สว.ลุยโหวตองค์กรอิสระ ‘นันทนา’ซัดทำเพื่อตัวเอง
เก้าอี้ตุลาการศาล รธน.-กกต.ไม่สะดุด "สว.สีน้ำเงิน" เดินหน้าโหวตอังคารนี้ “นันทนา” ฟาดยับเสียงข้างมากไม่เห็นหัว ปชช. ทำเพื่อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ขณะที่ "เพื่อไทย" คว่ำแก้ รธน.กับมือ ยอมรับไม่ถึงฝั่ง ดูไทม์ไลน์แล้วยากทำให้เสร็จก่อนครบวาระ แต่จะตั้ง ส.ส.ร.รอไว้
ที่รัฐสภา วันที่ 21 กรกฎาคม น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมวุฒิสภา เดินหน้าเลือกตำแหน่งในองค์กรอิสระว่า ยืนยันว่าการชะลอการลงมติไม่เข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเมื่อคดีของท่านสิ้นสุดแล้วพบว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ท่านสามารถกลับมาลงมติได้ และบุคคลในองค์กรอิสระถ้าเขาครบวาระแล้ว ยังไม่มีใครมาแทน เขาสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะได้คนใหม่
“ประชาชนคงไม่อยากเห็นความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น มาจากการลงมติของ สว.เสียงข้างมาก ที่ดันทุรังจะใส่คนให้เข้าไปในองค์กรอิสระ ให้เข้าไปพิจารณาคดีของตัวเอง นี่คือความขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างชัดเจน การชะลอการลงมติจะทำให้ สว.สง่างามและเป็นจิตสำนึกที่ดี ท่านกำลังใช้จริยธรรมชั้นสูงในการที่จะผดุงรักษากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ขอเรียกร้องวิงวอนให้ชะลอและยุติการเลือก กกต.และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 22 ก.ค.นี้ออกไปก่อน ถ้าตัดสินใจชะลอประชาชนก็จะสรรเสริญว่าท่านทำเพื่อประเทศชาติ แต่ถ้ายังดึงดันแปลว่าท่านไม่เห็นหัวประชาชน และทำเพื่อประโยชน์ของท่านและกลุ่มของท่านเท่านั้น" น.ส.นันทนากล่าว
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาคัดค้านมาโดยตลอดแต่ไม่สำเร็จ จะมีท่าทีอย่างไรต่อไป น.ส.นันทนากล่าวว่า ญัตติขอให้มีการชะลอการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระออกไป ของนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. เท่าที่ทราบวันนี้คาดว่าไม่ได้ถูกบรรจุในระเบียบวาระ แต่ตนจะเสนอญัตติด้วยวาจาเพื่อที่จะคัดค้านต่อไป เพราะตนคัดค้านมาตั้งแต่วันที่ สว.ยังไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา และตนก็จะเรียกร้องต่อไป
"แม้ว่าจะถูก สว.บางท่านไล่ออกจากห้องประชุม หรือกล่าวหาว่าดิฉันเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ประชาชนจะเป็นพยาน เพราะสิ่งที่ดิฉันทำคือรักษาผลประโยชน์ของประชาชน และให้กระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ไม่บิดเบี้ยว ยืนยันเดินหน้าต่อ ไม่กลัวว่าจะได้รับผลกระทบหรือแรงกระแทก อย่างไรก็จะยังสู้ต่อ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ยุติธรรมอย่างแท้จริง" น.ส.นันทนา กล่าว
หลังจากนั้นในเวลา 11.30 น. ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานขณะนั้น ภายหลังวาระการตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา นายเทวฤทธิ์ได้ลุกขึ้นเสนอญัตติด้วยวาจา เรื่องขอให้สมาชิกวุฒิสภาชะลอหรือเปลี่ยนแปลงระเบียบวาระการประชุมครั้งที่ 6 เรื่องด่วน วาระให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และวาระให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ในคดีที่สมาชิกจำนวนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดตกเป็นคู่กรณี ไม่ว่าจะเป็นผู้ร้องหรือผู้ถูกร้องในองค์กรเหล่านี้
ขณะที่นายเอนก วีระพจนานันท์ สว. ได้เสนอให้เป็นการประชุมลับ ซึ่ง น.ส.นันทนากล่าวว่า ขอทราบเหตุผลทำไมต้องเป็นเรื่องลับลมคมใน เพราะประชาชนย่อมอยากทราบว่า ณ ขณะที่ สว.กำลังจะลงมติองค์กรอิสระที่ตัวเองเป็นผู้ถูกกล่าวหาและเป็นผู้กล่าวหาเขา การอภิปรายเป็นสาธารณะอย่างกว้างขวาง จะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ชัดเจน จึงอยากถามผู้ที่เสนอให้มีการประชุมลับว่ามีเหตุผลอันใด ขัดกับความมั่นคงของรัฐ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตรงไหน หรือแท้จริงแล้วเกี่ยวกับความมั่นคงต่อตำแหน่งของท่านเท่านั้น
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. กล่าวว่าอยากให้สรุปเป็นมติ จะได้สบายใจว่าเรื่องนี้มีการพิจารณากันไปแล้ว จะไม่ถูกหยิบขึ้นมาพูดกันอีก และการอภิปรายญัตตินี้ไม่ใช่มีแค่สององค์กรอิสระ แต่ยังจะผูกพันกับองค์กรอิสระอีกหลายหน่วยงาน ดังนั้นในการอภิปรายอาจจะเกิดการไปกระทบกระทั่ง จึงขอเสนอให้มีการประชุมลับ
จากนั้นนายมงคลจึงขอมติที่ประชุมว่าจะให้มีการประชุมลับหรือไม่ โดยมีจำนวนสมาชิก 135 เสียงแสดงตนให้มีการประชุมลับ เป็นอันว่าที่ประชุมรับรองให้มีการประชุมลับ ตามญัตติของนายเทวฤทธิ์
ต่อมาเวลา 13.30 น. พล.อ.เกรียงไกรได้ถามมติที่ประชุมว่า จะเห็นชอบให้วุฒิสภาชะลอกระบวนการเลือก และให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ ผลปรากฏว่าจากจำนวนสมาชิก 150 เสียง เห็นด้วย 7 เสียง ไม่เห็นด้วย 140 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 0 เสียง เป็นอันว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยให้วุฒิสภาชะลอกระบวนการเลือกและให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
วันเดียวกัน ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 1 ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. ได้ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่องนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลต่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.วัฒนธรรม ซึ่งมอบหมายให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตอบแทน เนื่องจากติดภารกิจ
โดยนายเทวฤทธิ์ระบุว่า ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่จะเปิดประตูการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งถูกส่งโดยพรรคการเมือง ร่างหนึ่งถูกเสนอโดยพรรคเพื่อไทย และอีกร่างหนึ่งถูกเสนอโดยพรรคประชาชน ตนจึงขอถามนายชูศักดิ์ว่า เหตุไฉนในตอนนั้นถึงไม่มีร่างของรัฐบาลขึ้นมาประกบ ถึงช่วงเวลานี้คงต้องมีคำตอบแล้ว เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรเพิ่งได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ให้ย้อนกลับไปใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวแล้ว และอีกหนึ่งคำถามคือ ในอนาคตหากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะร่างแก้ไข เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีร่างของรัฐบาลขึ้นมาประกบ และอยากถามถึงว่า ปัญหาและอุปสรรคของการเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว ต้องตามนโยบายของรัฐบาลคืออะไร มีมาตรการในการแก้ไขอย่างไร สุดท้ายรัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนหรือไม่อย่างไร ต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกรอบเวลาอย่างไรบ้าง
ด้านนายชูศักดิ์ชี้แจงว่า เหตุผลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะขณะนี้มีความไม่แน่นอนในประเด็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อจำนวนครั้งของการทำประชามติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาส่วนของพยานผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นเมื่อมีความไม่แน่นอน ตนจึงเสนอ ครม.ว่ายังไม่ควรเสนอร่างแก้ไขฉบับของ ครม. เพราะหากเสนอไปแล้วทำไม่ได้ ครม.จะเสียหาย แต่ขณะนี้มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในระเบียบวาระรัฐสภา 2 ฉบับ คือฉบับของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน
นายชูศักดิ์ชี้แจงว่า สำหรับนโยบายของรัฐบาลมีความแน่วแน่แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาหลายอย่าง อาทิ การถ่วงดุลอำนาจ ที่มาของ สว. แต่การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคนั้นยังมีเงื่อนไขที่ต้องรอ คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องรอ เพราะหากมีคำวินิจฉัยว่าให้ทำประชามติ 2 ครั้ง ร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่ค้างอยู่ทั้ง 2 ฉบับสามารถเดินต่อไป แต่ตนเองยังหวั่นวิตกว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเขียนให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจัดอยู่ในประเภทที่ไม่อยากให้แก้ไขได้ เช่นวาระแรกต้องใช้เสียง สว.เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 ของ สว.ที่มี หากปัจจุบันมี สว. 200 คน ต้องได้เสียง สว. 67 คน ดังนั้นหากถึงเวลานั้นต้องขอให้ สว.ช่วยกันลงเสียงให้ แต่ตนยังหวั่นวิตกว่าสุดท้ายอาจจะตกไปอีกก็ได้
"หากไม่สนใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง และใช้มติ ครม.เลย ผมมองว่าเมื่อได้ถามศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ควรรอคำตอบก่อน แต่หากตัดสินใจเลยเท่ากับว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งใช้งบประมาณกว่า 3 พันล้านบาท ท่ามกลางเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่เบาเหมือนกัน” นายชูศักดิ์กล่าว
นายชูศักดิ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้รัฐบาลบริหารมาแล้ว 2 ปี เหลือเวลาไม่นานจะครบ 4 ปีตามวาระของรัฐบาล เมื่อคำนวณไทม์ไลน์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เสร็จแล้วต้องถามประชามติ ซึ่งต้องมีเวลา 3-5 เดือนเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน หลังจากประชามติเสร็จแล้วต้องเข้าสู่การเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยคาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือน
“ดูไทม์ไลน์แล้วยากลำบากที่จะทำให้สำเร็จในเวลานี้ ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ แต่ผมได้ปวารณาตัวว่า หากมีข้อยุติในหลายประเด็นแล้วและเดินหน้าต่อไป ขอให้ตั้ง ส.ส.ร.ไว้ และให้ทำร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลกำหนดวาระ อย่างน้อยมี ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญไป หากทำถึงขนาดนี้ได้ แม้อาจไม่สำเร็จแต่เป็นการดี ซึ่งตามไทม์ไลน์อาจมีปัญหาที่ทำให้สำเร็จไม่บริบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์” นายชูศักดิ์กล่าว.