‘หิ่งห้อย’ สัตว์ปริศนาเรืองแสง ที่ใกล้สูญพันธ์
คุณผู้อ่านจำได้หรือไม่ ว่าเราเห็นหิ่งห้อย (Fireflies) ครั้งล่าสุดตอนไหน ?
เผลอ ๆ คุณผู้อ่านบางท่านอาจไม่เคยเห็นหิ่งห้อยด้วยตาตัวเองเป็น ๆ เลยด้วยซ้ำ
ดีไม่ดี เราทุกคนอาจไม่มีโอกาสได้เห็นหิ่งห้อยอีกแล้วก็ได้
เพราะตอนนี้หิ่งห้อยอาจกลายเป็นสัตว์สูญพันธ์ในอีกไม่ช้า
หิ่งห้อย สัตว์ปริศนาเรืองแสง
‘ราฟาเอล เดอ ค็อก’ (Raphaël De Cock) เคยเป็นเพียงเด็กน้อยที่วิ่งไล่จับหิ่งห้อยในสวนหลังบ้าน เหมือนเด็กหลาย ๆ คน แต่ตอนนี้ราฟาเอลคือนักวิจัยที่กำลังทำดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับหิ่งห้อย เขาคือหนึ่งในนักวิจัยหลาย ๆ คนบนโลกที่กำลังทำการศึกษาค้นคว้าถึงสถานการณ์การหายไปของหิ่งห้อยบนโลกนี้
จริง ๆ แล้วหิ่งห้อยเป็นสัตว์ที่เต็มไปด้วยปริศนา National Geographic ระบุว่าบนโลกนี้มีหิ่งห้อยมากกว่า 2,600 สปีชีส์ ทว่านักวิทยาศาสตร์กลับศึกษาไปได้แค่เพียง 150 สปีชีส์ หรือราว ๆ 5.7% เท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น ราว ๆ 520 สปีชีส์ ถูกจัดอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน ‘IUCN Firefly Specialist Group’ มองว่าเป็นตัวเลขที่สูงและน่ากังวลอย่างมาก
เรื่องแน่ชัดที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์มั่นใจคือหิ่งห้อยกำลังมีจำนวนลดลงทั่วโลก แต่ข้อมูลพื้นฐานด้านอื่น ๆ เช่น หิ่งห้อยสายพันธุ์ต่าง ๆ กินอะไร อาศัยอยู่ที่ไหน มีชีวิตการเป็นอยู่อย่างไร ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ยังคงมีไม่มากนัก แถมทุกวันนี้นักวิทย์ฯ ยังค้นพบหิ่งห้อยสปีชีส์ใหม่เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ
จะนิยามว่า ‘หิ่งห้อยคือสัตว์ปริศนา’ คำกล่าวนี้อาจไม่เกินจริงนัก สงสัยราฟาเอลคงเจองานหินเสียแล้วในการศึกษาสัตว์ปริศนานี้
.
ภัยคุกคามแสงน้อย
นักวิทยาศาสตร์ระบุถึงสาเหตุสำคัญเท่าที่จะระบุได้ ว่าอะไรคือตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้หิ่งห้อยมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ แต่ความปริศนาก็ยังตามมาถึงตรงนี้ เพราะนักวิทย์ฯ เองก็ไม่สามารถระบุได้ว่าจำนวนหิ่งห้อยเริ่มลดลงตั้งแต่ตอนไหน ปีไหน คือข้อมูลชี้ชัดที่นักวิทย์ฯ มีในมือนั้นน้อยมาก
กลับมาที่ภัยคุกคาม นักวิทย์ฯ เปิดเผยว่าพื้นที่แต่ละพื้นที่ก็จะมี ‘ปัจจัยคุกคาม’ หิ่งห้อยต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่พบได้ในทุก ๆ ที่เช่น ปัญหาเรื่องแสง (light pollution) การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ปัญหาจากยาฆ่าแมลง หรือแม้แต่ปัญหาที่เกิดจากการมีนักท่องเที่ยวมากเกินไปของพื้นที่
หรือแม้แต่ปัญหาที่เป็น Mainstream ของโลกอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้หิ่งห้อยเข้าใกล้คำว่าสูญพันธ์มากเข้าไปทุกที ไม่ว่าจะจากภัยแล้งที่ยาวนานขึ้น น้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้น พายุที่รุนแรง อากาศที่ร้อนและแปรปรวน Extreme มากยิ่งขึ้น เจอแบบนี้ขนาดคนยังลำบาก หิ่งห้อยจะไปรอดอะไร
.
หิ่งห้อยจะหายไป เรื่องเดิมที่พูดซ้ำมาแล้วหลายปี
ตอนนี้ดีขึ้นหรือยัง ?
สถานการณ์นี้เคยถูกพูดถึงมาแล้วในประเทศไทยตั้งแต่หลายปีก่อน The Matter, The Momentum เคยพูดถึงเรื่องนี้บนพื้นที่สื่อมาแล้วตั้งแต่เมื่อราว ๆ 5 ปีก่อน หรือแม้แต่ Magazine ต่างประเทศก็เคยพูดถึงเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อปี 2559 ดังนั้นถ้าเราพูดถึงเรื่องนี้มานานแล้วหลายปี ตอนนี้สถานการณ์ของหิ่งห้อยดีขึ้นหรือยัง ?
ข่าวดีของเรื่องนี้คือ ตอนนี้เรากำลังมาถูกทาง เมื่อเปรียบเทียบกับ 30 ปีที่แล้ว เรื่องนี้ถูกยืนยันโดย ‘วัน ฟาริดาห์ อัคมาล จูโซ’ (Wan Faridah Akmal Jusoh) ประธานของสถาบัน IUCN Firefly Specialist Group
เรื่องนี้เป็นเหมือนความหวังเล็ก ๆ ที่จุดประกายให้ความหวังกับคนรุ่นหลังและคนรุ่นเราที่จะได้มีโอกาสได้เห็นหิ่งห้อยอีกครั้ง คือถึงแม้ที่ไทยเราจะไม่ค่อยเห็นหิ่งห้อย (ในเมืองไม่มีแน่ ๆ) แต่ที่สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกก็ยังพอให้เห็นได้บ้าง ตอนนี้ที่สหรัฐฯ แคนาดา ก็กำลังมีการศึกษาวิจัยชีวิตของหิ่งห้อยเพื่ออนุรักษ์ให้หิ่งห้อยยังอยู่รอดจนถึงยุคสมัยหน้า
ถึงแม้มนุษย์เราจะพยายามแต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะสวยหรู ให้ลองนึกถึงเวลาที่เราเดินหน้า 2 ก้าว แต่เรากลับเดินถอยหลัง 4 ก้าว จากปัจจัยบางประการที่เราควบคุมไม่ได้ หรือเราในฐานะคนตัวเล็กไม่สามารถทำอะไรได้ เรื่องนี้เป็นหนึ่งในความเศร้าที่เราในฐานะคนตัวเล็กเผชิญ
หากคุณผู้อ่านได้มีโอกาสออกนอกเมือง ไปอยู่ท่ามกลางที่ ๆ ไม่มีแสง อย่าลืมที่จะมองหาแสงเล็ก ๆ ที่เปร่งประกายยามค่ำคืน แสงนั้นถ้าไม่ใช่ผีกระสือก็คงเป็นหิ่งห้อย