ป.ป.ช.รุกฆาตแพทองธาร อิ๊งค์ซื้อเวลาสู้คดี ศาลรธน.
เป็นไปตามคาด ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจกับการที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี-รมว.วัฒนธรรม จะยื่นขอ ขยายเวลาในการส่งเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ต่อ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ในคดีถูกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องขอถอดถอนออกจากตำแหน่งกรณีคลิปเสียงฮุน เซน ที่จะครบกำหนดช่วงกลางสัปดาห์นี้ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ส่งเอกสารภายใน 15 วัน จากวันที่ศาลรับคำร้องเมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่จะครบช่วง 16-17 ก.ค.
โดยท่าทีการขอขยายเวลาดังกล่าว เป็นการเปิดเผยจาก “รักษาการนายกฯ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย” ที่เป็นผู้จัดการรัฐบาลและมือขวาของ ทักษิณ ชินวัตร และเมื่อแพทองธารขอขยายเวลา เรื่องก็จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่สัปดาห์นี้ประชุมกันวันที่ 17 ก.ค. และศาลจะไฟเขียวให้ขยายเวลา เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการสู้คดีของ "ผู้ถูกร้อง" หรือแม้แต่กับ "ผู้ร้อง" ที่สามารถขอขยายเวลาในการนำส่งเอกสารต่อศาล รธน.ได้
เมื่อ "แพทองธาร" ขอขยายเวลาสู้คดีออกไปอีก 15 วัน ก็ทำให้กระบวนการไต่สวนคำร้องคดีดังกล่าวก็จะถูกขยายเวลาออกไปอีกครึ่งเดือน และยังเหลือขั้นตอนการ นำส่งเอกสาร-ตอบโต้ทางเอกสาร ระหว่างผู้ร้องคือกลุ่ม สว. 36 คน กับผู้ถูกร้อง แพทองธาร อีกอย่างน้อย 3 ขั้นตอน ที่ก็ยังขยายเวลากันได้อีกเช่นกัน
ทำให้แนวโน้มกว่าจะรู้ผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.ในคดีนี้ ก็น่าจะอยู่ในช่วงปลายเดือนกันยายนหรือภายในตุลาคม ยกเว้น "แพทองธาร" ตลบหลัง ชิงลาออกจากนายกฯ และ รมว.วัฒนธรรม ก่อนศาล รธน.นัดอ่านคำวินิจฉัย แต่ดูจากหน้างานตอนนี้ยังถือว่าแพทองธารยังไม่ถอดใจ ขอสู้ต่อไป
ท่ามกลางกระแสข่าวทางการเมืองที่ออกมาว่า เอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของแพทองธารในการสู้คดีเพื่อให้ตัวเองยังได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป และไม่มีชนักติดหลัง ถูกตีตราว่าเป็นนายกฯ ที่ไม่รักชาติ ทำผิดมาตรฐานจริยธรรม ที่จะกลายเป็น รอยด่างทางการเมือง ตลอดชีวิตหากแพ้คดี เอกสารดังกล่าวร่ำลือกันว่า คงจะร่างประเด็นคำชี้แจงและประเด็นข้อต่อสู้ไว้ครบหมดแล้ว โดยมีการตรวจทานและสกรีนถ้อยคำ รวมถึงตรวจสอบประเด็นข้อกฎหมายจากทีมงานฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล-บ้านจันทร์ส่องหล้าและพรรคเพื่อไทยหลายคน เช่น ชูศักดิ์ ศิรินิล, ชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด, พิชิต ชื่นบาน
ข่าวบางกระแสสังเคราะห์ไว้ว่า ประเด็นการโต้แย้งข้อกล่าวหาของ สว.และการยกข้อกฎหมายมาสู้คดีของแพทองธาร ในเอกสารที่จะยื่น คงจะมีการลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนจะมีการโทรศัพท์พูดคุยกันระหว่าง ฮุน เซน และแพทองธาร ตลอดจนการชี้แจงเพื่อทำให้ศาล รธน.เห็นว่า คลิปเสียงดังกล่าวอัดและเผยแพร่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและสิทธิส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย จึงไม่สมควรให้น้ำหนักและรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการไต่สวนคดี และสิ่งที่ได้ดำเนินการไป ก็เป็นเพียงการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ เพราะฮุน เซน ไม่ได้มีตำแหน่งทางการในคณะรัฐบาลของกัมพูชา และเป็นการพูดคุยด้วยโทรศัพท์ส่วนตัวและพูดคุยนอกเวลาราชการ รวมถึงการยกข้อต่อสู้มาอ้างว่า ตลอดการพูดคุยดังกล่าว นายกฯ แพทองธารไม่ได้มีการตกปากรับคำใดๆ กับฮุน เซน ในอันที่จะส่งผลต่ออธิปไตยของประเทศชาติ และเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศอย่างที่ถูก สว.