สทนช. หารือ ‘เมียนมา’ แก้ปัญหาน้ำกก จับมือ MRC เดินหน้าติดตามคุณภาพน้ำข้ามพรมแดน
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาค “การพัฒนาข้อเสนอการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำร่วมกัน (Joint Water Quality Monitoring)” พร้อมการลงพื้นที่บริเวณแม่น้ำกก จังหวัดเชียงราย โดยมี ผู้แทนจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) และประเทศสมาชิก MRC ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าร่วมประชุม
ในการประชุมครั้งนี้ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เป็นประธานฝ่ายไทย พร้อมด้วย นายชุมลาภ เตชะเสน ผู้ช่วยเลขาธิการ สทนช. และ ดร.วินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สทนช. รวมถึงผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนของสารหนูในแม่น้ำกกและแม่น้ำโขง เสริมสร้างความร่วมมือด้านวิชาการ การแบ่งปันข้อมูล และการพัฒนาโครงการติดตามคุณภาพน้ำข้ามพรมแดนร่วมกันในระดับภูมิภาค
ในการนี้ กระทรวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งเมียนมา ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม จำนวน 3 ราย พร้อมนำเสนอข้อมูล สถานการณ์คุณภาพน้ำในลุ่มน้ำกกตอนบน รวมถึงการปนเปื้อนของสารหนูและการติดตามคุณภาพน้ำในพื้นที่ ส่วนประเทศไทย โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้นำเสนอผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดินและตะกอนในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำรวก และแม่น้ำโขง ซึ่งพบค่าการปนเปื้อนของสารหนูเกินมาตรฐานน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยตรงตามมาตรฐาน WHO พร้อมทั้งได้นำเสนอดำเนินงานของศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย รวมถึงคำแนะนำด้านการใช้น้ำและแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมแก่ประชาชน รวมทั้ง สปป.ลาว ได้รายงานผลเบื้องต้นของการตรวจสอบการปนเปื้อนโลหะหนักในบริเวณแม่น้ำโขง แขวงบ่อแก้ว
ทั้งนี้ เมียนมาได้ร่วมแสดงความกังวลต่อสถานการณ์คุณภาพน้ำ และยินดีเข้าร่วมดำเนินโครงการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำร่วมกัน ในฐานะประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partner) โดยกระทรวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งเมียนมา จะมีบทบาทในการประสานงาน อำนวยความสะดวก และดำเนินการสำรวจ เก็บ วิเคราะห์ตัวอย่าง และแบ่งปันข้อมูลคุณภาพน้ำที่มีอยู่บริเวณต้นน้ำของแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการวางกลไกความร่วมมือข้ามพรมแดนอย่างเป็นรูปธรรม โดยประเทศไทยได้เสนอให้มีการกำหนดวิธีการตรวจวัดและพารามิเตอร์คุณภาพน้ำที่เป็นมาตรฐานเดียวกันระหว่างประเทศ การติดตามตรวจวัดอย่างต่อเนื่อง การจัดตั้งแพลตฟอร์มแบ่งปันข้อมูล และการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า โดยเฉพาะการกำหนดเกณฑ์และเงื่อนไขร่วมกันเพื่อประกอบการแจ้งเตือนการใช้น้ำประเภทต่างๆ เช่น น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การทำการเกษตร การปลูกข้าว และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น พร้อมเสนอให้มีการติดตามคุณภาพน้ำในลำน้ำสาขาอย่างครอบคลุมทั้งฝั่งไทย เมียนมา และ สปป.ลาว การติดตามและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล รวมถึงสนับสนุนการนำแนวทางธรรมชาติ (Nature-based Solutions: NbS) มาใช้ในการลดผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ การศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม เพื่อให้ได้ทราบผลกระทบจากปัญหาคุณภาพน้ำ และหาแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อไป ตลอดจนการสนับสนุนการแจกชุดทดสอบคุณภาพน้ำภาคสนามให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำเบื้องต้น ต่อยอดเผยแพร่ความรู้และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในชุมชน ทั้งนี้ ประเทศไทยยินดีที่จะแบ่งปันข้อมูลคุณภาพน้ำให้เมียนมาและประเทศสมาชิก MRC
หลังจากนั้น ช่วงบ่าย ผู้เข้าร่วมประชุมได้ลงพื้นที่จุดต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย ได้แก่ 1) ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมจุดที่ 2 บริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงราย 2) การสาธิตการเก็บตัวอย่างน้ำของกรมควบคุมมลพิษที่สะพานแม่ฟ้าหลวง 3) โรงกรองน้ำวังคำ การประปาส่วนภูมิภาค สาขาเชียงราย และ 4) สวนสาธารณะหาดเชียงราย เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากเจ้าหน้าที่การประปาและภาคประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการปนเปื้อนสารหนู
“ผลจากการประชุมครั้งนี้ นับเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างเมียนมา และประเทศสมาชิก MRC ภายใต้เอกสารข้อเสนอการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำร่วมกัน (Concept Note) โดยจะมีการแบ่งปันข้อมูล จุดเก็บตัวอย่างและผลการตรวจวัดที่มีอยู่ พร้อมทั้งจะร่วมกันกำหนดจุดเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม ความถี่ในการเก็บข้อมูล และการสนับสนุนด้านทรัพยากรบุคคลต่อไป ซึ่งจะเป็นรากฐานความร่วมมือระยะยาวในการบริหารจัดการคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำโขงได้อย่างยั่งยืน” เลขาธิการ สทนช. กล่าว