ประเด็น 'ไทย-กัมพูชา' ท่ามกลางสารพันปัญหาโลก
ประเด็น ‘ไทย-กัมพูชา’ ท่ามกลางสารพันปัญหาโลก
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (AMM) ครั้งที่ 58 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นเวทีที่ถูกจับจ้องจากสังคมไทยในระดับหนึ่ง ค่าที่มันเป็นเวทีแรกที่นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะไปประชุมร่วมกันในหลายเวทีกับนายปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา หลังกรณีเทปการหารือระหว่างน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับสมเด็จฯฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและอดีตผู้นำที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของกัมพูชาหลุด ที่นำไปสู่คำสั่งให้น.ส.แพทองธารยุติการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีโดยศาลรัฐธรรมนูญของไทย
อย่างไรก็ดี ในภาพรวมของการประชุมที่กินเวลาตลอดสัปดาห์ แทบจะพูดได้ว่าประเด็นปัญหาไทย-กัมพูชา ไม่ได้มีผู้ใดให้ความสนใจนัก ฝ่ายกัมพูชาก็ไม่ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพูดคุยในกรอบการหารือหลักๆ แต่ได้มีการอธิบายมุมมองของกัมพูชาให้นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนรับฟัง เช่นเดียวกับนายมาริษที่ได้หารือทวิภาคีกับนายหวัง อี้ เช่นกัน ซึ่งท่าทีของจีนในฐานะประเทศใหญ่ในภูมิภาค ก็เป็นเช่นที่เคยเป็นมา นั่นคือการย้ำถึงจุดยืนที่เป็นกลางของจีน และขอให้ไทย-กัมพูชาแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีผ่านการเจรจาฉันมิตร
ขณะที่ถ้อยแถลงเปิดประชุม AMM ของนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนตอนหนึ่งที่อาจจะถูกนำไปตีความว่าเป็นการส่งสัญญานถึงประเด็นไทย-กัมพูชา ระบุว่า อาเซียนไม่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ราบรื่น แต่ถูกสร้างขึ้นท่ามกลางจากความซับซ้อนของประเทศต่างๆ ที่เข้าใจถึงอันตรายของความแตกแยกและเห็นโอกาสอันมีค่าของการเจรจา อาเซียนได้รักษาสันติภาพพร้อมกับขยายความรุ่งเรืองในแบบที่ภูมิภาคอื่นๆ ไม่อาจเทียบได้ ซึ่งเราทำได้ด้วยการปลูกฝังนิสัยแห่งความร่วมมือ และความตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมและพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องต่อไป จุดแข็งแกร่งของอาเซียนจึงไม่ได้อยู่ที่การปราศจากความตึงเครียดใดๆ แต่กลับอยู่ที่ความมุ่งมั่นของเราที่จะบริหารจัดการมันด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน การเจรจาอย่างต่อเนื่อง และการแสวงหาฉันทามติร่วมกัน ซึ่งนั่นคือวิธีอาเซียน ที่ยังคงเป็นหลักนำทางของเราเสมอ
หากพิจารณาท่าทีของจีนรวมถึงถ้อยคำของประธานอาเซียนอย่างถี่ถ้วนก็จะเข้าใจว่า หนทางที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาไทย-กัมพูชา คือทั้งสองประเทศต้องหันกลับมาใช้เวทีทวิภาคีเพื่อพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน เช่นที่ไทยยืนยันมาตลอด ส่วนที่กัมพูชาจะไปยื่นเรื่องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ก็ถือเป็นสิทธิที่กัมพูชาจะทำได้ แม้ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศไทย-กัมพูชาจะไม่ได้มีการหารือทวิภาคีกันระหว่างการประชุม AMM ครั้งนี้ แต่เชื่อว่าในอนาคต เมื่ออุณหภูมิทางการเมืองระหว่างสองประเทศลดระดับความร้อนแรงลง การหารือทวิภาคีระหว่างกันน่าจะเกิดขึ้น หากทั้งสองฝ่ายตระหนักว่า ความสัมพันธ์ของสองประเทศเป็นผลประโยชน์ระยะยาว ไม่ใช่แค่เพียงความสะใจระยะสั้นที่ไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายใด
คู่ขนานกับการประชุมที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ นางเฟือง สกุณา รัฐมนตรีวัฒนธรรมกัมพูชา หันไปใช้เวทีประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 47 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กล่าวโจมตีวัดภูม่านฟ้าของไทยว่าเป็นการลอกเลียนแบบนครวัดอย่างไร้จริยธรรม ทำลายคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่งมรดกโลก และสร้างบรรทัดฐานที่อันตรายต่อแหล่งมรดกโลก พร้อมเรียกร้องให้ยูเนสโกและองค์การที่ปรึกษาตรวจสอบการกระทำของไทย ที่ถูกนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว หัวหน้าคณะผู้แทนไทยปัดตกไปอย่างสุภาพว่า ไทยประหลาดใจและผิดหวังต่อคำกล่าวของกัมพูชา ที่มีวัตถุประสงค์แอบแฝงทางการเมือง เพราะไทยเชื่อมั่นว่ามรดกทางวัฒนธรรมควรเสริมสร้างความสัมพันธ์ของผู้คน ไม่ใช่นำมาซึ่งความแบ่งแยก และเนื่องจากถ้อยแถลงของฝ่ายกัมพูชาไม่เป็นไปตามที่ได้หารือไว้กับหน่วยงานที่ดูแลมรดกโลกก่อนหน้านี้ ฝ่ายกัมพูชาจึงไม่ได้รับอนุญาตให้กล่าวถ้อยแถลงเพิ่มเติมใดๆ อีกหลังการกล่าวของนายสีหศักดิ์
สองการประชุมที่แม้จะเกิดขึ้นคนละมุมโลกสะท้อนให้เห็นว่า แม้ที่ผ่านมาสิ่งที่สมเด็จฯฮุน เซน ทำ อาจถูกมองว่าเป็นชัยชนะในบ้าน แต่ไม่ได้ถูกมองและตีความเช่นเดียวกันในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงในมุมมองของโลกต่อการดำเนินการเผยแพร่เทปเสียงการหารือที่ถือว่าเป็นการผิดมารยาททางการทูตอย่างร้ายแรงดังกล่าว
หันกลับมามองประเด็นหลักที่ครอบงำการประชุม AMM และการประชุมที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ ก็ไม่พ้นการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐ ยิ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำการส่งจดหมายแจ้งอัตราภาษีใหม่ให้กับประเทศต่างๆ ถึง 2 ระลอกในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียน 8 ชาติก็อยู่ในกลุ่มที่ได้รับจดหมายดังกล่าว ขณะที่ประเทศคู่เจรจาอื่นๆ ของอาเซียนจำนวนมากก็ตกอยู่ในสภาวะไม่ต่างกัน
ประเด็นที่มีการตอกย้ำในที่ประชุมคือการยืนยันถึงความสำคัญของการธำรงไว้ซึ่งระบบการค้าพหุภาคีที่เคารพกฎกติกา และไม่เห็นด้วยกับการดำเนินมาตรการการค้าฝ่ายเดียว โดยไม่ได้มีการระบุชื่อสหรัฐอย่างชัดเจนในเวทีใดๆ
แถลงการณ์ของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนที่ทวีความรุนแรงขึ้นในภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการดำเนินการฝ่ายเดียวเกี่ยวกับภาษีนำเข้า ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดการแบ่งแยกมากขึ้น ทั้งยังก่อให้เกิดความท้าทายที่ซับซ้อนต่อเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน
รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคีที่สามารถคาดเดาได้ โปร่งใส ครอบคลุม เสรี ยุติธรรม ยั่งยืน และตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์และกฎระเบียบ โดยมีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นศูนย์กลาง พร้อมประกาศความมุ่งมั่นของอาเซียนที่จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนทุกฝ่ายอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวต่อไป
ในการประชุม AMM ครั้งนี้ นายมาริษยังได้หารือทวิภาคีครั้งแรกกับนายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งได้ถือโอกาสนี้พูดคุยให้นายรูบิโอช่วยโน้มน้าวเรื่องภาษีนำเข้า 36% ต่อไทย ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าที่สุดแล้วจะประสบผลสำเร็จอย่างที่ไทยคาดหวังหรือไม่
ไม่เกินจริงหากจะบอกว่า โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยปัญหามากมายจนกระทั่งประเทศต่างๆ ต้องหาทางแก้ไขสิ่งที่ตัวเองเผชิญ มากกว่าจะหันมาวุ่นวายกับปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องของตนเอง ประเด็นหลักๆ ที่เคยครอบงำการประชุมอาเซียน อย่างสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ พัฒนาการในเมียนมา หรือที่ไกลออกไปนอกภูมิภาคอย่างสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี สถานการณ์ในตะวันออกกลาง และสงครามในยูเครน ยังคงถูกพูดถึง แต่ไม่ได้อยู่ในความสนใจระดับเดียวกับในอดีตที่ผ่านมา
ผู้แทนเมียนมาที่เคยตกเป็นเป้าหลักในการหารือในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ยากลำบากเช่นที่เคย ในทางตรงกันข้าม พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ยังอาจปลื้มใจที่ได้รับจดหมายแจ้งอัตราภาษีจากประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ยืนยันสถานะของเขาในฐานะผู้นำรัฐบาลเมียนมาเสียด้วยซ้ำไป
ขณะที่หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไทยนำเสนอในที่ประชุมคือการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งในเรื่องออนไลน์สแกม ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และการฟอกเงิน ได้รับการตอบรับด้วยดีจากที่ประชุมทั้งในการหารือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (PMC) ที่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ตลอดจนประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างสิงคโปร์และอินโดนีเซียต่างก็มีความเห็นร่วมกัน และสนับสนุนที่จะให้ไทยมีบทบาทนำและเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในการขจัดอาชญากรรมข้ามชาติ
แม้แต่ในเวทีใหญ่ของที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ครั้งที่ 15 ระหว่างอาเซียนกับอีก 8 ชาติ คือออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ก็ได้ตกลงที่จะจัดเตรียมเอกสารเพื่อให้ที่ประชุมผู้นำ EAS รับรองในช่วงปลายปีนี้รวม 7 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการประกาศความร่วมมือในการต่อต้านออนไลน์สแกม ที่ขณะนี้ได้กลายเป็นประเทศที่ประเทศทั่วโลกให้ความสนใจและเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนทั่วทุกมุมโลกด้วย
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ประเด็น ‘ไทย-กัมพูชา’ ท่ามกลางสารพันปัญหาโลก
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th