ระบุในคำร้อง จึงไม่ถือว่ามีพฤติการณ์เข้าข่ายทำผิดรัฐธรรมนูญและฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมตามคำร้องแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันก็เป็นไปได้ที่ในช่วงท้ายๆ ของกระบวนการสู้คดี ฝ่ายกฎหมาย-ทีมทนายความของแพทองธารอาจร้องขอต่อศาล รธน.เพื่อให้มีการเปิดห้องพิจารณาคดีไต่สวน เพื่อจะได้นำพยานที่เกี่ยวข้องและอยู่ในเหตุการณ์ตอนก่อนช่วงที่จะมีการโทรศัพท์คุยกันระหว่างแพทองธารกับฮุน เซน เข้าให้ถ้อยคำต่อศาล รธน.เพื่อช่วยแพทองธารอีกทางหนึ่ง เพราะอาจมองว่าการขึ้นให้ถ้อยคำต่อศาล รธน.ย่อมดีกว่าแค่การส่งเอกสารชี้แจง ที่พยานก็คงไม่พ้นบุคคลที่ทักษิณ ชินวัตร เคยระบุว่ามีการไปรอโทรศัพท์จะคุยกับ ฮุน เซน ที่โรงแรมโรสวูด คือ ภูมิธรรม เวชยชัย สมัยเป็น รมว.กลาโหม, มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ
โดยประเด็นข้อต่อสู้ในทางคดี “นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี” แพลมไว้ว่า ข้อเท็จจริงทั้งหมดจะเห็นเจตนานายกรัฐมนตรี คำนึงถึงการคุยกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม แม้แต่การรับสายส่วนตัว และคุยนอกเวลางาน และนายกฯ ไม่ได้รับปากอะไร หากมีความจำเป็นต้องยืนยัน เราก็อยู่ในเหตุการณ์ มีหลักฐานครบ มีพยานเยอะ ไม่ได้มีอะไรอย่างที่เขากล่าวหา
เมื่อแพทองธารจะใช้สิทธิ์ขอขยายเวลาการสู้คดี ก็ทำให้มีเวลาหายใจหายคอมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปมคลิปเสียงฮุน เซน ไม่ใช่คดีที่ศาล รธน.เท่านั้นที่ตามหลอนแพทองธารให้ผวาดหลุดจากเก้าอี้ เพราะ สว.ได้ยื่นคำร้องแบบคู่ขนาน โดยยื่นไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ควบคู่ไปด้วย
ซึ่งมีรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์แต่งตั้งองค์คณะไต่สวนแพทองธาร ตามคำร้องของ สว.ที่ยื่นเอาผิดฐานฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม แถมมาแบบเอ็กซ์ตรีม สุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธาน ป.ป.ช. และประภาศ คงเอียด กรรมการ ป.ป.ช. ที่เป็น 2 อดีตผู้พิพากษา ร่วมเป็นองค์คณะไต่สวน
เท่ากับแพทองธารโดนรุกฆาตแบบคู่ขนานในคดีคลิปเสียง ทั้งที่ศาล รธน.ที่รูปคดีก็จ่อคอหอยเข้ามาเรื่อยๆ ยังไงไม่เกินตุลาคมคงรู้ดำรู้แดง ว่าจะอยู่หรือไป
ส่วนคดีที่ ป.ป.ช.คงอีกนานพอสมควรกว่าจะเห็นตอนจบ ตามสไตล์การทำงานของ ป.ป.ช.ที่ทำแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ และถึงต่อให้ ป.ป.ช.ชี้มูลเอาผิด ก็ยังต้องส่งศาลฎีกาให้เป็นผู้ตัดสิน ทำให้นับจากนี้ยังไงก็ใช้เวลาร่วมปีหรือ 1 ปีครึ่ง เผลอๆ ตอนนั้นแพทองธารอาจหลุดจากนายกฯ จากคำวินิจฉัยของศาล รธน.หรือมีการยุบสภาฯ กันไปแล้ว
กระนั้นมันก็ไม่เป็นผลดีกับแพทองธารที่ ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนเอาผิด เพราะหากไม่รอด คดีไปที่ศาลฎีกาแล้วโดนตัดสินว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ก็อาจโดนดาบสอง เพราะดาบแรก หากไม่รอดที่ศาล รธน.จนหลุดจากนายกฯ และมีชนักติดหลังว่าฝ่าฝืนจริยธรรม แล้วมาถูกศาลฎีกาตัดสินเอาผิด ฟันเข้ากลางหลังอีกดาบ ดาบนี้เสี่ยงถึงขั้นโดนตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต ตามรอยหลายคนก่อนหน้านี้ เช่น เอ๋-ปารีณา ไกรคุปต์, ช่อ-พรรณิการ์ วานิช จนตระกูลชินวัตรหมดตัวเล่นในกระดานการเมืองไปอีก 1 คน.