EU ขยายเวลาระงับตอบโต้ “ภาษีสหรัฐ” ดันเจรจารอบใหม่ ทรัมป์กดดันหนักขึ้นภาษี 30%
EU ยืดเวลาการระงับมาตรการตอบโต้ภาษีนำเข้าสหรัฐออกไปถึงต้นเดือนสิงหาคม หวังเปิดทางเจรจายุติความตึงเครียดทางการค้า หลังประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเก็บภาษี 30% ต่อสินค้าจาก EU และเม็กซิโก เริ่ม 1 ส.ค.
วันที่ 14 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.04 น. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าสหภาพยุโรป (EU) ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ว่าจะขยายระยะเวลาการระงับมาตรการตอบโต้ภาษีนำเข้าสหรัฐออกไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม พร้อมทั้งเดินหน้าผลักดันการเจรจาอย่างต่อเนื่อง หลังรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกร้องให้ประเทศคู่ค้ายอมอ่อนข้อเพิ่มเติม
ทรัมป์ประกาศเมื่อวันเสาร์ว่าจะเก็บภาษีนำเข้า 30% ต่อสินค้าส่วนใหญ่จากสหภาพยุโรปและเม็กซิโก โดยจะมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม พร้อมขู่ประเทศอื่น ๆ ด้วยมาตรการคล้ายกัน ทิ้งเวลาให้ประเทศเหล่านี้ไม่ถึงสามสัปดาห์ในการเจรจาหาข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อลดอัตราภาษีดังกล่าว
เควิน แฮสเซตต์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า ข้อเสนอจากประเทศต่าง ๆ ยังไม่เป็นที่พอใจของทรัมป์ และภาษีเหล่านี้จะเกิดขึ้นจริง หากไม่มีการปรับปรุงข้อตกลง
อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายการค้าของสหภาพยุโรป กล่าวว่า EUจะยังคงใช้แนวทางสองทางคู่ขนาน คือการเดินหน้าเจรจา พร้อมเตรียมมาตรการตอบโต้ไว้ในกรณีที่การเจรจาล้มเหลว
“เราเคยพูดเสมอว่าเราต้องการทางออกผ่านการเจรจา และเรายังยึดหลักการนี้อยู่ เราจะใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้ให้เป็นประโยชน์”
การตัดสินใจของฟอน แดร์ ไลเอิน ในการไม่ตอบโต้ทันทีสะท้อนความต้องการของคณะกรรมาธิการยุโรปที่จะหลีกเลี่ยงสงครามภาษีที่ลุกลาม หากยังมีโอกาสในการเจรจาให้ได้ข้อยุติที่ดีขึ้น
ในวันเดียวกัน ฟรีดริช เมิร์ตซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี แสดงความมุ่งมั่นว่าเขาจะทำงานอย่างเข้มข้นร่วมกับฟอน แดร์ ไลเอิน และ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง ในช่วงสองสัปดาห์ครึ่งข้างหน้า เพื่อหาทางออกด้านการค้ากับสหรัฐ เมื่อถูกถามถึงผลกระทบจากภาษี 30% ของสหรัฐที่อาจเกิดขึ้น เมิร์ตซ์กล่าวว่า “หากเกิดขึ้นจริง เราคงต้องชะลอนโยบายเศรษฐกิจหลายอย่าง เพราะจะกระทบในวงกว้าง และส่งผลตรงต่อภาคการส่งออกของเยอรมนี”
บททดสอบความเป็นเอกภาพของสหภาพยุโรป
ท่าทีแข็งกร้าวล่าสุดของทรัมป์อาจกลายเป็นบททดสอบความเป็นหนึ่งเดียวของชาติสมาชิกEU โดยฝรั่งเศสมีท่าทีแข็งกว่าสำหรับแนวทางตอบโต้ เทียบกับเยอรมนีซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก มาครงกล่าวว่า คณะกรรมาธิการยุโรปจำเป็นต้องแสดงความแน่วแน่ของสหภาพในการปกป้องผลประโยชน์ของยุโรปอย่างถึงที่สุด และมาตรการตอบโต้ควรรวมถึงเครื่องมือต่อต้านการบีบบังคับ (anti-coercion instruments)
ลาร์ส คลิงไบล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนี ก็แสดงความเห็นในทำนองเดียวกัน โดยกล่าวว่า EUควรเตรียมพร้อมตอบโต้หากการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ
“หากไม่สามารถหาข้อตกลงที่ยุติธรรมได้ เราจำเป็นต้องดำเนินมาตรการตอบโต้ที่เด็ดขาดเพื่อปกป้องการจ้างงานและบริษัทในยุโรป”
แม้ว่า EUจะชะลอการตอบโต้สหรัฐมาหลายเดือนหลังทรัมป์เรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม แต่ทางกลุ่มก็ได้เตรียมแผนตอบโต้ไว้สองชุดซึ่งรวมมูลค่าสินค้าสหรัฐฯ ที่อาจถูกกระทบสูงถึง 9.3 หมื่นล้านยูโร
- ชุดแรกเป็นการตอบโต้ภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 50% ของสหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้ามูลค่า 2.1 หมื่นล้านยูโร โดยเดิมจะหมดอายุในวันจันทร์นี้ แต่ถูกขยายออกไปอีก 90 วัน
- ชุดที่สองเป็นมาตรการตอบโต้ภาษีแบบต่างตอบแทนของทรัมป์ ซึ่งเตรียมไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ครอบคลุมสินค้าสหรัฐ มูลค่า 7.2 หมื่นล้านยูโร โดยยังไม่ได้เปิดเผยรายการสินค้า และต้องได้รับความเห็นชอบจากชาติสมาชิก
เครื่องมือต่อต้านการบีบบังคับ (Anti-Coercion Instrument)
ฟอน แดร์ ไลเอิน ระบุว่ายังไม่ได้นำเครื่องมือนี้มาใช้ในขณะนี้ โดยชี้ว่าเครื่องมือนี้ถูกออกแบบมาใช้ในสถานการณ์พิเศษ ซึ่งเรายังไม่ถึงจุดนั้น
โดยเครื่องมือนี้เปิดทางให้ EUสามารถตอบโต้ประเทศที่ใช้แรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อชาติสมาชิกได้ เช่น การจำกัดการเข้าถึงตลาดสินค้าและบริการหรือมาตรการเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ตลาดการเงิน และการควบคุมการส่งออก
ภายใต้บรรยากาศความไม่แน่นอนในความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างยุโรปและสหรัฐ ฟอน แดร์ ไลเอินกล่าวว่า ขณะนี้ EUได้บรรลุข้อตกลงทางการเมืองเพื่อเดินหน้าเจรจาการค้ากับอินโดนีเซียแล้ว
ขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมของฝรั่งเศสออกมาเตือนถึงผลกระทบจากภาษีนำเข้า 30% ของสหรัฐ โดยระบุว่าอาจกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมท้องถิ่นที่ส่งออกสินค้ากว่าครึ่งไปยังสหรัฐ“นี่คือสภาพแวดล้อมใหม่ที่เราต้องทำความคุ้นเคย ผมไม่คิดว่าสถานการณ์นี้จะเป็นแค่ชั่วคราว”
อ้างอิง : reuters.com