“ดีป้า” แนะไทยปรับแผนรับมือภาษีทรัมป์ 36 % เร่งเปิดตลาดใหม่-ใช้ดิจิทัลส่งเสริมผู้ประกอบการ
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า หลังจาก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศยืนยันมาตรการภาษีนำเข้าสูงสุดรอบใหม่ โดยจะเก็บอัตราภาษี 36% สำหรับสินค้านำเข้าจากไทย เริ่มมีผลบังคับใช้ วันที่ 1 ส.ค. 68 เป็นต้นไป มาตรการภาษีใหม่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “เก็บภาษีทุกทิศ” ของสหรัฐฯ โดยตั้งต้นจากการเก็บภาษีนำเข้าขั้นพื้นฐาน 10% สำหรับสินค้าทุกประเภทจากทุกประเทศ และเลือกใช้ อัตราพิเศษ กับประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ อย่างไทย จีน และเวียดนาม โดยที่ไทยถูกจัดเก็บในอัตรา 36% สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในเอเชีย
ทั้งนี้หากไทยไม่เร่งปรับตัวภายในไตรมาสนี้ อาจกระทบต่อ ความสามารถในการแข่งขันและภาพรวมการส่งออก ของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยแนวทางรับมือที่ไทยควรเร่งดำเนินการ ได้แก่ เร่งเปิดตลาดใหม่ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และแอฟริกา พัฒนาช่องทางส่งออกผ่านดิจิทัล เช่น PromptTrade และระบบ Trade Digitization และสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะในภาคเกษตรและการแปรรูปสินค้า ให้เข้าถึงตลาดโลกได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ควรเร่งการกระจายโอกาสสู่กลุ่มฐานราก เป็นกุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยงของประเทศจากแรงปะทะภายนอก และสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจากฐานข้างล่างขึ้นบน และควรเร่งหาวิธีในการจัดเก็บภาษีดิจิทัลที่ยังไม่ทั่วถึง โดยปัจจุบันไทยสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากบริการดิจิทัลข้ามชาติได้เพียง 3,000 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งที่ประเมินว่าควรเก็บได้ถึง 70,000 ล้านบาทต่อปี ควรได้รับการปฏิรูปเร่งด่วน
นาย ณัฐพล กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน สินค้าส่งออกหลักของไทย คือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ และเซมิคอนดักเตอร์ กำลังเผชิญแรงเสียดทานจากมาตรการภาษีดังกล่าว โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ขณะที่สินค้าเกษตรอย่างข้าว แม้ยังมีโอกาส แต่มีสัดส่วนส่งออกไม่มากนัก โดยในไตรมาสล่าสุด ข้าวอยู่อันดับ 9 ของสินค้าส่งออกไทย ซึ่งหากไทย ไม่สามารถเร่งปรับตัวทันกับสถานการณ์ และหากมาตรการภาษีใหม่ของสหรัฐฯ ส่งผลต่อยอดส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ GDP ของไทยอาจหดตัวลงถึง 2.5% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เพียงพอจะรักษาเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
“การแข่งขันด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคกำลังรุนแรงขึ้น โดย เวียดนาม เป็นประเทศที่หลายชาติ รวมถึงสหรัฐฯ มองเป็นฐานผลิตใหม่แทนจีน โดยมีสัดส่วนการส่งออกต่อ GDP สูงถึง 90% ขณะที่ไทยยังไม่มีจุดยืนชัดเจนในเวทีเศรษฐกิจโลกว่าจะเป็นผู้นำในด้านใด เช่น เทคโนโลยีเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป หรืออิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ทางออกที่เป็นรูปธรรม ต้องสร้าง National Single Window เพื่อให้การส่งออกเป็นระบบอัตโนมัติ ลดต้นทุน เพิ่มความโปร่งใส และขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงตลาดต่างประเทศ และเร่งพัฒนาสินค้าใหม่ๆ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรพื้นฐาน และขยายตลาดใหม่ที่ยังไม่มีคู่แข่งมาก” นายณัฐพล กล่าว