เมื่อไฟในใจกำลังริบหรี่ เข้าใจภาวะหมดไฟ : Burnout Syndrome และวิธีฟื้นใจจากความเครียดในงาน
ในช่วงชีวิตของคนทำงาน เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟจากการทำงาน ผ่านหูมาบ้าง
ซึ่งภาวะหมดไฟที่ว่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ความเหนื่อยธรรมดา ๆ แต่มันคือภาวะของความเหนื่อยล้าที่สะสมมาเรื่อย ๆ จากความเครียด ความกดดัน และความคาดหวัง จนทำให้ไฟในตัวเริ่มริบหรี่ลงโดยไม่รู้ตัว
และเพราะมันสามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในวัยทำงานที่แบกรับความรับผิดชอบหลากหลาย เราจึงอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับ “ภาวะหมดไฟ” กันสักหน่อย เพื่อที่คุณจะได้รู้เท่าทัน และกลับมาดูแลตัวเองให้ทันเวลาก่อนที่ไฟในใจจะดับลง
Burnout Syndrome คืออะไร?
Burnout Syndromeหรือ ภาวะหมดไฟในการทำงานคือภาวะของความเหนื่อยล้าทางอารมณ์และจิตใจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความเครียดสะสมในที่ทำงาน จนทำให้รู้สึกท้อแท้ หมดพลัง ขาดแรงจูงใจ และไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่
อาการนี้อาจเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป จะส่งผลต่อทั้งร่างกาย จิตใจ และประสิทธิภาพในการทำงานอย่างเห็นได้ชัด
สาเหตุของภาวะหมดไฟมาจากอะไร?
แม้หลายคนอาจมองว่าความเครียดในการทำงานเป็นเรื่องปกติ แต่หากไม่มีจังหวะได้พักหรือจัดการให้ดี ก็อาจกลายเป็นต้นตอของภาวะ Burnout Syndrome ได้ โดยสาเหตุหลัก ๆ ของภาวะนี้ได้แก่
- ภาระงานที่มากเกินไป
- สภาพแวดล้อมที่ตึงเครียด หรือขาดแรงสนับสนุนจากทีม
- ไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม
- ความคาดหวังสูงจากตัวเอง ที่ต้องสมบูรณ์แบบตลอดเวลา
- ขาดสมดุลชีวิต (Work-Life Balance)
- ความรู้สึกส่วนตัวที่รู้สึกว่า “ตัวเราไม่มีตัวตน” หรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม
อาการและผลกระทบเมื่อเราอยู่ในภาวะหมดไฟ
หากคุณกำลังรู้สึกแบบนี้บ่อย ๆ อาจถึงเวลาที่ต้องเช็กตัวเองอย่างจริงจังว่า คุณกำลังเผชิญกับ Burnout Syndrome อยู่หรือเปล่า?
ด้านร่างกาย
- รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
- นอนไม่หลับ หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เครียดเรื้อรัง ภูมิคุ้มกันต่ำ
ด้านจิตใจ
- รู้สึกเบื่อ ท้อแท้ หดหู่
- ขาดแรงบันดาลใจ ไม่อยากทำงาน
- ขาดสมาธิ ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
- รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอ
- มองโลกในแง่ลบ อาจนำไปสู่การก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้า
12 สัญญาณเตือนว่าไฟในใจของคุณ กำลังริบหรี่
- เหนื่อยล้าเรื้อรัง
- ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
- รู้สึกไม่กระตือรือร้น ไม่มีชีวิตชีวา
- เริ่มเบื่อหน่ายกับงานที่เคยทำ
- สมาธิลดลง ประสิทธิภาพการทำงานแย่ลง
- เริ่มมีการผัดวันประกันพรุ่งมากขึ้น
- มองโลกในแง่ลบ เริ่มแยกตัวออกจากคนรอบข้าง
- ขาดความมั่นใจในตัวเอง
- โทษคนอื่น แทนที่จะหาทางแก้ไข
- จัดการเวลาไม่ได้
- ไม่พอใจในผลงานของตัวเอง
วิธีรับมือกับภาวะหมดไฟ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
ถ้ารู้ตัวแล้วว่าไฟในงานทำงานเริ่มดับ ลองเริ่มต้นจากวิธีง่าย ๆ เหล่านี้
- ปรับสมดุลชีวิต (Work-Life Balance)
ให้เวลากับตัวเองมากขึ้น ไปเที่ยว ออกกำลังกาย พักผ่อน หรือทำสิ่งที่ชอบบ้างในแต่ละวัน
- วางแผนและจัดลำดับงาน
ใช้เครื่องมือช่วยวางแผนงาน เช่น Monthly Planner เพื่อให้เห็นภาพรวมและลดความเครียดที่มาจากงาน
- เปิดใจและยอมรับ
ยอมรับในข้อจำกัดของตัวเอง กล้าขอความช่วยเหลือเมื่อรู้สึกว่าไม่ไหว และปฏิเสธอย่างเหมาะสมเมื่อได้รับภาระงานที่มากเกินไป
- พักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับอย่างมีคุณภาพจะช่วยให้ทั้งร่างกายและจิตใจฟื้นตัวจากความเหนื่อยล้าได้
- ทำสิ่งใหม่ ๆ ให้ตัวเองได้เติมพลัง
ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้งานอดิเรกใหม่ ๆ การดูหนัง ฟังเพลง เล่นโยคะ หรือแช่ออนเซ็น ล้วนเป็นการให้พื้นที่กับใจตัวเอง ได้ฟื้นฟูและซ่อมแซมตัวเองมากขึ้น
- พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ หรือขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ
บางครั้งการพูดออกมาแค่เล็กน้อย ก็ช่วยลดความเครียดที่เราสะสมอยู่ในใจออกมาได้ ทั้งยังอาจได้รับคำพูดและกำลังใจจากคนที่เรารักกลับมาอีกด้วย
สุดท้ายอย่าลืมว่า สุขภาพใจก็สำคัญพอ ๆ กับงานที่เรากำลังทำอยู่ ให้เวลากับตัวเองสักนิด หันมาฟังเสียงข้างในใจบ้าง เพราะไม่มีใครดูแลคุณได้ดีเท่ากับตัวคุณเอง หมั่นเติมไฟในใจให้ตัวเองเสมอ และอย่าปล่อยให้ความเครียดจากงานเข้ามากัดกินจนทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าจนเกินไป 💖✨
ขอบคุณข้อมูลจาก
mentalhealth, phyathai3hospital, medparkhospital
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews