บาทปรับตัวแข็งค่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการค้าโลก
เงินบาทปรับตัวแข็งค่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการค้าโลก หลังสหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้า EU-เม็กซิโก 30%
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/7) ที่ระดับ 32.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/7) ที่ระดับ 32.49/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (12/7) ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศผ่านช่องทางทรูธโซเชียล (Truth Social) ว่าสหรัฐจะเรียกเก็บภาษีอัตรา 30% กับสหภาพยุโรป (EU) และเม็กซิโก โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค. 2568
โดยรายละเอียดในจดหมาย นายทรัมป์ระบุว่า เม็กซิโกได้พยายามสกัดกั้นการหลั่งไหลของผู้อพยพผิดกฎหมายและยาเฟนทานิลเข้าสู่สหรัฐ แต่อย่างไรก็ตามยังคงไม่พอที่จะหยุดยั้งอเมริกาเหนือไม่ให้เป็นแหล่งซ่องสุมการค้ายาเสพติด สำหรับสหภาพยุโรป (EU) นายทรัมป์กล่าวว่า การขาดดุลการค้าของสหรัฐต่อ EU นั้นถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ
อย่างไรก็ตามเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้ออกมาแถลงการณ์ในวันเดียวกันว่า การที่สหรัฐเรียกเก็บภาษี 30% สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU) นั้นจะส่งผกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานระหว่างสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก โดยสร้างความเสียหายต่อธุรกิจและผู้บริโภค
ทั้งนี้ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EU) ได้เน้นย้ำว่าจะเจรจาเพื่อหาข้อบรรลุร่วมกันและพร้อมจะปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของ EU หากการเจรจาไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และพร้อมที่จะใช้มาตรการตอบโต้หากจำเป็น
นอกจากนี้ทางเม็กซิโกก็ได้ออกมาแถลงการณ์ในวันเดียวกันว่าการที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีถึง 30% นั้นไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง พร้อมกล่าวว่าเพื่อปกป้องภาคธุรกิจและการจ้างงานทั้งสองฝั่งชายแดน ทั้งสองประเทศตกลงที่จะจัดตั้งคณะทวิภาคี เพื่อแก้ไขประเด็นต่าง ๆ และเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับใช้มาตรการภาษีนี้
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ วันนี้ (14/7) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงเรื่องการเจรจาภาษีสหรัฐว่าทางไทยยังยึดมั่นจุดยืนในการเจรจากับสหรัฐ โดยไทยจะเปิดตลาดให้กว้างขึ้นเป็นประเภทสินค้าที่สหรัฐอยากขาย และที่ไทยอยากซื้อ แต่จะพิจารณาไม่ให้กระทบกับการทำ FTA ประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ยังต้องการส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจไทยที่อยู่ในสหรัฐ เนื่องจากสหรัฐต้องการเพิ่มมูลค่าการส่งออกและทำให้ฐานผลิตในประเทศแข็งแรงขึ้น
และสุดท้ายคือการให้ความสำคัญกับการป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้า โดยข้อเสนอของสหรัฐจะเป็นการเพิ่มการใช้ส่วนประกอบหรือวัตถุดิบที่มีการผลิตในประเทศไทย (Local Content) โดยอาจจะเพิ่มเป็น 60-70% ที่เป็นต้นทุนที่จะใช้ Local Content จากไทย เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ ทั้งนี้นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทยได้กล่าวว่า ไทยจะต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และควรจะพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิต
ยิ่งไปกว่านั้นในปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะคน ด้านการท่องเที่ยวรวมถึงด้านอาหารมากขึ้น เพราะจะช่วยส่งเสริมให้ประเทสมีความยั่งยืน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.37-32.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 32.39/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/7) ที่ระดับ 1.1695/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/7) ที่ระดับ 1.1694/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กล่าวว่าจะยังคงดำเนินการนโยบายทั้งสองทางโดยการเปิดโต๊ะเจรจาและเตรียมมาตรการตอบโต้ควบคู่กันไป และการที่ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้ย้ำตลอดว่าต้องการหาทางออกผ่านการเจรจานั้น สะท้อนให้เห็นว่าสหภาพยุโรปต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาสงครามการค้า ตราบใดที่้ยังมีโอกาสเจรจา
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีฟรีดริช แมร์ซ ของเยอรมนีกล่าวว่า หากผลกระทบของภาษีนำเข้าของสหรัฐนั้นเกิดขึ้นจริง ทางเยอรมนีคงต้องชะลอแผนนโยบายเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไว้ก่อน เพราะอาจส่งผลรุนแรงถึงอุตสาหกรรมส่งออกของเยอรมนี ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสงครามการค้านี้ ทางสหภาพยุโรปได้พยายามที่จะสร้างพันธมิตรเพิ่ม
โดยล่าสุดฟอน เดอร์ เลเยน ประกาศว่าได้บรรลุข้อตกลงกับอินโดนีเซียแล้วเรื่องการเมือง เพื่อเป็นการเดินหน้าของข้อตกลงทางการค้า ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1651-1.1697 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1684/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/7) ที่ระดับ 146.93/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/7) ที่ระดับ 146.99/00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ (14/7) สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นายทรัมป์กล่าวว่าเมื่อเทียบกับสหภาพยุโรปเรื่องการเปิดประเทศ ญี่ปุ่นนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาก และยังกล่าวถึงเรื่องการนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่น
โดยระบุว่าทางญี่ปุ่นขายรถยนต์ให้กับสหรัฐหลายล้านคันต่อปี แต่ทางญี่ปุ่นไม่ยอมรับสินค้าทั้งรถยนต์รวมถึงสินค้าเกษตรจากทางสหรัฐเลย อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นเปลี่ยนท่าทีการเจรจาอย่างรวดเร็วหลังจากที่ทางสหรัฐ ส่งจดหมายเรียกเก็บภาษีนำเข้าญี่ปุ่นที่ 25% ซึ่งส่งสัญญาณถึงความคืบหน้าและบรรลุข้อตกลงในไม่ช้านี้ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 146.86-147.22 เบย/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 147.22/23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับปัจจัยที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2568 ของจีน (15/7), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน มิ.ย. ของสหรัฐ (15/7), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน มิ.ย.ของสหรัฐ (16/7), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (7/7), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (17/7), ยอดค้าปลีกเดือน มิ.ย.ของสหรัฐ (17/7), ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือน มิ.ย.ของสหรัฐ (17/7), และอัตราเงินฟ้อเดือน มิ.ย.ของญี่ปุ่น (18/7)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.1/-7.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5/-4.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : บาทปรับตัวแข็งค่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการค้าโลก
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net