สบอ.7 ตรวจเข้มตามข้อร้องเรียน! พบสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งครอบครอง ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง
เมื่อวานนี้ (21 กรกฎาคม 2568) คณะพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) โดยส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าและส่วนส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร ได้ร่วมตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ บริเวณสวนอาหารในตำบลหัวทะเล อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานปศุสัตว์เขต 3, เทศบาลตำบลหัวทะเล และสวนสัตว์นครราชสีมา
การตรวจสอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครอง ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครอง พ.ศ. 2565 จำนวน 3 ชนิด 5 ตัว ได้แก่ เต่าบกลายจักร หรือ เต่าลายรัศมี มีชีวิต จำนวน 2 ตัว, นกกระตั้วโมลัคกัน หรือ นกกระตั้วใหญ่หงอนสีชมพู มีชีวิต จำนวน 2 ตัว และนกแก้วเทาแอฟริกัน มีชีวิต จำนวน 1 ตัว สัตว์ป่าควบคุมดังกล่าวถูกเลี้ยงอยู่บริเวณหลังบ้านเลขที่ 1811 หมู่ที่ 1 ตำบลหัวทะเล อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยเต่าบกลายจักรทั้ง 2 ตัว ถูกกักพื้นที่อยู่ในคอกใหญ่ (สนามหญ้า), นกกระตั้วโมลัคกันทั้ง 2 ตัว ถูกขังในกรงใหญ่ และนกแก้วเทาแอฟริกัน ถูกขังในกล่องเคลื่อนย้ายสัตว์ ไม่มีหลักฐานการแจ้งครอบครองสัตว์ป่าควบคุมดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 แต่อย่างใด ถือเป็นการกระทำความผิดตาม มาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ฐานความผิดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าควบคุมเฉพาะชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครอง พ.ศ. 2565) โดยมิได้แจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้กระทำผิดจะต้องรับโทษตาม มาตรา 90 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คณะพนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา พร้อมตรวจยึดของกลาง ได้แก่ เต่าบกลายจักร หรือ เต่าลายรัศมี มีชีวิต จำนวน 2 ตัว, นกกระตั้วโมลัคกัน หรือ นกกระตั้วใหญ่หงอนสีชมพู มีชีวิต จำนวน 2 ตัว และนกแก้วเทาแอฟริกัน มีชีวิต จำนวน 1 ตัวต่อไป ทั้งนี้ได้รับมอบของกลางจากตำรวจเพื่อส่งมอบให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าดูแลรักษาต่อไป
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช