ชาวนาโคราชร้อง ยังไร้วี่แววเงินช่วยเหลือ ขอรัฐจ่ายทีเดียวเต็มก้อน
(14 ก.ค. 68) ภายหลังจากรัฐบาลประกาศโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 10 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท เพื่อเยียวยาความเดือดร้อนจากราคาข้าวตกต่ำในปีการผลิต 2567/68 และ 2568 ล่าสุด มีการปรับรูปแบบการช่วยเหลือ โดยแบ่งเป็นเงินสด จำนวนไร่ละ 500 บาท และอีกไร่ละ 500 บาท จะสนับสนุนเป็นค่าปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา หรือเมล็ดพันธุ์ แต่ความคืบหน้าของโครงการกลับเผชิญปัญหาความล่าช้า โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเงินสำหรับข้าวนาปรังปี 2568 ซึ่งมีเกษตรกรลงทะเบียนแล้วกว่า 700,000 ราย วงเงินรวมกว่า 7,000 ล้านบาท แม้ว่าการจ่ายเงินสำหรับข้าวนาปี 2567/68 จะเริ่มต้นไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่เกษตรกรจำนวนมากยังรอคอยความชัดเจนและเงินช่วยเหลือที่ล่าช้า สร้างความกังวลต่อภาระหนี้สินและการลงทุนในรอบการเพาะปลูกถัดไป
ล่าสุด วันนี้ ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สอบถาม ชาวนาในพื้นที่ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา โดยนายจรูญ เย็นหลักร้อย อายุ 67 ปี ชาวนาในพื้นที่ บ้านหลักร้อย หมู่ 9 ต.โนนไทย อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า “ตนรู้สึกดีใจที่รัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพราะถือเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงที่ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่รู้สึกผิดหวังเมื่อทราบว่า รัฐบาลจะจ่ายเงินสดเพียงไร่ละ 500 บาท อีกครึ่งหนึ่งเป็นการช่วยในรูปแบบปัจจัยการผลิต เพราะชาวนาส่วนใหญ่ยังต้องการเงินสดเพื่อนำไปใช้จ่ายหนี้สินที่มีอยู่และใช้หมุนเวียนในการดำรงชีพ ตนจึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาจ่ายให้ครบถ้วนไร่ละ 1,000 บาท ตามที่ประกาศไว้ในตอนแรก เพราะแม้ว่าเงินจำนวนนี้จะไม่มากนัก แต่ก็สามารถนำมาแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการทำนาได้บางส่วน
ซึ่งตนได้ไปลงทะเบียนและยื่นเอกสารครบถ้วนตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือแม้แต่บาทเดียว เคยไปสอบถามเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. ก็ได้รับคำตอบว่า ยังไม่มีงบประมาณจากส่วนกลาง ตนและชาวนาอีกหลายครอบครัวในหมู่บ้าน จึงต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาลงทุน ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา และค่าแรงคนงาน โดยหวังว่า รัฐบาลจะจ่ายเงินตามโครงการเพื่อช่วยแบ่งเบา แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะยังไม่รู้ว่าจะได้เงินเมื่อไร จึงอยากฝากถึงรัฐบาล ถ้าจะช่วยเกษตรกรจริง ๆ ไม่ใช่แค่จ่ายเงินช้า แต่ควรช่วยในเรื่องราคาข้าวด้วย เพราะทุกวันนี้ ราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาได้ ยังต่ำมาก ไม่สมดุลกับต้นทุนที่สูงขึ้นทุกปี ทั้งค่าน้ำมัน ค่าแรง ค่าปุ๋ย ซึ่งล้วนแล้วแต่แพงขึ้น ตนอยากเห็นรัฐบาลผลักดันให้ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้น ให้ชาวนาพออยู่พอกิน มีทุนสำรองสำหรับรอบการผลิตต่อไป ไม่ใช่ต้องเป็นหนี้สะสมเรื่อย ๆ จนบางครอบครัวต้องขายที่นาเพื่อใช้หนี้ ตนอยากเห็นการช่วยเหลือที่ยั่งยืน ไม่ใช่แค่เยียวยาระยะสั้น” นายจรูญฯ กล่าว