ศาลรัฐธรรมนูญมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องกล่าวหา กกต. เอื้อ ภูมิใจไทย-เนวิน ชิดชอบ-เครือข่าย พัวพันขบวนการฮั้ว สว.
วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาคดี เรื่องพิจารณาที่ 16/2568 กรณีนายณฐพร โตประยูร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. (ผู้ถูกร้องที่ 1) และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 2) จัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และเอื้อประโยชน์ให้พรรคภูมิใจไทย (ผู้ถูกร้องที่ 3) กรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย (ผู้ถูกร้องที่ 4) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) รายชื่อปรากฏตามสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 5) นายเนวิน ชิดชอบ (ผู้ถูกร้องที่ 6) นางกรุณา ชิดชอบ (ผู้ถูกร้องที่ 7) นายทองเจือ ชาติกิจเจริญ กับพวก (ผู้ถูกร้องที่ 8) นายศุภชัย โพธิ์สุ (ผู้ถูกร้องที่ 9) นางสาววาริน ชิณวงศ์ (ผู้ถูกร้องที่ 10) นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ (ผู้ถูกร้องที่ 11) และนายสุบิน ศักดา (ผู้ถูกร้องที่ 12)
ร่วมกันกระทำการโดยทุจริตในกระบวนการเลือก สว. ผู้ถูกร้องที่ 3, ที่ 4, ที่ 6 และที่ 7 เป็นผู้ดำเนินการวางแผนและควบคุมกระบวนการทุจริตการเลือก สว. ทำให้ได้มาซึ่ง สว. จำนวน 138 คน และสำรองอีกจำนวน 2 คน อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผู้ถูกร้องที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 12 เป็นผู้ดำเนินการตามแผนการทุจริตการเลือก สว. ดังกล่าว อันเป็นผลให้ผู้ถูกร้องที่ 5 ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็น สว. แต่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วยความไม่เป็นกลางทางการเมือง ไม่ซื่อสัตย์สุจริต และไม่เป็นไปตามกฎหมาย การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงที่ 12 มีความเชื่อมโยงกันและร่วมกันทำเป็นขบวนการให้ได้มาซึ่ง สว. เพื่อใช้อำนาจปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 แต่อัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว และสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1, ที่ 2, ที่ 5 รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคภูมิใจไทย (รายชื่อตามสำนวนการสอบสวนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง) หยุดปฏิบัติหน้าที่นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบ ปรากฏว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการทุจริตการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เป็นการกล่าวอ้างว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. และความผิดทางอาญา การกระทำดังกล่าวอยู่ภายใต้การตรวจสอบและดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย