ดราม่าไม่จบ! DUSIT งบยังไม่ผ่าน แรงต้านผู้ถือหุ้นใหญ่ บีบหาทางรอดกลางวงไฟ
สถานการณ์ภายใน "บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT" อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไม่จบไม่สิ้น ล่าสุดแจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯว่า บริษัทฯยังคงเดินหน้าในการจัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาและอนุมัติงบการเงินปี 2567 รวมถึงวาระต่างๆที่เกี่ยวข้องตามที่บริษัทจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา
โดยบริษัทอยู่ในระหว่างดำเนินการติดต่อประสานงานกับผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ไม่อนุมัติงบการเงิน เพื่อหาแนวทางดำเนินการใดๆให้สามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้นครั้งต่อไป เพื่อพิจารณาและอนุมัติงบการเงินปี 2567 โดยเร็วที่สุด
สำหรับสรุปคำถาม คำตอบเกี่ยวกับผลประกอบการ และ ฐานะการเงินของบริษัทตามงบการเงินปี 2567 บริษัทฯจะรวบรวม และ เผยแพร่ผ่านเว็บไซด์ของบริษัทฯ หากมีความคืบหน้าใดๆที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯจะรายงานมายังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยทันที
นอกจากนี้ ตามที่บริษัทได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อเข้ารับการพิจารณาเป็นกรรมการของบริษัทแทนกรรมการที่ครบวาระและพ้นตำแหน่ง สำหรับการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่อยู่ระหว่างดำเนินการนั้น โดยจะครบกำหนดเวลาการเสนอชื่อภายใน 16 กันยายน 2568 ปัจจุบันยังไม่มีบุคคลใดเสนอชื่อเพื่อให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณา
บริษัทฯยังคงดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ และ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆในระดับกรรมการ หรือ ฝ่ายบริหารเพิ่มเติมจากที่เคยแจ้งไว้
คำถามคือ.. การที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่อนุมัติงบการเงิน สะท้อนมุมมองธุรกิจ DUSIT อย่างไร ?
และหากยังไร้ข้อยุติจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนและโอกาสทางธุรกิจ อย่างไร ?
ก่อนหน้านี้ "ศุภจี สุธรรมพันธุ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม DUSIT ยืนยันว่าแผนงานยังดำเนินต่อไปและเชื่อว่าปัญหาต่างๆจะผ่านไปได้ด้วยดี
พร้อมความหวังโครงการ Dusit Residences และ Dusit Parkside ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" ที่มียอดขายปัจจุบันสูงถึง 90% คิดเป็นมูลค่า 16,000 ล้านบาท เริ่มทยอยโอนในช่วงปลายปี 2568 นี้ และโอนอย่างมีนัยสำคัญในปี 2569 จะเป็นตัว Unlock Value กลุ่มดุสิตธานี ช่วยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากรายได้ที่รอรับรู้
ย้อนกลับไปดูรอยร้าวที่ฉายชัดให้โลกรู้!
เดิมคนวงนอกไม่มีใครทราบว่าเกิดเรื่องราวอลหม่านล้านแปดในตระกูลดังอย่างเจ้าของดุสิตธานี กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เมื่อ"ชนินทธ์ โทณวณิก" พี่ชายคนโตของตระกูลถูกถอดจากตำแหน่งกรรมการ บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด และแทนที่ด้วยกรรมการใหม่จากอีก 2 ตระกูล คือ นายภัทร สาลีรัฐวิภาค และ นางสาวลลิตา เธียรประสิทธิ์
เรื่องราวบานปลายต่อเนื่องในการประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 25 เมษายน 2568 มีมติไม่อนุมัติงบการเงินประจำปี 2567 และยังไม่ได้ประชุมในวาระการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี ประจำปี 2568 นั่นแหละในวงนักลงทุนถึงได้รู้ เพราะกระทบกับการลงทุนแน่หากไม่สามารถนำส่งงบการเงินไตรมาส 1/2568 ได้
แต่ท้ายที่สุดคณะกรรมการและคณะผู้บริหารของบริษัทฯได้แก้ไขปัญหาและผ่านพ้นมาได้ รอดจากการถูกขึ้นเครื่องหมาย SP หยุดการซื้อขายได้ ต่อมาในการประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ผู้ถือหุ้นอนุมัติแต่งตั้งผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของปี 2568 เรียบร้อย
ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท วันที่ 16 มิถุนายน 2568 แต่งตั้ง "ชนินทธ์ โทณวณิก" รักษาการประธานกรรมการ แทนนายอาสา สารสิน ที่ออกจากตำแหน่งกรรมการตามวาระ และแต่งตั้ง "ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์" เป็นรองประธานกรรมการ แทนนายชนินทธ์ โทณวณิก พร้อมแต่งตั้ง "ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์" เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ และ "ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์" เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา พิจารณาค่าตอบแทน และบรรษัทภิบาล โดยมีผลทันที
แน่นอนว่า เรื่องราวต่างๆต้องเร่งสางปมให้จบ เพราะหนทางข้างหน้ายังต้องสู้ต่อ ด้วยยอดหนี้รวม 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นกู้ 4,000 ล้านบาท ครบกำหนดในปี 2569 จำนวน 2,500 ล้านบาท ส่วนอีก 1,500 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ และเป็นหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย 6,000 ล้านบาท คิดเป็นดอกเบี้ยจ่ายประมาณ 281 ล้านบาทที่รออยู่นั้นย่อมต้องใช้ความน่าเชื่อถือ
และท้ายที่สุดยังคงต้องตามต่อถึงท่าที "ดุสิตธานี" กับการแก้สมการความเชื่อมั่นในสายตาผู้ถือหุ้น และนักลงทุนจะกลับมาเป็นหนึ่งในหุ้นเรือธงแห่งการท่องเที่ยวได้หรือไม่ ในเมื่อแรงปั่นป่วนภายในดูไม่จบง่ายนัก.