11 ธนาคารในตลาดหุ้น Q2 ฟันกำไรกว่า 6.6 หมื่นล้าน สวนทางดอกเบี้ยขาลง
แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ไทยในตลาดหลักทรัพย์ไตรมาส 2 ปี 2568 ก็ยังคง ‘ทรงตัวดี’
โดย 11 แบงก์ในตลาดหุ้นทำกำไรรวมกัน 66,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
แน่นอนว่าแรงขับเคลื่อนหลักยังมาจากธนาคารขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่กำไรทะลุ 10,000 ล้านบาททั้งสิ้น
[ KKP เซอร์ไพรส์นักลงทุน ]
แต่หากดูการเติบโต พบว่า ธนาคารที่สร้างความประหลาดใจให้นักลงทุน คงจะหนีไม่พ้นธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ที่กำไรเติบโตกว่า 83% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ทะยานจาก 769 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2567 มาอยู่ที่ 1,409 ล้านบาทในไตรมาสล่าสุด
ปัจจัยหนุนตามที่ระบุไว้ในคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ (Management Discussion & Analysis: MD&A) คือ การบริหารคุณภาพสินเชื่อที่ทำมาต่อเนื่อง
ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ภาระการตั้งสำรอง) และผลขาดทุนจากการขายรถยึดที่ลดลง รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและค่าบริการสุทธิในระดับที่ดี
รองลงมาคือ SCB ที่กำไรเติบโตกว่า 28% YoY จาก 10,014 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปีก่อน มาอยู่ที่12,786 ล้านบาทในไตรมาสล่าสุด ปัจจัยหนุนมาจากกำไรจากเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น การตั้งสำรองที่ลดลง และการควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
[ 3 แบงก์ใหญ่กำไรทรงตัว ]
สำหรับ 3 ธนาคารใหญ่ ได้แก่ KTB, KBANK และ BBL ผลประกอบการค่อนข้าง ‘ทรงตัว’ ไปจนถึง ‘อ่อนตัวลงเล็กน้อย’ ดังนี้
• KBANK: กำไร 12,488 ล้านบาท ลดลง 3% YoY
• BBL: กำไร 11,840 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน
• KTB:กำไร 11,122 ล้านบาท ลดลง 6% YoY
สาเหตุหลักที่ฉุดกำไรของแบงก์ขนาดใหญ่เหล่านี้ คือดอกเบี้ยรับสุทธิที่ลดลง ซึ่งเป็นไปตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงที่ผ่านมา
[ แบงก์กลาง-เล็ก กำไรแกว่ง ]
ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดกลางถึงเล็ก มีภาพรวมผลประกอบการที่ ‘หลากหลาย’ มากขึ้น โดยบางแห่งยังคงรักษาระดับได้ดี ขณะที่บางแห่งเริ่มเผชิญแรงกดดันต่อเนื่อง
• ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY): กำไร 8,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% YoY
• ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB): กำไร 5,004 ล้านบาท ลดลง 7% YoY
• ธนาคารทิสโก้ (TISCO): กำไร 1,644 ล้านบาท ลดลง 6% YoY
• ธนาคารไทยเครดิต (CREDIT): กำไร 925 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% YoY
• ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHFG): กำไร 551 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% YoY
ที่น่าจับตามากที่สุด คือ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ที่กำไรลดลงจากปีก่อนหนักถึง 74% จาก 668 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2567 เหลือเพียง 174 ล้านบาทในไตรมาสล่าสุด
[ เจาะงบ CIMBT กำไรไปไหน ]
CIMBT รายงานว่า กำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2568 อยู่ที่ 1,012.6 ล้านบาท ลดลง 281.9 ล้านบาท หรือ 21.8% YoY โดยเหตุผลหลักคือรายการพิเศษ (One-off Items) ที่มีผลกระทบเชิงบัญชี ได้แก่
• การปรับวิธีรับรู้รายได้ดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Interest Rate: EIR)
• การตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตเพิ่มเติม (ECL Overlay)
แม้กำไรจะลดลง แต่รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิเพิ่มขึ้น 4.8% และรายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้น 21.5% ขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลง 19.1% สะท้อนความพยายามในการบริหารต้นทุนอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ สิ่งที่ยังรักษาได้ดีคือคุณภาพสินทรัพย์ โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) คงที่ที่ 2.6% และอัตราส่วนเงินสำรองต่อ NPL เพิ่มขึ้นเป็น 155.9% บ่งชี้ถึงความรอบคอบในการตั้งสำรองเพื่อเตรียมรับความไม่แน่นอนในอนาคต
[ เตือนครึ่งหลังหนักกว่าครึ่งแรก ]
‘ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ’ รองผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจธนาคารในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ดูจะท้าทายกว่าช่วงครึ่งแรกที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เพราะคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับตัวลงอีก กดดันรายได้ดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของธนาคาร ขณะที่ภาระการตั้งสำรองก็ลดค่อนข้างยาก เพราะยังมีความไม่แน่นอนเข้ามากระทบ เช่น นโยบายภาษีทรัมป์
นอกจากนี้ ไตรมาสสุดท้าย (ไตรมาส 4) ของทุกปี เป็นไตรมาสที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานสูง อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายทางการตลาดเข้ามา ส่งผลให้ช่วงครึ่งหลังมีความท้าทายกว่าช่วงครึ่งแรก
[ หุ้นแบงก์ต้องวัดกันที่ ‘ปันผล’ ]
เมื่อถามถึงการลงทุน นักวิเคราะห์ระบุว่า การลงทุนในหุ้นธนาคาร จะต้องมองที่ ‘ปันผล’ เป็นหลัก โดยหุ้นที่ยังมีอัตราเงินปันผล (Dividend Yield) ทั้งปีที่ค่อนข้างสูง และมีอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ในระดับสูงเช่นกัน ได้แก่ KTB และ SCB
แต่หากจะเล่นปันผลระหว่างกาล แนะนำ TTB คาดการณ์ปันผลครึ่งแรกของปีนี้ที่ 3% สูงสุดในกลุ่มธนารคาร…