พบจารึกโบราณ ชี้อาจช่วยยืนยันหลุมศพจริงของเจ้าชายต้นแบบ ‘เคานต์แดรกคูลา’
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานการค้นพบและถอดรหัสจารึกลึกลับบนสุสานเก่าแก่หลายศตวรรษในเมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี ซึ่งอาจช่วยไขปริศนาหลุมศพที่แท้จริงของเจ้าชายวลาดที่ 3 ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างตัวละครชื่อดัง ‘เคานต์แดรกคูลา’ ในนวนิยายแวมไพร์อันโด่งดังของบราม สโตเกอร์
นักวิจัยสันนิษฐานว่าสถานที่ฝังศพที่ตั้งอยู่ในอารามเล็กๆ ที่ชื่อว่าทูร์โบโล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาคารของโบสถ์ซานตามาเรีย ลาโนวานี้ อาจเป็นของเจ้าชายวลาดที่ 3 ผู้ซึ่งได้รับฉายาว่า "วลาดนักเสียบ" (Vlad the Impaler) จากการใช้ไม้ขนาดใหญ่เสียบร่างของศัตรูแล้วนำไปตั้งประจานนมากกว่า 20,000 คนไว้ที่ด้านนอกเมืองทาร์โกวิชเตของโรมาเนีย เพื่อข่มขวัญกองกำลังของออตโตมัน
แม้ว่ามีรายงานว่าเจ้าชายวลาดที่ 3 ถูกตัดศีรษะในปีค.ศ. 1476 แต่กลับไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าหลุมศพของเขาอยู่ที่ไหนกันแน่
หลังจากการศึกษามากว่าทศวรรษ นักวิจัยได้ถอดรหัสของจารึกโบราณที่ดูคล้ายภาษาละตินบนหลุมศพ และพบคำสำคัญสองคำคือ "Blad" ซึ่งได้รับการตีความว่าหมายถึงชื่อของเจ้าชายวลาด (Vlad) และ "Balkan" ซึ่งเป็นชื่อภูมิภาคบอลข่านที่เขาเคยปกครอง
สุสานหินอ่อนแห่งนี้ยังประดับด้วยหมวกอัศวินที่มีหัวมังกร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับ "ภาคีมังกร" (Order of the Dragon) สมาคมลับในยุคกลางที่เจ้าชายวลาดเคยเป็นสมาชิกอยู่
นอกจากนี้ ยังมีรูปปั้นคล้ายสฟิงซ์สองตัวขนาบข้างหลุมศพ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าอาจมีความหมายซ่อนอยู่ ในภาษาอิตาลี สฟิงซ์อาจหมายถึงชื่อ "Tebe" หรือ "ธีบส์" ซึ่งเป็นเมืองโบราณของอียิปต์ แต่นักวิชาการสงสัยว่า มันยังสื่อความหมายถึงคำว่า "Tepes" ซึ่งเป็นภาษาโรมาเนียหมายถึง “นักเสียบ” ที่เป็นฉายาของเจ้าชายวลาด
ทีมวิจัยเริ่มทำการวิจัยมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2014 หลังจากพบทฤษฎีที่ตั้งข้อสันนิษฐานว่า มาเรีย บัลชา ธิดาของเจ้าชายวลาด ได้ลักลอบนำอัฐิของบิดาออกจากโรมาเนียหลังการเสียชีวิตของเขา
บันทึกทางประวัติศาสตร์ชี้ว่า เธอได้รับการอุปถัมภ์จากตระกูลเฟร์ริลโล ซึ่งเป็นตระกูลผู้มีอำนาจในเมืองเนเปิลส์ ทำให้เกิดแนวคิดว่า พระศพของเจ้าชายวลาดอาจถูกฝังไว้ที่อิตาลีในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่ามาเรียได้จัดการฝังศพของเจ้าชายวลาดไว้ในที่เดียวกันกับสุสานของพ่อสามี ซึ่งก็คือ มัตเตโอ เฟร์ริลโล สุสานดังกล่าวตั้งอยู่ในอารามขนาดเล็กซึ่งเคยเป็นอารามของนักบวชคณะฟรานซิสกัน ปัจจุบันเป็นหนึ่งในสถานที่ทางศาสนาที่มีผู้เยี่ยมชมมากที่สุดในเมือง
สิ่งที่จุดประกายความสนใจของนักวิจัยในสุสานแห่งนี้คือ สัญลักษณ์แกะสลักที่ไม่ค่อยพบเห็นในการฝังศพแบบคริสเตียน ศาสตราจารย์ จูเซปเป เรอาเล ผู้อำนวยการอาคารซานตามาเรีย ลาโนวา กล่าวว่า "ปรากฏว่าจารึกลึกลับนี้เป็นคำจารึกเพื่อสรรเสริญเจ้าชายวลาดที่ 3 แห่งวัลลาเคีย ซึ่งรู้จักกันอย่างกว้างขวางในนาม ‘เคานต์แดรกคูลา’”
ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เจ้าชายวลาดที่ 3 ถูกจับกุมในข้อหาฆาตกรรมและถูกคุมขังเป็นเวลา 12 ปี แม้ว่าสถานที่และระยะเวลาที่แน่นอนของการคุมขังจะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นที่โรมาเนียหรือตุรกี
เจ้าชายวลาดถูกสังหารระหว่างการต่อสู้กับชาวออตโตมันในปีค.ศ. 1476 ก่อนหน้านี้เชื่อกันว่า ศพของเขาถูกฝังอยู่ที่อารามสนากอฟใกล้กับกรุงบูคาเรสต์ เมืองหลวงของโรมาเนีย
แต่กรณีศึกษาที่ตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1933 ได้ก่อให้เกิดความสงสัยอย่างจริงจัง เมื่อนักวิจัยขุดค้นพื้นที่และพบเพียงกระดูกสัตว์ ไม่มีซากมนุษย์เลยแม้แต่น้อย ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าหลุมศพที่เชื่อกันมายาวนานว่าบรรจุร่างของเจ้าชายวลาดนั้นอาจเป็นหลุมศพที่ว่างเปล่า
การค้นพบล่าสุดในเนเปิลส์ช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ข้อสันนิษฐานนี้ รวมทั้งจารึกที่ซ่อนอยู่ภายในสุสานเก่าแก่อาจชี้ว่านี่คือสถานที่ฝังศพที่แท้จริงของเจ้าชายวลาด เท่ากับว่า นักประวัติศาสตร์อาจระบุหลุมศพของเขาผิดมาเกือบศตวรรษ
ในตอนนี้ หลุมศพดังกล่าวยังคงไว้ ไม่ให้สาธารณชนเข้าชม เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญกำลังเจาะลึกเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งอาจเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่เกี่ยวกับความตายของเจ้าชายผู้เป็นต้นแบบของแวมไพร์ชื่อดังรุ่นแรกของโลก
ที่มา : dailymail.co.uk
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES