ถอดรหัสโอกาสไร้พรมแดนกับ SCB Julius Baer ต่อยอดความมั่งคั่งครั้งประวัติศาสตร์ในมือ Gen Y [ADVERTORIAL]
ปรากฏการณ์ ‘The Great Wealth Transfer’ หรือการส่งต่อความมั่งคั่งครั้งประวัติศาสตร์ คือหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและระหว่างเจเนอเรชันที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในยุคปัจจุบัน
รายงานของ Julius Baer Family Barometer คาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินมหาศาลจากทั่วโลกถึง 19.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ กำลังจะถูกส่งมอบจากรุ่นหนึ่งไปสู่ทายาทรุ่นต่อไปในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า
นี่ไม่ใช่แค่การเคลื่อนย้ายตัวเลขทางการเงิน แต่คือการส่งต่อความรับผิดชอบ คุณค่า และตัวตน ที่จะกำหนดอนาคตของธุรกิจครอบครัวและภูมิทัศน์การลงทุนทั่วโลกใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้รับไม้ต่อส่วนใหญ่คือคนเจเนอเรชัน Y ที่มีมุมมองต่อ ‘ความสำเร็จ’ และ ‘มรดก’ แตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง
THE STANDARD WEALTH ได้มีโอกาสพูดคุยกับ เอเดรียน เมซซินาวเออร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด (SCB Julius Baer) เพื่อถอดรหัสโอกาสและความท้าทายในการต่อยอดความมั่งคั่งครั้งประวัติศาสตร์นี้
การส่งต่อความมั่งคั่ง สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘การพูดคุยกันในครอบครัว’
มีงานวิจัยจาก Family Wealth Alliance บอกว่า 70% ของความมั่งคั่งของครอบครัวจะสูญหายไปในรุ่นที่สอง และ 90% จะสูญหายไปในรุ่นที่สาม และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ เอเดรียนมองว่า หัวใจสำคัญที่สุดของการส่งต่อความมั่งคั่งไม่ใช่เรื่องเทคนิคอย่างภาษีหรือโครงสร้าง แต่คือ ‘การเตรียมความพร้อม’
“ครอบครัวที่จะเติบโตข้ามเจเนอเรชันได้ คือครอบครัวที่นำสมาชิกรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยตั้งแต่เนิ่นๆ และส่งต่อไม่ใช่แค่เงินทุน แต่รวมถึงบริบทที่มาของมันด้วย” เอเดรียนกล่าว “ท้ายที่สุดแล้ว The Great Wealth Transfer ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ทางการเงิน แต่คือการส่งมอบเป้าหมายจากรุ่นสู่รุ่น”
เอเดรียนกล่าวว่า ลองนึกภาพการส่งต่อร้านอาหารเจ้าดัง สูตรและวัตถุดิบอาจอยู่ครบ แต่ถ้าคนรุ่นต่อไปไม่เข้าใจแก่นแท้ เรื่องราว และจิตวิญญาณของอาหารจานนั้น รสชาติอันเป็นตำนานก็อาจจะหายไป แต่เมื่อการส่งต่อเกิดขึ้นด้วยความใส่ใจและการสื่อสาร รสชาตินั้น หรือก็คือ ‘มรดก’ ก็จะยังคงอยู่เพื่อหล่อเลี้ยงคนรุ่นต่อไปได้อีกหลายปี
ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดกลับเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะง่ายที่สุด นั่นคือ ‘การสื่อสาร’ ผลสำรวจล่าสุดเผยว่า ครอบครัวในเอเชียถึง 46% หลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยเรื่องการส่งต่อความมั่งคั่งเพราะกลัวความขัดแย้ง และมีงานวิจัยที่ชี้ว่า 60% ของความล้มเหลวในการส่งต่อความมั่งคั่งมีสาเหตุมาจากการขาดการสื่อสารและความไว้วางใจ
“ปัญหาทางเทคนิคสามารถแก้ไขได้ แต่ปัญหาด้านอารมณ์และความสัมพันธ์นั้นยากกว่า ความเงียบมักนำไปสู่ความสับสน ครอบครัวที่จัดการเรื่องนี้ได้ดีจะเน้นที่ความโปร่งใส เริ่มสื่อสาร และพูดคุยกันตั้งแต่เนิ่นๆ และให้หลายเจเนอเรชันมีส่วนร่วม” เอเดรียนอธิบาย
เมื่อ ‘ความสำเร็จ’ ของ Gen Y ไม่ได้วัดที่การสะสม แต่คือ ‘การสร้างผลกระทบ’
เมื่อไม้ต่อถูกส่งมาอยู่ในมือของทายาทรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Y นิยามของความสำเร็จและมรดกก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง พวกเขาอาจไม่ได้สนใจที่จะสืบทอดธุรกิจของครอบครัวเสมอไป แต่มีความหลงใหลและเป้าหมายของตนเอง
“สำหรับทายาท Gen Y จำนวนมาก ความสำเร็จได้เปลี่ยนจากการสะสมไปสู่การสร้างผลกระทบเชิงบวก ขณะที่คนรุ่นก่อนหน้าสร้างธุรกิจและมุ่งเน้นการรักษาความมั่งคั่ง ทายาทในปัจจุบันต้องการให้ความมั่งคั่งของพวกเขาสอดคล้องกับตัวตนและความเชื่อ พวกเขากำลังคิดถึงผลกระทบต่อสังคมของเงินทุน ไม่ใช่แค่การเติบโตของมัน” เอเดรียนกล่าว
แนวคิดนี้สะท้อนออกมาในรูปแบบการลงทุนที่เปลี่ยนไป จากข้อมูลของ Bain & Co. พบว่า 63% ของคน Gen Y ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมาย (Purpose-Driven Investing) พวกเขามองหาโอกาสในธุรกิจที่ยั่งยืน, การลงทุนที่สอดคล้องกับหลัก ESG, ไพรเวทอิควิตี้ (Private Equity) และสินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนี้ ในฐานะ Digital Natives พวกเขายังคาดหวังประสบการณ์การบริหารความมั่งคั่งที่เป็นแบบ Digital-first ซึ่งให้อิสระ สามารถเข้าถึงการลงทุนได้โดยตรง มีประสบการณ์การใช้งานแบบ Seamless การเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์ และให้บริการแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Services)
ถอดรหัสโอกาสไร้พรมแดน สู่กลยุทธ์ ‘Investing for Legacy’
เมื่อนิยามของ ‘มรดก’ เปลี่ยนไป กลยุทธ์การลงทุนจึงต้องเปลี่ยนตาม การลงทุนเพื่อสืบทอดมรดก หรือ ‘Investing for Legacy’ ในยุคนี้ จึงไม่ใช่แค่การมุ่งเน้นผลตอบแทนระยะสั้น แต่เป็นการสร้างพอร์ตโฟลิโอที่สะท้อนคุณค่าและเป้าหมายระยะยาวของครอบครัว
เอเดรียนอธิบายว่า “คำว่าไร้พรมแดนสะท้อนถึงทั้งภูมิศาสตร์และกรอบความคิด นักลงทุนรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยสถานที่หรือรูปแบบเดิมๆ พวกเขามองหาแนวคิดจากทั่วโลกที่สอดคล้องกับหลักการของตนเอง”
อีกหนึ่ง รูปแบบการบริหารความมั่งคั่งที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มครอบครัวที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (HNW) ในประเทศไทยคือการจัดตั้งสำนักงานธุรกิจครอบครัว หรือ Family Office โดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลทรัพย์สินอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทั้งการลงทุน การวางแผนภาษี มรดก กฎหมาย และกิจกรรมเพื่อสังคม ปัจจุบัน เทรนด์การจัดตั้ง Family Office เริ่มแพร่หลายในประเทศไทยมากขึ้น โดยสามารถจัดตั้งได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบที่ดูแลเฉพาะครอบครัวเดียวอย่างใกล้ชิด หรือการให้บริการหลายครอบครัว รวมถึงการใช้บริการจากสถาบันการเงินที่มีหน่วยงานดูแลด้านความมั่งคั่งโดยเฉพาะ เพื่อช่วยให้ครอบครัวเข้าถึงโซลูชันแบบครบวงจร ทั้งด้านการลงทุน พร้อมวางแผนโครงสร้างทรัพย์สิน และส่งต่อความมั่งคั่งสู่รุ่นถัดไปอย่างยั่งยืน
กลยุทธ์ที่ SCB Julius Baer ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนแนวคิดนี้ คือการช่วยให้ครอบครัวสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องน้อยแต่มีศักยภาพเติบโตสูงในระยะยาว เช่น ตลาดนอกตลาดหลักทรัพย์ (Private Markets) และเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Funds)
“ประโยชน์สำคัญคือการนำคนรุ่นใหม่เข้ามาในกระบวนการตัดสินใจได้ โดยไม่ทำให้พวกเขารู้สึกหนักใจกับความรับผิดชอบทั้งหมด พวกเขาจะได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับบทบาทที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต” เอเดรียนกล่าว
อย่างไรก็ตาม เอเดรียนย้ำถึงข้อควรระวังที่สำคัญว่า “การมีเป้าหมายโดยขาดการวางแผนก็อาจมีความเสี่ยง เราสนับสนุนให้มีกรอบการทำงานที่ชัดเจน กำหนดวัตถุประสงค์ระยะยาว ทำความเข้าใจโปรไฟล์ความเสี่ยง และอย่าละเลยความสำคัญของโครงสร้าง การมีค่านิยมเป็นตัวนำนั้นสามารถทำควบคู่ไปกับการวางกลยุทธ์ที่มั่นคงได้”
สำหรับความท้าทายของการลงทุนข้ามพรมแดนที่มีความซับซ้อนทั้งด้านกฎหมาย ภาษี และธรรมาภิบาล SCB Julius Baer ในฐานะผู้ให้บริการ Private Banking แบบครบวงจรอย่างแท้จริงแห่งเดียวในไทย มีความเชี่ยวชาญทั้งในบริบทของไทยและสากล ซึ่งช่วยให้สามารถเชื่อมโยงและออกแบบแผนการลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมายของครอบครัวได้อย่างเรียบง่ายและชัดเจน
สุดท้ายนี้ เอเดรียนได้ฝากข้อความถึงทายาทธุรกิจรุ่นใหม่ Gen Y ว่า “คุณไม่ได้กำลังก้าวเข้ามารับเพียงมรดก แต่มันให้โอกาสคุณในการกำหนดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ จงเรียนรู้จากคนรุ่นก่อนหน้า แต่อย่ากลัวที่จะเป็นผู้นำในแบบฉบับของตัวเอง จงตั้งคำถามที่ท้าทาย ใช้เวลาของคุณ ปรับเป้าหมายให้สอดคล้องกับคุณค่าของคุณ มรดกที่แท้จริงเริ่มต้นตั้งแต่วินาทีที่คุณเริ่มสร้างมันขึ้นมา ไม่ใช่ในอีกหลายปีข้างหน้า นี่คือโอกาสของคุณที่จะสร้างบางสิ่งที่ยั่งยืน ไม่ใช่แค่ในทางการเงิน แต่ในระดับบุคคลและระดับโลกด้วย”