สยามพิวรรธน์ ผนึกพันธมิตรระดับโลก หนุนผู้ประกอบการไทย สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน
แม้ธุรกิจเต็มไปด้วยความท้าทาย สยามพิวรรธน์ ยังคงยืนหยัดในฐานะผู้นำในวงการค้าปลีก ไม่ใช่เพียงแค่เจ้าของและผู้พัฒนาแลนด์มาร์คระดับโลกอย่างสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และไอคอนสยามเท่านั้น แต่ยังเป็นผลมาจากวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการผนึกกำลังกับพันธมิตรและองค์กรระดับโลก
ด้วยกลยุทธ์ “Co-create and Collaborate” สยามพิวรรธน์ได้สร้างระบบนิเวศธุรกิจที่สร้างสรรค์และโมเดลใหม่ ๆ ตอกย้ำถึง “พลังของความร่วมมือ” (Power of Partnership) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่ความแข็งแกร่งและความยั่งยืนในระยะยาว
[ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน]
สยามพิวรรธน์ได้สร้างสรรค์ความร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลายภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตและสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง
- จับมือ Huawei เชื่อมเอกสิทธิ์สู่ Global Privilege Ecosystem
นับเป็นการตอกย้ำการเป็นผู้นำในการพัฒนาโกลบอลเดสติเนชั่น และก้าวสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมค้าปลีก ร่วมขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ สยามพิวรรธน์ ได้จับมือกับ Huawei ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของโลก เปิดตัว ONESIAM Global Visitor Card ที่เป็นเหมือน “ดิจิทัลมาสเตอร์คีย์” เชื่อมโยงนักท่องเที่ยวสู่ Global Privilege Ecosystem มอบเอกสิทธิ์เอ็กซ์คลูซีฟที่ตอบโจทย์ทุกช่วงจังหวะของการเดินทางให้กับลูกค้า Huawei เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง โดยสยามพิวรรธน์เป็นรีเทลไทยรายแรกและรายเดียวที่เชื่อมต่อระบบ HarmonyOS ของ Huawei ที่มีฐานผู้ใช้สมาร์ตโฟนกว่า 400 ล้านเครื่องทั่วประเทศจีน ร่วมปักหมุดประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว
- ผนึก กฟน. สร้างมาตรฐานใหม่ของโลกที่ยั่งยืน
อีกหนึ่งก้าวสำคัญเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ในด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สยามพิวรรธน์เป็นกลุ่มศูนย์การค้าแรกของไทยที่ลงนามกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในโครงการ Utility Green Tariff (UGT1) ซึ่งเป็นบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบไม่เจาะจงแหล่งที่มาพร้อมใบรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ทำให้สามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 30% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการของสยามพิวรรธน์ในศูนย์การค้าสยามพารากอนและไอคอนสยาม ในปี 2025 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ในปี 2026
- ความร่วมมือครั้งใหญ่ ปลุกพลัง SMEs ไทยให้เข้มแข็ง
นอกจากการร่วมมือเพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันและความยั่งยืนด้านพลังงานแล้ว สยามพิวรรธน์ยังร่วมมือกับองค์กรชั้นนำ เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ศูนย์การค้าให้เป็น “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส (Opportunity Platform)” เปิดพื้นที่ที่ให้โอกาสผู้ประกอบการขนาดเล็ก ได้มีเวทีแสดงศักยภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
แนวคิดนี้ถูกต่อยอดผ่านการลงนามกับ 4 องค์กรใหญ่ คือ องค์การยูเนสโก (UNESCO), สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างระบบนิเวศใหม่ที่เชื่อมโยงภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการเข้าด้วยกัน เสริมความแข็งแกร่งให้ทั้งศิลปิน ช่างฝีมือท้องถิ่น นักออกแบบ และผู้ประกอบการรายเล็ก ในทุกมิติทั้งในด้านองค์ความรู้ การตลาด พื้นที่และช่องทางจัดจำหน่าย
- LOI ร่วมกับ UNESCO สะท้อนศักยภาพเมืองสร้างสรรค์ไทย 7 จังหวัด
สยามพิวรรธน์ได้ลงนาม Letter of Intent กับ UNESCO ภายใต้โครงการ “UNESCO Creative Cities Network” เพื่อสนับสนุนภูมิปัญญาหัตถศิลป์จาก 7 จังหวัดเมืองสร้างสรรค์ของไทย ได้แก่ เชียงใหม่, กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, สุโขทัย, เชียงราย, เพชรบุรี และสุพรรณบุรี
- MOU กับ SACIT: พัฒนาศักยภาพ “ครูศิลป์ของแผ่นดิน”
ความร่วมมือระหว่างสยามพิวรรธน์และ SACIT มุ่งเน้นการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ และการตลาดของช่างหัตถศิลป์ไทย ตั้งแต่ระดับครูศิลป์ของแผ่นดิน ทายาทผู้สืบทอดงานฝีมือ ไปจนถึงนักออกแบบรุ่นใหม่ ด้วยเป้าหมายในการพัฒนา “หัตถศิลป์ไทยให้เป็นอาชีพ” อย่างยั่งยืน ผ่านแพลตฟอร์มไอคอนคราฟต์ เพื่อเชื่อมต่อผู้ผลิตท้องถิ่นกับผู้บริโภคร่วมสมัย
- MOU กับ CEA: ขับเคลื่อนไทยสู่ Creative Nation
ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับ CEA คือการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น Creative Nation ร่วมกันผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีมูลค่ากว่า 1.44 ล้านล้านบาท ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสยามพิวรรธน์ได้ร่วมมือกับ CEA มาแล้วหลายโครงการ ทั้งการสนับสนุนมหกรรมงานออกแบบกรุงเทพ และการเปิดพื้นที่ศูนย์การค้าให้เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานของนักสร้างสรรค์ไทย สนับสนุนด้านองค์ความรู้ การบ่มเพาะแนวคิดทางธุรกิจและ วางรากฐานให้กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย
- MOU กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่: ยกระดับภูมิปัญญาล้านนา
โครงการ “มาเหนือ MAKE” คือการจับมือกันระหว่างสยามพิวรรธน์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนา ส่งเสริมการพัฒนาแบรนด์ล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna) ผ่านการเปิดพื้นที่ในไอคอนคราฟต์ ไอคอนสยาม ต่อยอดหัตถศิลป์ท้องถิ่นและการออกแบบร่วมสมัย เชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ และรากเหง้าทางวัฒนธรรมและ คาดการณ์ว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 450 ล้านบาทภายใน 3 ปี
การลงนามความร่วมมือดังกล่าว ถือเป็นการสร้าง “ระบบนิเวศธุรกิจสร้างสรรค์” ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ต่อยอดภูมิปัญญาไทยด้วยนวัตกรรม และสร้างเวทีให้คนตัวเล็กได้มีโอกาสเติบโตบนระดับโลก ส่งเสริม “ผู้ประกอบการไทย” ให้เป็น Global Heroes ได้จริง ซึ่งนอกจาก ไอคอนคราฟต์ ยังมีพื้นที่แห่งโอกาสที่สยามพิวรรธน์ ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆอาทิ สุขสยาม และ Absolute Siam Store
และนี่คือการสร้างโมเดลธุรกิจที่ผสานพลังของความร่วมมือของพันธมิตร เชื่อมจุดแข็งของแต่ละองค์กร ซึ่งไม่เพียงแต่เสริมศักยภาพทางธุรกิจ และสร้างพื้นที่ค้าขายเท่านั้น แต่ให้ “โอกาส” ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตคน เปลี่ยนอนาคตของธุรกิจ และเปลี่ยนศูนย์กลางเมืองให้กลายเป็นศูนย์กลางของแรงบันดาลใจที่ส่งต่อได้ทั่วโลก