กล้าพูด!'เตียบัญ'อยู่เป็นโต้กล่าวหาฝ่ายไทย บอกไม่มีแล้ว'สแกมเมอร์'ในกัมพูชา
สื่อมวลชนเขมร อ้างคำพูดของอดีตรัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา ปฏิเสธคำกล่าวหาของพวกเจ้าหน้าที่ไทย ที่บอกว่ากัมพูชามีรายได้จากสแกมออนไลน์ ท่ามกลางการออกมาแฉขององค์กรระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในศูนย์เหล่านี้ ระบุรายงานข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องเก่าล้าสมัย และกลุ่มสแกมเมอร์ไม่เหลืออยู่ในกัมพูชาแล้ว
เตีย บัญ อดีตรัฐมนตรีกลาโหม ปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่ระบุว่าเศรษฐกิจกัมพูชาได้รับการสนับสนุนจากศูนย์คอลเซ็นเตอร์ฉ้อโกงและการพนันออนไลน์ "นี่คือมุมมองของผม ผมไม่ได้พูดในนามของรัฐบาล" เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนท้องถิ่นเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว และสำนักข่าวคิริโพสต์ สื่อภาคภาษาอังกฤษ ที่มีสำนักงานในกรุงพนมเปญ นำมารายงานต่อในวันอาทิตย์(13ก.ค.)
เขาเน้นย้ำว่ากัมพูชาหลุดพ้นจากสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากที่ไม่เหลืออะไรเลย และอยู่รอดมาเกือบ 30 ปี พร้อมๆกับธำรงไว้ซึ่งสันติ
คิริโพสต์รายงานว่าความเห็นของ เตีย บัญ มีขึ้นหลังจากสำนักข่าวบางกอกโพสต์ สื่อมวลชนไทย รายงานเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน อ้างคำกล่าวของนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม ซึ่งกล่าวหากัมพูชา เป็นแหล่งที่ตั้งของเครือข่ายอาชญากรรมไซเบอร์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
รายงานของคิริโพสต์ ระบุต่อว่าเมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม ตำรวจไซเบอร์ของไทยทำการจู่โจมที่ตั้ง 19 แห่งทั่วกรุงเทพฯ, สมุทรปราการและชลบุรี ที่ว่ากันว่ามีความเกี่ยวข้องกับนายก๊กอาน นักธุรกิจคนดังชาวกัมพูชา ผู้ซึ่งพวกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังเครือข่ายสแกมเมอร์ในปอยเปต
ในรายงานของคิริโพสต์อ้างคำแถลงของนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกรัฐบาลไทย ที่เผยว่าจะให้ความร่วมมือกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และองค์การนิรโทษกรรมสากล ในการต่อสู้กับการฉ้อโกงทางออนไลน์ ที่เชื่อว่ามีต้นทางจากกัมพูชา
ทางคิริโพสต์รายงานว่า ในเรื่องนี้ทางกัมพูชา ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างกระทรวง สำหรับจัดการกับสแกมออนไลน์ ซึ่งมีหน้าที่ป้องกัน ปราบปรามและดำเนินคดีกับการฉ้อโกลทางดิจิทัล
ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากองค์การนิรโทษกรรมสากล เผยแพร่รายงานในชื่อเรื่อง “I was someone else’s property’: Slavery, human trafficking and torture in Cambodia’s scamming compounds” เปิดโปงเกี่ยวกับวิกฤตด้านมนุษยชนในประเทศกัมพูชา และดูเหมือนจะหนักหน่วงขึ้นนับตั้งแต่ปี 2022 ตามรายงานของคิริโพสต์
ในเอกสารได้ระบุที่ตั้งศูนย์สแกม 53 แห่ง ที่มีเหตุล่วงละเมิดต่างๆนานา ในนั้นรวมถึงค้ามนุษย์ ทรมาน บังคับใช้แรงงานทาสและบังคับใช้แรงงานเด็ก กักขังหน่วงเหนี่ยวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทาสสมัยใหม่
องค์การนิรโทษกรรมสากลอ้าวว่าพวกเขาได้ลงพื้นที่กว่า 50 แห่งใน 16 เมืองของกัมพูชา และได้ทำการซักถามผู้อยู่รอด 58 คน จาก 8 ประเทศ ในนั้นรวมถึงเด็ก 9 ราย นอกจากนี้แล้วยังได้พูดคุยกับองค์กรระหว่างประเทศและภายในประเทศมากกว่า 10 แห่ง และพยานอีกกว่า 20 ปี ในนั้นรวมถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย, คนขับรถและชาวบ้านท้องถิ่น
รายงานของนิโทษกรรมสากลระบุว่ารัฐบาลกัมพูชา "ล้มเหลวในการทำหน้าที่ป้องกัน สืบสวนและจัดการวิกฤต และบ่งชี้ว่ามีการยอมรับหรือกระทั่งสมคบคิดละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆนานา"
โฆษกกระทรวงมหาดไทยกัมพูชา บอกว่า "เราไม่ปฏิเสธมันโดยสิ้นเชิง แต่เราก็ไม่ยอมรับมันแบบ 100% เช่นกัน" อย่างไรก็ตามเขาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับช่วงเวลาของการเผยแพร่รานงานฉบับนี้ โดยเรียกมันว่า "ล้าสมัยไปแล้ว"
(ที่มา:คิริโพสต์)
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO