พัฒนาการ “ทุเรียนซานย่า” ก้าวหน้า สะท้อนคุณภาพการเกษตรเขตร้อนของจีน
สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองซานย่า ประเทศจีน เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ว่า จีนครองตำแหน่งประเทศผู้นำเข้าและผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก ข้อมูลสถิติศุลกากรจีนระบุว่า ปริมาณการนำเข้าและส่งออกทุเรียนของจีนอยู่ที่ 298,000 ตัน เมื่อปี 2558 แต่พุ่งทะยานขึ้นเป็น 1.55 ล้านตัน เมื่อปี 2567 ซึ่งอุปสงค์ความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมทุเรียนภายในประเทศที่มีอนาคตสดใส
เมืองซานย่าและเขตนิเวศวิทยาอวี้ไฉ ได้ดำเนินนโยบายเงินอุดหนุน พร้อมสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการในการจัดหาต้นกล้า บ่มเพาะเทคโนโลยี และรับประกันยอดจำหน่าย เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกทุเรียนในท้องถิ่นจาก “ทดลองปลูก” สู่ “ปลูกขนานใหญ่”
ฐานเพาะปลูกทุเรียนหลักของเขตนิเวศอวี้ไฉ มุ่งมั่นสร้างมาตรฐาน “การเกษตรอัจฉริยะ” ซึ่งมีการควบคุมสภาพแวดล้อมของต้นทุเรียนอย่างแม่นยำผ่านระบบรดน้ำอัตโนมัติ ระบบฝนเทียม และอุปกรณ์ผสมน้ำกับปุ๋ย กอปรกับเครื่องตรวจจับแมลง เครื่องวิเคราะห์สปอร์ แพลตฟอร์มคลังข้อมูลขนาดใหญ่ และวิธีการทางเทคนิคอื่น ๆ โดยทั้งหมดหลอมรวมเป็นดัง “พี่เลี้ยง” คอยดูแลการเจริญเติบโตของต้นทุเรียนแบบครบวงจรชีวิต
นอกจากเพาะปลูกให้ดีแล้ว ยังต้องจำหน่ายให้ดีด้วย เมื่อไม่นานมานี้ เมืองซานย่าได้เปิดใช้สายการผลิตสำหรับคัดแยกทุเรียนที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ซึ่งร่วมพัฒนาโดยบริษัท การเกษตรไห่หนาน โยวฉี จำกัด และบริษัทเทคโนโลยีฝ่ายที่สาม สามารถทำการซีทีสแกนทุเรียนแต่ละลูก เพื่อคัดทิ้งทุเรียนที่มีจุดบกพร่อง เช่น หนอนทุเรียน ความเน่าเสีย หรือเนื้อตาย พร้อมวิเคราะห์จำนวนพูทุเรียนและความสมบูรณ์
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมทุเรียนภายในประเทศจีนเริ่มปรากฏผลลัพธ์เชิงบวกอย่างต่อเนื่อง บริษัทผู้ประกอบการถ่ายทอดประสบการณ์เพาะปลูกและเทคนิคการจัดการแก่เกษตรกรท้องถิ่น ซึ่งช่วยยกระดับการเพาะปลูกที่นำพาสู่ความเจริญมั่งคั่งร่วมกัน เช่น หมู่บ้านหมิงซ่านได้พัฒนาอุตสาหกรรมเพาะปลูกทุเรียนแซมกับพืชผลอื่น ๆ ผ่านโมเดล “ผู้ประกอบการ+สหกรณ์+เกษตรกร” เพื่อบรรลุแนวทางการสนับสนุนระยะสั้นสำหรับผลประโยชน์ระยะยาว
การเพาะปลูกทุเรียนช่วยสร้างงานและการมีงานทำช่วยเพิ่มรายได้ ปัจจุบัน พื้นที่เพาะปลูกทุเรียนในเขตนิเวศวิทยาอวี้ไฉสูงเกิน 12,000 หมู่ (ราว 5,000 ไร่) แล้ว ช่วยให้เกษตรกรท้องถิ่นจำนวนมากมีงานทำใกล้บ้าน และดึงดูดชาวบ้านเพาะปลูกทุเรียนของตนเอง
เมืองซานย่ากำลังส่งเสริมการก่อสร้าง “ศูนย์แลกเปลี่ยนทุเรียนนานาชาติ” ที่บูรณาการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ความคิดสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม และธุรกิจอีกหลายรูปแบบ เพื่อบุกเบิกโมเดลการพัฒนาใหม่ๆ เช่น “ทุเรียน+การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” หรือ “ทุเรียน+แบรนด์ทรัพย์สินทางปัญญา” พร้อมเดินหน้าพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนที่ทนหนาวทนแล้งเก่งขึ้นด้วยความหวังขยายตลาดของทุเรียนภายในประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น.
ข้อมูล : XINHUA
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES