อึ้งสาเหตุ ชายไม่สูบบุหรี่ ป่วยมะเร็งปอดเพราะ "เมียขี้บ่น" ความเครียดกระตุ้นโรคร้าย
ชายป่วยมะเร็งปอด ทั้งที่ไม่สูบบุหรี่ หมอวิเคราะห์สาเหตุ "เมียขี้บ่น" เป็นปัจจัยสำคัญกระตุ้นโรคร้าย
ชายวัย 55 ปีในเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน แม้จะใช้ชีวิตอย่างมีระเบียบ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่กลับตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอด เมื่อแพทย์ซักประวัติเพิ่มเติม จึงพบว่าสาเหตุหลักไม่ได้มาจากพฤติกรรมส่วนตัว แต่เกิดจากสภาพแวดล้อมในบ้าน โดยเฉพาะภรรยาที่ชอบบ่นจนทำให้เขาเครียดและกดดันสะสม
ตามรายงานจากสื่อจีน ต้าซานข่า (大參考) ระบุว่า แพทย์พบว่าผู้ป่วยรายนี้ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางอารมณ์ที่ตึงเครียดตลอดเวลา จากการที่ภรรยามักบ่นและตำหนิเป็นประจำ ส่งผลให้เขาเกิดความเครียดเรื้อรังและอารมณ์หงุดหงิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญของโรคมะเร็ง
แพทย์เตือนว่าอารมณ์ถือเป็นปัจจัย “กระตุ้นมะเร็ง” อย่างหนึ่ง เพราะมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยตรง หากต้องการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ไม่ใช่แค่ดูแลการกิน การนอน หรือการออกกำลังกายเท่านั้น แต่ต้องดูแลสภาพจิตใจและอารมณ์ด้วย โดยหลีกเลี่ยงความเครียดและความโกรธอย่างต่อเนื่อง
มีงานวิจัยทางคลินิกจำนวนมากยืนยันว่า การมีอารมณ์ลบ เช่น โกรธบ่อย เครียด หงุดหงิด กดดันตัวเอง จะทำให้ระบบประสาทและระบบน้ำเหลืองทำงานผิดปกติ ลดประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันในการตรวจจับเซลล์มะเร็ง และสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเกิดมะเร็งในร่างกาย
โดยลักษณะอารมณ์แบบนี้ ทางจิตวิทยาเรียกว่า “บุคลิกภาพแบบ C” หรือ “Cancer Personality” (บุคลิกภาพแบบมะเร็ง) เป็นนิสัยที่ชอบกดเก็บความรู้สึก ไม่กล้าแสดงออก หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ต้องการความสมบูรณ์แบบ และควบคุมตัวเองมากเกินไป ซึ่งเมื่อสะสมเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดปัญหาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
ดังนั้น หากต้องการป้องกันมะเร็งปอด การรักษาอารมณ์ให้แจ่มใส ร่าเริง เปิดใจกว้าง ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเลิกบุหรี่หรือเลิกดื่มสุรา แน่นอนว่า การโกรธหรือเครียดเพียงครั้งสองครั้งไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ถ้าโกรธหรือเครียดบ่อย ๆ ต่างหากที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว
ปัญหาทะเลาะวิวาทในครอบครัว
ข้อมูลเพิ่มเติม : ความเครียดกับมะเร็ง
น.พ. ณรงค์ สุภัทรพันธ์ อดีตหัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ความเครียดมีส่วนที่จะทำให้เกิดมะเร็งได้มี 2 ประการคือ
- ประการแรก ความเครียดทำให้คนบางกลุ่มหันไปใช้สารอย่างอื่นเพื่อลดความเครียด สารพวกนี้อาจจะทำให้เกิดเป็นมะเร็ง เช่น คนที่ลดความเครียดด้วยการสูบบุหรี่ ในบุหรี่มีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง
- ประการทีสอง จาก การทดลองในสัตว์ พบว่า การมีความเครียดทำให้มีผลต่อสารภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะลดความสามารถในการกำจัดสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง และสารที่ก่อให้เกิดขึ้นจะไปมีผลต่ออวัยวะ เกิดการแบ่งตัวมากขึ้นทำให้เกิดมะเร็ง
ในปัจจุบันเชื่อกันว่า ร่างกายคนเราตามปกติมีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และร่างกายสามารถกำจัดสารพวกนี้ได้ทำให้ไม่เกิดมะเร็ง แต่เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น จะมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถขจัดสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้แต่ในเวลา เดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่า ความเครียดจะทำให้เป็นมะเร็งได้เสมอไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความเครียดด้วย และเชื่อกันว่า คนบางคนค่อนข้างจะเก็บกดอารมณ์มาก เวลาเครียดเก็บกด จะทำให้สี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้
น.พ. ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ในชีวิตประจำวัน สาเหตุที่ทำให้เครียดเกิดจากเรื่องครอบครัว เพราะครอบครัวเป็นพื้นฐานแรกของสังคม สำหรับความเครียดในการดำรงชีวิต ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องของการทำงาน ภาวะเศรษฐกิจ หรือการไม่พอใจในชีวิตของตนเอง เช่น ฐานะความเป็นอยู่ หรือภาวะสังคมต่าง ๆ ก็จะทำให้เกิดความเครียดได้
ต่อคำถามที่ว่าเมื่อเครียดและจะทำอย่างไรให้ ความเครียดน้อยลงนั้น น.พ. ณรงค์ กล่าวว่า ต้องรู้ว่าตนเองเกิดความเครียด ถ้าหากรู้ว่าตัวเองเกิดความเครียด คงจะต้องหาวิธีฝึกผ่อนคลายความเครียด เช่น พยายามปล่อยให้ร่างกายคลายเครียด ฝึกกล้ามเนื้อให้มีการหย่อนคลายมากถ้ารู้ตัวว่ามีความเครียดอยู่เรื่อย ๆ ต้องเข้าใจว่า ความเครียดเกิดจากอะไร ต้องพิจารณาว่า ทำไมภาวะนี้ก่อให้เกิดความเครียดมากนัก มีผลมาจากอะไร และการพยายามฝึกจิต หรือการทำสมาธิต่าง ๆ จะทำให้เข้าใจสถานการณ์และเข้าใจตนเองได้ดีขึ้น
การออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นการผ่อนคลายความเครียดได้ด้วย ในวงการแพทย์พบว่า การวิ่งเป็นประจำ มีส่วนกระตุ้นสารเอ็นดอร์ฟิน สารนี้มีคุณสมบัติคล้ายมอร์ฟินมาก ถ้าวิ่งถึงระยะที่มีการหลั่งของเอ็นดอร์ฟินแล้ว จะมีอาการคล้ายกับได้รับสารมอร์ฟิน หรือฝิ่น ทำให้จิตใจสดชื่นเบิกบาน เคลิบเคลิ้ม น.พ. ณรงค์ กล่าวในท้ายที่สุด
ผลการศึกษา
ข้อมูลจาก ศูนย์มะเร็งตรงเป้า โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต ระบุว่า แม้ว่าความเครียดเรื้อรังจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมโยงกับโรคมะเร็งก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด การศึกษาที่ดำเนินการจนถึงปัจจุบันมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ตัวอย่าง เช่น
การศึกษาที่ 1 การศึกษาแบบควบคุมกรณีหนึ่งในกลุ่มชายชาวแคนาดาพบความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดในที่ทำงานกับความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก ในขณะที่การศึกษาที่คล้ายกันไม่พบความสัมพันธ์ดังกล่าว
การศึกษาที่ 2 การศึกษาในอนาคตของผู้หญิงในสหราชอาณาจักรมากกว่า 100,000 คนรายงานว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมกับระดับความเครียดที่รับรู้หรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในชีวิตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
การศึกษาที่ 3 การศึกษาในอนาคต 15 ปีของผู้หญิงออสเตรเลียที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อมะเร็งเต้านมในครอบครัว ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดเฉียบพลัน กับความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม
การศึกษาที่ 4 ในการวิเคราะห์อภิมานในปี 2551 ของการศึกษาในอนาคต 142 เรื่องในกลุ่มผู้คนในเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกา ความเครียดมีความสัมพันธ์กับอุบัติการณ์ของมะเร็งปอดที่สูงขึ้น
การศึกษาที่ 5 การวิเคราะห์อภิมานในปี 2019 ของการศึกษาเชิงสังเกต 9 ชิ้นในยุโรปและอเมริกาเหนือยังพบความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดจากการทำงานกับความเสี่ยงของมะเร็งปอด ลำไส้ใหญ่ และมะเร็งหลอดอาหาร
การศึกษาที่ 6 การวิเคราะห์อภิมานของการศึกษาตามกลุ่ม 12 ฉบับในยุโรปพบว่าไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างความเครียดจากการทำงานกับความเสี่ยงของมะเร็งปอด ลำไส้ใหญ่ เต้านม หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก