จากริมถนนสู่ห้างใหญ่ จากเมืองหลักสู่เมืองรอง ธุรกิจ ‘อาหารไทย’ พัฒนาไม่หยุดในจีน
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
ไท่หยวน, 8 ก.ค. (ซินหัว) — จากแผงขายริมทางสู่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ จากเมืองหลักสู่เมืองรอง จากรสชาติถูกปากคนบางกลุ่มสู่ร้านอาหารดังบนอินเทอร์เน็ตที่ต้องต่อคิวยาว “อาหารไทย” หลากหลายเมนูได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างงดงามในจีน ไม่เพียงก้าวขึ้นเป็นผู้นำวงการอาหารเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในจีน แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่คนจีนรุ่นใหม่ได้รู้จักและเข้าใจประเทศไทยด้วย
หญิงแซ่หลิว ชาวเมืองไท่หยวน มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน มักเดินทางไปร้านอาหารไทยในท้องถิ่นพร้อมครอบครัวทุกเดือน ซึ่งร้านอาหารไทยแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ นำเสนอบรรยากาศความเป็นไทยอย่างชัดเจน และค่าอาหารต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 100 หยวน (ราว 450 บาท) โดยหลิวกล่าวว่าครอบครัวเป็นแฟนคลับอาหารไทย ชื่นชอบน้ำจิ้มรสเผ็ดเปรี้ยวหวานที่กระตุ้นต่อมรับรสเป็นพิเศษ
ประสบการณ์รับประทานอาหารที่ดีได้พลิกมุมมองของหลิวต่ออาหารไทย จากเดิมที่เห็นว่าอาหารไทยไม่ค่อยน่ารับประทานและมักขายริมทาง กลายเป็นว่าการเนรมิตอาหารไทยให้สวยงามและอร่อยด้วยนั้นไม่ใช่เรื่องเกินเอื้อม ซึ่งนี่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของอาหารไทยในจีน มีร้านอาหารไทยระดับกลางและระดับบนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันแผงขายอาหารไทยริมทางก็ไม่ได้หายไปไหนเช่นกัน
การแข่งขันในอุตสาหกรรมร้านอาหารของจีนนั้นดุเดือด โดยเฉพาะตามศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่มีร้านอาหารเปิดปิดกิจการกันเป็นเรื่องปกติ แต่มีร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งในเมืองไท่หยวนได้เปิดมานานถึง 7 ปี โดยการแสวงหารสชาติความอร่อยกลายเป็นทิศทางการพัฒนาของร้านอาหารไทยในจีน มีการเปิดร้านอาหารไทยในศูนย์การค้าระดับไฮเอนด์ที่ลูกค้ามีกำลังซื้อสูง อยากชิมรสชาติแปลกใหม่ และเน้นคุณภาพที่ดีขึ้น
ขณะเดียวกันมีร้านอาหารไทยอีกแห่งเปิดอยู่ใกล้สวนสาธารณะทะเลสาบจิ้นหยางของเมืองไท่หยวน ร้านแห่งนี้มีขนาดไม่ใหญ่ แบ่งเป็นโต๊ะในร่มราว 20 ตัว และที่นั่งกลางแจ้งอีก 10 กว่าตัว ตกแต่งร้านด้วยไม้ใบไม้ดอกนานาพันธุ์สมกับชื่อร้าน “บลูมมิง” (Blooming) โดยหูหย่านี ผู้จัดการร้าน เผยว่าช่วงคืนวันธรรมดาโต๊ะเต็มราวร้อยละ 90 ส่วนช่วงวันหยุดมักโต๊ะเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์จนลูกค้าต้องรอคิว
หูกล่าวว่าตั้งแต่เปิดร้านแห่งนี้เมื่อสามปีก่อน มีการปรับปรุงเมนูอาหารอย่างต่อเนื่องตามรสนิยมและความนิยมชมชอบของลูกค้า โดยมีการปรับสัดส่วนเครื่องแกงที่ใช้เล็กน้อยและลดทอนความเปรี้ยวเผ็ดลงนิดหน่อยเมื่อเทียบกับเมนูอาหารไทยดั้งเดิมจากไทย ที่นี่จ้างพ่อครัวที่มีประสบการณ์ทำอาหารไทยมานานนับสิบปีจากกว่างโจวและเซี่ยงไฮ้ รวมถึงนำเสนอเมนูใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อรักษาฐานลูกค้า
ทั้งนี้ ข้อมูลทางการตลาดตอกย้ำกระแสความนิยมอาหารไทย โดยมากกว่าร้อยละ 50 ของร้านอาหารเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 15,000 แห่งในจีนนั้นเสิร์ฟอาหารไทย แซงหน้าคู่แข่งอย่างอาหารเวียดนามหรืออาหารสิงคโปร์อย่างมาก ขณะเครือข่ายร้านอาหารไทยที่ได้รับความนิยมกำลังขยายตัวสู่ดินแดนใจกลางของจีนภายใต้ความช่วยเหลือจากแพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัลและการจัดส่งอาหาร
การค้นหาคำว่า “ต้มยำกุ้ง” บนเสี่ยวหงซู (Xiaohongshu) แพลตฟอร์มออนไลน์แนวไลฟ์สไตล์ของจีนอันเป็นที่รู้จักในต่างประเทศว่า “เรดโน้ต” (rednote) สูงถึง 130 ล้านครั้ง ส่วนแฮชแท็ก “อาหารไทย” บนโต่วอิน (Douyin) หรือติ๊กต็อก (TikTok) เวอร์ชันจีนสูงแตะ 3 พันล้านครั้ง
ร้านอาหารไทยยังนำเสนอวัฒนธรรมไทยผ่านการตกแต่งและการแสดง กลุ่มคนวงในอุตสาหกรรมร้านอาหารมองว่าการผสมผสานองค์ประกอบความเป็นไทยอันมีเอกลักษณ์และจิตวิญญาณทางวัฒนธรรมไม่เพียงขยับขยายขอบเขตการแข่งขันแต่ยังสร้างสรรค์ความประทับใจอันน่าจดจำแก่ลูกค้า ร้านอาหารบางแห่งจึงเสริมสร้างประสบการณ์ของลูกค้าผ่านการแสดงรำไทยและธรรมเนียมประเพณีไทย
ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยสนับสนุนการเติบโตเพิ่มเติมผ่านโครงการริเริ่มต่างๆ เช่น การมอบตราสัญลักษณ์ไทย ซีเล็ต (Thai SELECT) และโครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” ซึ่งฝึกอบรมผู้มีความรู้ความสามารถที่พร้อมก้าวสู่ระดับโลก