาะบุคคล ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย LEAD จะช่วยปรับการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับศักยภาพและความต้องการของนักเรียนแต่ละคน ทำให้การเรียน AI ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป” ดร.เสาวลักษณ์ ระบุ

ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด หัวหน้าทีมวิจัย

ทั้งนี้ทีมวิจัยได้นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการศึกษามาใช้ออกแบบ เพื่อให้บริการแก่ครูและอาจารย์ในประเทศไทย โดยปัจจุบันภายใต้แพลตฟอร์มนี้มีเทคโนโลยีติดตามกระบวนการเรียนรู้ผ่านระบบอีเลิร์นนิงที่พร้อมให้บริการแล้ว 4 เทคโนโลยี ได้แก่

1.เทคโนโลยี BookRoll เทคโนโลยีติดตามการอ่านเอกสารสื่อการเรียนรู้ที่เป็นไฟล์ PDF เพื่อระบุว่าผู้เรียนใช้เวลาอ่านเนื้อหาส่วนไหนมากเป็นพิเศษ มีการขีดเน้นส่วนสำคัญและส่วนที่อ่านแล้วไม่เข้าใจตรงจุดใดบ้าง

2. KidBright Simulator เทคโนโลยีติดตามการเรียนรู้ทักษะโค้ดดิง (coding) ผ่านการฝึกเขียนโค้ดในรูปแบบบล็อก (Blockly) โดยระบบจะติดตามความเร็วในการต่อบล็อกแต่ละส่วน จุดที่นำบล็อกออกแล้วต่อใหม่ รวมถึงช่วยนับจำนวนบล็อกที่ใช้ต่อทั้งหมด ซึ่งการติดตามทั้งหมดนี้จะช่วยประเมินทักษะการคิดวิเคราะห์และความเข้าใจเรื่องการเขียนโค้ดของผู้เรียนได้

3. VIOLA (Video Interaction and Online Learning Analytics) เทคโนโลยีติดตามการเรียนรู้ผ่านสื่อวิดีโอมีการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียนกับเนื้อหาวิดีโอ เช่น ระยะเวลาที่ใช้ดูวิดีโอ อัตราการดูซ้ำ หรือคะแนนจากแบบทดสอบในวิดีโอ เพื่อนำมาประเมินความเข้าใจในเนื้อหาวิดีโอ

และ 4. Abdul for Education เทคโนโลยีติดตามการตอบคำถามในระบบแชตบอตเพื่อวัดความเข้าใจ ระบบจะติดตามว่าคำตอบที่ผู้เรียนเลือกหรือพิมพ์ตอบนั้นถูกต้องหรือแสดงถึงความเข้าใจเนื้อหาที่เรียนหรือไม่

“สวทช. มุ่งหวังให้คุณครูผู้สามารถพัฒนาเยาวชนของเราให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AI อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น คุณค่า ประโยชน์ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการเสริมสร้างทักษะในการสร้าง AI ได้ด้วยตนเองอย่างมีความรับผิดชอบและรู้เท่าทัน ด้วยเครื่องมือทั้งหมดนี้จะช่วยให้ทั้งผู้เรียน ผู้สอน รวมถึงผู้ออกแบบเนื้อหาทราบถึงปัญหาที่ผู้เรียนกำลังเผชิญได้ทันที และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างรวดเร็ว โดยเน้นการปูพื้นฐานความรู้ AI ที่แข็งแกร่งให้กับเยาวชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของประเทศในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลดีต่ออนาคตของชาติ”

เอกสิทธิ์ ปิยะแสงทอง

นายเอกสิทธิ์ ปิยะแสงทอง ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า สพฐ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างรอบด้าน และเชื่อว่าเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม LEAD Education จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ครูผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และตอบสนองความต้องการของผู้เรียนแต่ละบุคคลได้อย่างแท้จริง แพลตฟอร์มนี้ไม่เพียงช่วยเติมเต็มช่องว่างการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีพื้นฐานแตกต่างกัน แต่ยังช่วยส่งเสริมให้นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษได้พัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ ได้ทุกที่ทุกเวลาตามความสนใจของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ สพฐ. ที่มุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง

“Adaptive Education Platform โครงการนี้ตั้งเป้าหมายที่จะเข้าถึง โรงเรียน 750 แห่ง คุณครูประมาณ 1,400 คน และนักเรียนไม่น้อยกว่า 140,000 คน ทั่วประเทศ เพื่อให้ครูและนักเรียนได้สัมผัสกับประสบการณ์การเรียนรู้แบบใหม่ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศในยุคที่เทคโนโลยี AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกมิติ” นายเอกสิทธิ์ กล่าว

ดร.จีระพร สังขเวทัย

ดร.จีระพร สังขเวทัย ผู้อำนวยการสาขาเทคโนโลยี สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) กล่าวว่า สสวท. ได้ริเริ่มการออกแบบหลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งประเทศไทยเป็นชาติแรก ๆ ในเอเชียที่มีหลักสูตร AI ในโรงเรียน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2567 ซึ่งมีแนวคิดสำคัญมาจาก แนวทาง AI4K12 และ AI Competency Framework for Students ขององค์การยูเนสโก (UNESCO) ทั้งสองแนวทางได้ถูกผนวกและปรับใช้เพื่อให้เหมาะสมกับระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจเทคโนโลยี AI อย่างถูกต้อง สามารถใช้งานได้จริง และตระหนักถึงจริยธรรมและผลกระทบของ AI ต่อสังคม ซึ่งโครงสร้างหลักสูตรของระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา มีความใกล้เคียงกัน อาจมีการปรับเปลี่ยนบางโมดูล เพื่อให้เหมาะสมกับระดับชั้นปี โครงสร้างหลักสูตรประกอบด้วย 5 โมดูล ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ AI ไปจนถึงเทคนิค Supervised Learning การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) และคอมพิวเตอร์วิชัน (Computer Vision) พร้อมทั้ง Generative AI เพื่อปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์อย่างรับผิดชอบ

"ทักษะที่ผู้เรียนได้รับครอบคลุมการคิดเชิงคำนวณ การวิเคราะห์ข้อมูล การออกแบบระบบ AI และจริยธรรม AI ที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ศักยภาพเหล่านี้ต่อยอดสู่นวัตกรรมดิจิทัล เปิดโอกาสสร้างเยาวชนที่จะเติบโตเป็นนักพัฒนาประเทศรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวสู่ยุค AI อย่างยั่งยืน" ดร.จีระพร กล่าว

กรกันต์ ดิตถ์อัศวณิช ครูกลุ่มสาระฯวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

·Adaptive Education Platform" พลิกโฉมการเรียนรู้ สร้างนักเรียนยุคใหม่ สู่โลก AI

นายกรกันต์ ดิตถ์อัศวณิช ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว เปิดเผยว่า จากการนำ "แพลตฟอร์ม LEAD Education" มาใช้ในการเรียนการสอน ส่งผลดีอย่างมากต่อนักเรียน โดยเฉพาะในการจัดการกับความแตกต่างด้านพื้นฐานและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน แพลตฟอร์มนี้ไม่เพียงเป็นเครื่องมือช่วยครู แต่ยังเป็นสะพานเชื่อมให้นักเรียนได้เรียนรู้ในแบบฉบับของตนเอง พร้อมรับมือกับโลกยุค AI ได้อย่างมีคุณภาพ

“แพลตฟอร์มนี้ช่วยปิดช่องว่างการเรียนรู้ของนักเรียน จากปัญหาหลักของการเรียนการสอนแบบเดิมคือการที่นักเรียนมีความรู้และทักษะพื้นฐานที่แตกต่างกัน ทำให้ครูยากที่จะติดตามและประเมินความเข้าใจของทุกคนได้อย่างทั่วถึง แต่เมื่อนำแพลตฟอร์ม LEAD Education มาใช้ในรูปแบบ "Flipped Classroom" ซึ่งครูออกแบบให้นักเรียนศึกษาเนื้อหาล่วงหน้านอกห้องเรียน และกลับมาทำกิจกรรมร่วมกันในชั้นเรียน ปัญหาดังกล่าวก็ได้รับการแก้ไข โดยนักเรียนสามารถเข้าไปศึกษาคลิปวิดีโอ ทบทวนเนื้อหา หรือเรียนซ้ำได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เรียนรู้ช้าหรือเร็ว เหล่านี้คือข้อดีที่แตกต่างจากการสอนในห้องเรียนที่ เมื่อครูบรรยายจบก็คือจบ ถ้านักเรียนไม่ถาม ครูก็จะไม่รู้เลยว่านักเรียนไม่เข้าใจตรงไหน"

บรรยากาศสอนวิชาเรียนของครูกรกันต์

นายกรกันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างการสอนใน Module จริยธรรมและความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ AI นักเรียนสามารถศึกษาเนื้อหาเรื่องวิวัฒนาการของ AI ได้ด้วยตนเองก่อน แล้วจึงมาทำกิจกรรมร่วมกันในชั้นเรียน เช่น นำมาเล่นเกมตอบคำถาม และสรุปเนื้อหา ซึ่งหากนักเรียน ลืมหรือต้องการทบทวนก็สามารถกลับไปดูคลิปหรือเอกสารประกอบการเรียนได้ตลอดเวลา ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ซ้ำที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้แพลตฟอร์มยังมี Dashboard ให้ครูสามารถวิเคราะห์และออกแบบการสอนเฉพาะบุคคล โดยจะแสดงผลภาพรวมการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นเปอร์เซ็นต์ความก้าวหน้าในการเรียน คะแนนจากการทำแบบทดสอบ ทำให้อาจารย์สามารถวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยของนักเรียนได้อย่างแม่นยำ และสามารถจัดกลุ่มหรือออกแบบกิจกรรมเสริมที่ตอบสนองความต้องการของนักเรียนแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอยากให้ทีมวิจัยพัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์มและระบบดังกล่าว เช่น พัฒนาระบบให้เป็นเสมือนนิเวศทางการเรียนรู้ หรือ Ecosystem ที่สมบูรณ์แบบ ครอบคลุมตั้งแต่การลงทะเบียนเรียน การรับส่งงาน การทำกิจกรรม ไปจนถึงการประเมินผลการเรียน เพื่อให้ครูสามารถบริหารจัดการชั้นเรียนได้อย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้โครงการ Adaptive Education Platform เป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับการศึกษาไทยให้ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนในยุคดิจิทัล และสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพพร้อมรับมือกับความท้าทายในโลกอนาคต

ห้องเรียน AI โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว

เช่นเดียวกับ นายเทพพิทักษ์ เทียมยศ ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว กล่าวเสริมว่า การนำแพลตฟอร์ม LEAD Education มาใช้ในการเรียนการสอนอย่างได้ผลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาที่เกี่ยวข้องกับความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ AI และจริยธรรม AI ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ ที่ไม่สามารถติดตามความเข้าใจของนักเรียนแต่ละคนได้อย่างทั่วถึง ทำให้อาจารย์ติดตามความก้าวหน้าของนักเรียน พร้อมประเมินความเข้าใจของนักเรียนได้เบื้องต้นและสามารถนำมาปรับใช้กับการสอนได้สะดวกและรวดเร็ว นอกจากนี้ประโยชน์ที่นักเรียนได้รับคือการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ทั้งการเข้าถึงเนื้อหา และทบทวนบทเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้นักเรียนได้สัมผัสกับการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ได้ใช้ทักษะการค้นคว้าข้อมูล การใช้เครื่องมือออนไลน์ และการโต้ตอบกับแชตบอตซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในยุคดิจิทัล.

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก สยามรัฐ

"ปิยบุตร" แนะรักษาการนายกฯยุบสภา ป้องกันสุญญากาศทางการเมือง

24 นาทีที่แล้ว

หนุ่มเมาหัวร้อนญาติไม่มาประกัน สาวหมัดใส่สิบเวร ตร.บก.จร.ดั้งหักหน้ายับ

28 นาทีที่แล้ว

"สามเณรีเจนี่" เดินรับบาตร ท่ามกลางความปลื้มปีติเพื่อนสนิท

29 นาทีที่แล้ว

จีนหวังไทยมีเสถียรภาพหลังศาลรธน.สั่งแพทองธารหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ

32 นาทีที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

5P ของ ‘Charlee and Friends’ เจ้าของสลัชชี่โกโก้สุดไวรัล ที่ทำเองตั้งแต่ปลูกถึงชงลงแก้ว

Capital

Travis Scott เปิดตัวสมูทตี้เมนูใหม่ร่วมกับ Erewhon ในชื่อ Storm Storm Smoothie

THE STANDARD

ถอดรหัส! 10 พฤติกรรมสุดคิวต์ที่น้องแมวพยายามบอกว่า "รักนะ จุ๊บๆ"

คมชัดลึกออนไลน์

BABYMONSTER ปล่อยซิงเกิล Hot Sauce ที่มาพร้อมดนตรีสไตล์ฮิปฮอปยุค 80

THE STANDARD

Molto ออกไอศกรีมรสชาติพิเศษ “TASTE เด็กเจนแซ่บ” ร่วมกับ LINE MAN และ แอป oneD

Gourmet & Cuisine

ใบขับขี่หมดอายุ ต้องต่อภายในกี่วัน ถ้าเกินหนึ่งปีต้องทำอย่างไร

ThaiNews - ไทยนิวส์ออนไลน์

บันยันทรี กรุงเทพ เปิดตัว “เรือแซฟฟรอน ครูซ” โฉมใหม่ ถ่ายทอดเสน่ห์ปลากัดไทยบนสายน้ำเจ้าพระยา

Gourmet & Cuisine

5 เรื่องที่ต้องรู้ ก่อนแพ็คกระเป๋าไปพิชิตยอดฟูจิซัง ฉบับปี 2025

SpringNews

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...