อดีตผู้พิพากษาอาวุโสชี้คดีฮั้ว สว.แค่พิสูจน์ว่าการเลือกไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมก็พอ
17 ก.ค.2568 - นายวัส ติงสมิตร นักวิชาการอิสระ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โพสต์เฟซบุ๊ก ในหัวข้อ “คดีฮั้วเลือกสมาชิกวุฒิสภา กกต. มีภาระการพิสูจน์ให้เห็นเพียงว่า การเลือก สว. มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมเท่านั้น ไม่ต้องพิสูจน์ให้เห็นจนสิ้นข้อสงสัย” ระบุว่า
สืบเนื่องจาก เจ้าหน้าที่ กกต. และ DSI ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) Big Data, โทรศัพท์, โซเชียลมีเดีย, ภาพจากกล้องวงจรปิด และระบบติดตาม GPS แสวงหาความจริง จนพบว่า มีการกระทำเป็นขบวนการในรูปแบบคณะบุคคล วางแผนสลับซับซ้อน จ่ายเงินค่าตอบแทน จัดทำโพยฮั้วเลือก สว. ผลปรากฏว่า มีผู้ได้รับเลือกเป็น สว. จำนวน 138 คน และอยู่ในลำดับสำรอง 2 คน
และวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนกลาง คณะที่ 26 ของสำนักงาน กกต. จะสรุปสำนวนเสนอต่อสำนักงาน กกต. เพื่อดำเนินการในชั้นที่ 2 ถึง 4 ต่อไป
เมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้ให้ความเห็นผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ว่า ในกรณีจ่ายค่าจ้างไปฮั้วเลือก สว. จะเป็นความผิดอาญาเกี่ยวกับการเลือก สว. หากจ่ายเป็นเงินสด ทำให้ไม่พบเส้นทางเงิน พยานหลักฐานประเภทปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีน้ำหนักน้อย และ กกต. มี 7 คน การลงมติใช้เสียงข้างมาก 4 เสียง ในเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะมี กกต. ครบวาระ พ้นหน้าที่ไปหลายคน หากได้ กกต. คนใหม่ ซึ่งผ่านการเห็นชอบจาก สว. ที่ถูกกล่าวหากว่าครึ่งสภา อาจมีผลทำให้การลงมติพลิกไปอีกทางหนึ่งก็ได้ นั้น
ผู้เขียนมีความเห็นดังนี้
1.คดีฮั้วเลือก สว. โดยผิดกฎหมาย จะมีผล 2 ประการ คือ
(1) ผู้กระทำผิดจะถูกศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หากผู้กระทำผิดได้รับเลือกเป็น สว. สมาชิกภาพของ สว. ผู้นั้นจะสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย อันเป็นมาตรการควบคุมการเลือกให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามหมวด 4 ของกฎหมายการได้มาซึ่ง สว. (มาตรา 62)
กรณีนี้กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้เพียงว่า “เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” (reasonable ground to believe) ซึ่งหมายถึง มีหลักฐานเพียงพอที่จะให้เชื่อโดยมีเหตุอันสมควรเท่านั้น แตกต่างจากคดีความผิดทางอาญาดังจะกล่าวต่อไป
(2) ผู้กระทำผิดจะมีความผิดทางอาญาซึ่งมีโทษจำคุกและปรับตามหมวด 6 ของกฎหมายการได้มาซึ่ง สว. เช่น การให้เงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อย่างอื่นอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ (มาตรา 77 (1))
กรณีนี้กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ว่า โจทก์จะต้องพิสูจน์ให้เห็นโดยปราศจากข้อสงสัยอันสมเหตุสมผล (beyond a reasonable doubt) และโจทก์จะต้องฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจ
2.คดีฮั้วเลือก สว. ที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนกลาง คณะที่ 26 ของสำนักงาน กกต. (ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ กกต. 4 คน และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ 3 คน) กำลังจะสรุปสำนวนเสนอสำนักงาน กกต. จัดเป็นคดีควบคุมการเลือกให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยง เพื่อขอให้ศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และให้สมาชิกภาพของ สว. สิ้นสุดลง (ถอดถอนจากตำแหน่ง สว.) กฎหมายกำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์ว่า “เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” (reasonable ground to believe) เท่านั้น
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามข่าว น่าเชื่อว่า มีการฮั้วเลือก สว. โดยผิดกฎหมาย กกต. สามารถร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิ และถอดถอนตำแหน่ง สว. ตามหมวด 4 ของกฎหมายการได้มาซึ่ง สว. ได้แล้ว
กรณีนี้ไม่ใช่การฟ้องผู้กระทำผิดทางอาญาต่อศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจ เพื่อให้ลงโทษจำคุกและปรับ ตามบทกำหนดโทษในหมวด 6 ของกฎหมายการได้มาซึ่ง สว. ซึ่งต้องพิสูจน์ให้เห็นโดยปราศจากข้อสงสัยอันสมเหตุสมผล (beyond a reasonable doubt) ว่ามีการกระทำผิดจริง
3.หากปรากฏว่า การดำเนินคดีฮั้วเลือก สว. ล่าช้า จน กกต. หลายคนครบวาระ พ้นจากตำแหน่งไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แล้วได้ กกต. ชุดใหม่ที่มีเสียงข้างมาก คดีอาจเดินทางไปไม่ถึงศาลฎีกา