"พิชัย"ยันเจรจาภาษีสหรัฐฯ ไม่ถือว่าล่าช้า
(14ก.ค.68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในหัวข้อ “กรอบเจรจาและรับมือผลกระทบภาษีทรัมป์” ในงาน กรุงเทพธุรกิจ Roundtable : The Art of The (Re) Deal ว่า แม้การเจรจาจะผ่านมาแล้ว 100 วัน และยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ยืนยันว่ารัฐบาลมีทีมงานที่ติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ถือว่าการเจรจาล่าช้า อีกทั้งไทยยังได้รับประโยชน์จากข้อสรุปในการเจรจากับประเทศอื่น ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับแนวทางเจรจาของไทย
โดยขณะนี้ไทยเตรียมเพิ่มรายการสินค้าเข้าสู่การเจรจา เพื่อลดอัตราภาษีให้เหลือ 0% ที่ไทยผลิตไม่ได้ และต้องนำเข้า หรือของที่ผลิตในไทยแล้วไม่เพียงพอ โดยการป้องกันภาคการผลิตของไทยโดยเฉพาะในภาคเกษตรนั้นยังมีอยู่
“ข้อเสนอใหม่ที่ไทยส่งไปให้พิจารณาโดยเปิดตลาดให้สหรัฐแล้ว 63-64% และเพิ่มเป็น 69% เรามีการเปิดตลาดสินค้าบางอย่างที่เราไม่เคยเปิด เราก็ต้องเปิดมากขึ้น ซึ่งกำลังคิดว่าเดิมไทยผลิตเยอะก็จะไม่ได้เปิดให้ แต่ถ้าเราเปิดให้ คิดว่าถ้าเปิดเขาก็คงเข้ามาไม่ได้ง่าย เช่น รถพวงมาลัยซ้าย” นายพิชัย กล่าว
ทั้งนี้ ระหว่างการเจรจา ไทยจะต้องพิจารณาด้วยว่าข้อเสนอที่ตกลงกันจะกระทบประเทศที่สามหรือไม่ และจำเป็นต้องวางหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับการรักษาผลประโยชน์ของไทยอย่างยั่งยืน เช่น การส่งเสริมการค้ากับสหรัฐ ในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และการนำเข้าพลังงาน
นายพิชัย ยอมรับว่า การเจรจาดังกล่าวมีความซับซ้อนและต้องใช้เวลา ไม่สามารถจบลงได้ในระยะสั้น โดยไทยต้องพิจารณาความต้องการของสหรัฐ เพื่อนำมากำหนดมาตรการรองรับ ซึ่งสหรัฐต้องการเพิ่มรายได้ภาครัฐผ่านการจัดเก็บภาษี ลดรายจ่าย และลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยจากจดหมายฉบับล่าสุด สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยมีการยุบสภาในระหว่างนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการเจรจาในบางประเด็น เพราะเงื่อนไขบางประการจำเป็นต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา
นายพิชัยยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหา การป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้า โดยข้อเสนอของสหรัฐนั้นจะให้มีการเพิ่มการใช้วัตถุดิบหรือส่วนประกอบที่มีการผลิตในประเทศไทย (Local content) ซึ่งสหรัฐฯ ยังไม่ชัดเจนว่าจะกำหนดสัดส่วน Local content ภายในประเทศไว้ที่เท่าไร แต่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูง 60–80% เทียบกับที่ไทยกำหนดไว้ที่ 40% ซึ่งหากมีการปรับเกณฑ์นี้ อาจไม่ได้ทำให้ไทยเสียเปรียบ ประเทศเวียดนามมากนัก เพราะเวียดนามมีอัตราการใช้วัตถุดิบจากประเทศที่สามสูงกว่าไทย
ดังนั้น ไทยจึงเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ โดยให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเตรียมซอฟต์โลนไว้ประมาณ 2 แสนล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อช่วยเหลือ เพื่อช่วยเหลือทั้งการลงทุน ช่วยการจ้างงาน การบริหารสินค้าคงคลัง และมาตรการอื่นๆของสถาบันการเงิน มาตรการเยียวยาต่างๆ โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้จากระดับปกติที่ดอกเบี้ย 2%
“ซอฟต์โลนดังกล่าวจะมาจากธนาคารออมสินเป็นหลัก ส่วน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะช่วยบางส่วน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเน้นช่วยภาคเกษตร รวมถึง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK โดยแต่สัดส่วนการปล่อยกู้จากธนาคารใดยังต้องรอความชัดเจนจากฝั่งสหรัฐ ว่าจะกำหนดอัตราภาษีกับไทยอย่างไร”
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องเตรียมมาตรการเพิ่มเติมรองรับ โดยได้รวบรวมข้อมูลจากแต่ละภาคส่วน เพื่อออกแบบมาตรการให้ครอบคลุมและตรงเป้าหมาย ซึ่งภาคเอกชนทยอยส่งข้อมูลเข้ามาอย่างต่อเนื่องในวันนี้ (14 ก.ค. 2568) เพื่อใช้ประกอบการประเมินและแก้ไขปัญหาในแต่ละภาคธุรกิจ
ในส่วนของข้อเสนอใหม่ที่ไทยจะยื่นต่อสหรัฐ นายพิชัยระบุว่า เงื่อนไขที่ไม่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ เช่น ความมั่นคง ยังอยู่ระหว่างการหารือ ซึ่งหากไทยเสนอประเด็นด้านความมั่นคง อาจทำให้จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีกับไทยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นายพิชัยมองว่า เรื่องนี้ยังไม่น่ากังวล เนื่องจากไทยยังไม่ได้ใช้ประเทศใดเป็นเงื่อนไขในการเจรจากับสหรัฐ
ข่าวเวิร์คพอยท์23