สพฉ. เปิดขั้นตอนใช้ NDEMS ระบบวิดีโอคอลกู้ชีพ ช่วยผู้ป่วย-คนหลงป่า
สพฉ. เปิดขั้นตอนใช้งานแพลตฟอร์ม NDEMS วิดีโอคอลกู้ชีพฉุกเฉิน ช่วยทั้งผู้ป่วย-คนหลงป่า ระบุมีมานานแล้ว แต่ยังไม่ค่อยรู้จัก ผู้แจ้งเหตุใช้บริการฟรี แต่ต้องมีสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินในโรงพยาบาล (รพ.) ที่กำลังสอนให้ญาติผู้ป่วยทำการกู้ชีพฉุกเฉิน ซึ่งเป็นการสอนผ่านวิดีโอคอลทางสมาร์ทโฟนนั้น
ดร.พิเชษฐ์ หนองช้าง เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นที่ รพ.ยะลา ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ปรากฏในคลิป เป็นเจ้าหน้าที่ในศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 ใน รพ.ยะลา ซึ่งปกติแล้วศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 มีอยู่ทุก รพ.ประจำจังหวัดทั่วประเทศ
โดยผู้ป่วยรายดังกล่าวมีอายุ 72 ปี ญาติโทร.มาแจ้งที่ 1669 ระบุว่าผู้ป่วยมีอาการวูบ เหงื่อแตก ตัวเย็น ทาง รพ.ยะลา ก็สั่งให้รถฉุกเฉิน รพ. ออกไปรับ
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ศูนย์รับแจ้งเหตุ ก็ได้ดำเนินการตามมาตรฐานการแพทย์ฉุกเฉินในการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (National Digital Emergency Medical Services Platform) หรือ NDEMS ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการแพทย์ฉุกเฉินกลางของประเทศ ส่งลิงก์ไปยังข้อความมือถือของญาติที่โทร.เข้ามา แล้วเมื่อญาติผู้ป่วยกดลิงก์ ทางศูนย์จะได้รับพิกัดของผู้แจ้งอย่างชัดเจน เพื่อส่งรถไปรับได้ถูกต้องและรวดเร็วแบบเรียลไทม์
ดร.พิเชษฐ์ กล่าวว่า สำหรับการสอนกู้ชีพที่ปรากฏนั้น เจ้าหน้าที่ได้ขอดูอาการของผู้ป่วย ในครั้งแรกประเมินว่าอาจเกิดจากการมีอาการติดคอ จึงสอนให้ญาติทำ “โชกกิ้ง” (Choking) เพื่อให้อาหารหลุดออกมา แต่ก็ไม่เป็นผล เจ้าหน้าที่จึงสอนให้ญาติเร่งทำการกู้ชีพฉุกเฉิน (CPR) โดยนำหุ่นมาสอนกันผ่านวิดีโอคอล ซึ่งผู้ป่วยก็ฟื้นตัวขึ้นมา จากนั้นรถโรงพยาบาล ก็ไปรับมารักษาต่อในห้องฉุกเฉินของ รพ. ต่อ
อย่างไรก็ตาม การที่มีวิดีโอคอลให้เห็นผู้ป่วยนั้น แพทย์จะสามารถประเมินอาการและช่วยเหลือจากทางไกลได้ ส่วนในเรื่องของการส่งลิงก์ผ่านข้อความนั้น บางคนอาจกังวลเรื่องข้อความจากมิจฉาชีพ ซึ่งเรื่องนี้ต้องอธิบายว่าเหตุการณ์ที่มีคนโทร.เข้ามา 1669 จากนั้นผู้แจ้งจะสามารถถือสายไว้ได้ตลอดเวลา ก็จะมั่นใจได้ว่าข้อความที่ส่งมานั้น เป็นเจ้าหน้าที่จาก 1669
ดร.พิเชษฐ์ กล่าวว่า การใช้ระบบ NDEMS เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ซึ่งเป็นระบบที่ สพฉ. ได้พัฒนาระบบขึ้นมา เพื่อการระบุตำแหน่งของผู้ป่วยได้ชัดเจน และมีการประเมินอาการเบื้องต้นผ่านวิดีโอคอล โดยทั้งผู้ป่วยและศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 จะไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไร แต่ผู้แจ้งเหตุต้องมีสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ สพฉ. ใช้งบประมาณบริหารระบบทั้งหมดไว้แล้วทั้งแพลตฟอร์มและระบบอินเทอร์เน็ต โดยที่ผ่านมามีการช่วยเหลือผ่านระบบ NDEMS อยู่หลายครั้งมาก ๆ ทั้งการกู้ชีพคนที่หมดสติ หรือแม้กระทั่งมีเหตุคนหลงป่า ที่ไม่สามารถออกมาได้ แล้วโทร.มา 1669 ให้ช่วยเหลือ
ดร.พิเชษฐ์ กล่าวว่า ระบบ NDEMS ที่ให้บริการปัจจุบันเป็นการระบุพิกัด และวิดีโอคอลหาผู้แจ้งเหตุ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ จะพัฒนาระบบให้มีการติดตามรถฉุกเฉินที่จะออกไปยังที่เกิดเหตุได้ แต่เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เพราะรถฉุกเฉินมีอยู่หลายสังกัด ที่มากสุดคือท้องถิ่น ตามมาด้วยสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข สังกัดมูลนิธิหรือ รพ.เอกชน ซึ่งการพัฒนาระบบให้ติดตามรถพยาบาลได้นั้น ต้องใช้ทุนในการติดเครื่องระบุพิกัด (GPS) รวมถึงต้องมีระบบอินเทอร์เน็ตในรถด้วย
ทั้งนี้ สพฉ.กำลังดำเนินการประเมินมาตรฐานความปลอดภัยของระบบไซเบอร์ ซึ่งปลายปีนี้จะมีการขอ ISO/IEC 27001 ที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับระบบการจัดการความมั่นคงปลอดภัยของสารสนเทศ รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA ต่อไป
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : สพฉ. เปิดขั้นตอนใช้ NDEMS ระบบวิดีโอคอลกู้ชีพ ช่วยผู้ป่วย-คนหลงป่า
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net