ได้ฤกษ์ รฟท.ไฟเขียว ’SRTA‘ เช่าที่ดินย่านรัชดาฯปั๊มรายได้หมื่นล้าน
บอร์ด รฟท. ไฟเขียว ‘SRTA’เช่าที่ดินริมถนนรัชดาฯ สัมปทาน 30 ปี ลุยปั๊มรายได้หมื่นล้าน ปักหมุด 1 ส.ค.นี้ ได้ค่าเช่าก้อนแรก ส่วน‘ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน’ รออัยการสูงสุดตอบกลับแก้ไขร่างสัญญาฯภายในเดือนนี้ ลุ้นออกหนังสือแจ้งเริ่มงาน ก.ย.68
18 ก.ค.2568-นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ว่า ที่ประชุมบอร์ดมีมติเห็นชอบให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ รฟท. เช่าเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินที่ดินพร้อมอาคารสิ่งปลูกสร้างเริ่มจากพื้นที่ริมถนนรัชดาภิเษกที่ดินพร้อมอาคารกลาสเฮาส์ บริเวณถนนรัชดาภิเษก 1 แปลง หรือประมาณ 4 ไร่ โดยสัญญาเช่าเดิมสิ้นสุดลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 แต่ได้มีการขยายสัญญาเช่าถึง 31 ก.ค.2568
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพย์สินของ รฟท. โดยให้ SRTA ซึ่งมีความคล่องตัวและเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบริหารจัดการเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะ เข้ามาดูแลทรัพย์สินของ รฟท. ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้มอบหมายให้เป็นผู้เช่าที่ดินและสิทธิ์ปลูกสร้างจาก รฟท. โดยในส่วนของพื้นที่ริมถนนรัชดาภิเษก SRTA จะได้สิทธิ์เช่าระยะยาวเป็นเวลา 30 ปี จากเดิม 10 ปี เบื้องต้นมูลค่าประเมินที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างพื้นที่ดังกล่าวในปัจจุบันประมาณ 1 พันล้านบาท โดยสัญญาเช่าฉบับใหม่จะเริ่มในวันที่ 1 ส.ค. นี้ ดังนั้น รฟท. จะได้รับค่าเช่าก้อนแรกจาก SRTA ทันที
สำหรับแผนการใช้พื้นที่ของ SRTA คือการใช้พื้นที่บางส่วนเป็นสำนักงานของบริษัท ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่จะนำพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ โดย SRTA จะเป็นผู้บริหารจัดการและปล่อยเช่าช่วงต่อในราคาประเมินของตลาด คาดว่าจะได้รับค่าเช่าจากที่ดินแปลงนี้เพิ่มขึ้นจากสัญญาเก่า เนื่องจากในสัญญาใหม่นั้น ได้มีการประเมินในส่วนของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ รฟท.อย่างแน่นอน
“ปัจจุบัน รฟท.มี 12,000 สัญญา ซึ่งแบ่งออกเป็น Core Business สัญญาในสถานี เช่น ร้านกาแฟ และ Non-core Business พื้นที่นอกสถานี เช่น แปลงที่ดินขนาดใหญ่ โดย SRTA จะมุ่งเน้นการดูแลทรัพย์สินในส่วนของที่ดินแปลงใหญ่เป็นหลัก ส่วนที่ดินที่กำลังจะหมดสัญญาเช่า หลังจากนี้ รฟท. จะไม่ต่อสัญญากับผู้เช่ารายเดิมโดยตรง แต่ได้มอบหมายให้ SRTA เข้ามาบริหารจัดการเช่าจาก รฟท. ก่อน แล้วจึงไปปล่อยเช่าช่วงต่อในราคาตลาดต่อไป“นายอนันต์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีบางพื้นที่ บริเวณสถานีธนบุรี (ตลาดศาลาน้ำร้อน) เบื้องต้นมีแผนที่จะพัฒนาให้เป็นตลาดที่มี2- 3 ชั้น และมีที่จอดรถด้วย จากเดิมเป็นตลาดชั้นเดียว ซึ่งจะพัฒนาให้มีลักษณะคล้ายกับตลาดปลาในประเทศญี่ปุ่น โดยหลังจากนี้จะการศึกษาฯ จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนสรุปอีกครั้ง เนื่องจากมีความซับซ้อนเรื่องผู้เช่าเดิมและความต้องการที่จอดรถริมถนน นอกจากนี้ยังมีที่ดินย่านพหลโยธิน (เซ็นทรัลลาดพร้าว) ซึ่ง SRTA อยู่ระหว่างศึกษาประเมินราคาที่ดิน เพื่อเจรจาสัญญาใหม่กับผู้เช่าด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน รฟท. มีรายได้รวมประมาณ 9,700 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นรายได้จากที่ดิน/ทรัพย์สินประมาณ 3,700 ล้านบาท และรายได้จากค่าโดยสารและค่าขนส่งสินค้าประมาณ 6,000 ล้านบาท โดย รฟท. ตั้งเป้าที่จะเพิ่มรายได้จากการเช่าบริกหารทรัพย์สินเป็น 5,000 ล้านบาทภายในปี 2569 ซึ่งจะทำให้รฟท.จะมีรายได้ถึง 10,000 ล้านบาท
สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) มูลค่าโครงการประมาณ 224,544 ล้านบาท โดยที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ยังไม่มีการเสนอวาระดังกล่าวเข้าที่ประชุม ปัจจุบันอยู่ระหว่างรออัยการสูงสุดตรวจสอบร่างแก้ไขสัญญาฯ หากมีความคิดเห็นเพิ่มเติมจะต้องนำมาเสนอที่บอร์ดรฟท.รับทราบด้วย
ทั้งนี้คาดว่าอัยการสูงสุดจะส่งกลับมาที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายในเดือนนี้ จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.รับทราบ จากนั้นจะเสนอต่อ (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา พร้อมลงนามแก้ไขสัญญาฯภายในเดือนส.ค.2568 และจะเริ่มออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ภายในเดือนก.ย.2568 จากนั้นจะดำเนินการก่อสร้างต่อไป ตามแผนจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572.