ผู้ว่าฯสุรินทร์ ประกาศเขตภัยพิบัติสงคราม เป็นจังหวัดแรกของไทย
วันที่ 27 กรกฎาคม 2568 นายชำนาญ ชื่นตา ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ลงนามในประกาศด่วนที่สุด ถึงนายอำเภอ ทุกอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และนายกเทศมนตรีเมืองสุรินทร์ พร้องส่งหนังสือหารือ เรื่อง ขอหารือแนวทางการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ถึง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยระบุว่า
ด้วยสถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชามีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการปะทะตลอดแนวชายแดนอำเภอบัวเชด สังขะ กาบเชิง และพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ด้วยอาวุธหลายชนิด รวมถึงการโจมตีสถานที่สำคัญ เช่น สถานบริการสาธารณสุข สถานีบริการน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ และพื้นที่ชุมชนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนกรณีเกิดสาธารณภัยหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัย หรือกรณีฉุกเฉิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ จึงขอซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ดังนี้
1. ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามหน้าที่และอำนาจให้ความสำคัญสูงสุดกับการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตามพื้นพื้นที่ชายแดนดังกล่าว
2. กรณีเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกองกำลังฝ่ายไทยและกองกำลังฝ่ายกัมพูชาบริเวณพื้นพื้นที่ชายแดน ที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชนหรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐถือเป็นสาธารณภัย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 4 และตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ข้อ 5
โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถใช้จ่ายเงินงบประมาณตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ข้อ 7 ข้อ 19 (1) และข้อ 21 ประกอบกับหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563
ทั้งนี้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ มีหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตท้องถิ่นของตน โดยมีผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่นั้นเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะผู้อำนวยการท้องถิ่น และมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้อำนวยการจังหวัดและผู้อำนวยการอำเภอตามที่ได้รับมอบหมาย
3. กรณีฉุกเฉินที่มีเหตุสาธารณภัยเกิดขึ้น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่าย ตามข้อ 18 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2563 และหากงบกลางมีไม่เพียงพอให้ดำเนินการ
ตามข้อ 100 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ที่กำหนดว่าในกรณีฉุกเฉินที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้นให้ผู้บริหารท้องถิ่นอนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมได้ตามความจำเป็นในขณะนั้น โดยให้คำนึงถึงถึงฐานะการเงิน การคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
4. กรณีผู้ประสบภัยจากพื้นที่เกิดภัยได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ ตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 ด้านการดำรงชีพ แต่จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยให้รายงานผู้กำกับดูแลเพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
ในส่วนของ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ. ทก.) เปิดเผยว่าขณะนี้รัฐบาลได้รับแจ้งว่า นายชำนาญ ชื่นตา ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้ลงนามในประกาศประกาศเขตภัยพิบัติสงครามแล้ว ซึ่งเป็นยกระดับเทียบเท่าน้ำท่วม-แผ่นดินไหว เนื่องจากสถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชามีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณชายแดนอำเภอบัวเชด สังขะ กาบเชิง และพนมดงรัก และอาจส่งผลกระทบต่อสถานที่สำคัญ อาทิ สถานบริการสาธารณสุข สถานีบริการน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งพื้นที่ชุมชน
นายจิรายุกล่าวว่า การประกาศดังกล่าวเป็นการกำหนดให้เหตุการณ์ปะทะให้เป็น "สาธารณภัย" ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562
และเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้งบประมาณช่วยเหลือประชาชนที่จำเป็นต้องอพยพหรือได้รับผลกระทบได้อย่างทันที กรณีงบประมาณไม่เพียงพอ ผู้บริหารท้องถิ่นสามารถอนุมัติให้ใช้เงินสะสมได้ตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงฐานะการเงินการคลังขององค์กร
ทั้งนี้ ขอให้ ปชช.ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ คอยรับแจ้งเตือนจากจังหวัด และขอให้ปฏิบัติตามแนวทางที่วางไว้ คือ ไม่ควรอยู่ในพื้นที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก หลีกเลี่ยงพื้นที่ในรัศมี 120 กม. จากชายแดนไทย–กัมพูชา โดยจุดที่ควรหลีกเลี่ยงชั่วคราว ได้แก่ ฐานที่ตั้งหน่วยทหาร โรงพยาบาล โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และชุมชนหนาแน่น หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ขอให้ใช้เวลาสั้นที่สุด และรีบเดินทางกลับที่พัก โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในอำเภอใกล้ชายแดน
นอกจากนี้ ขอให้ ปชช. ในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยจากความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือให้เต็ม และอย่าปิดเครื่อง เนื่องจาก Cell Boardcast Service สแตนด์บาย 24 ชั่วโมง หากมีเหตุเกิดพื้นที่ไหน มือถือทุกคนจะมีเสียง และตัวหนังสือแจ้งเตือนทันที ส่วนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เนื่องจากสถานการณ์ตลอดแนวเขตชายแดนจังหวัดสุรินทร์ มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ขอให้พิจารณาถึงความปลอดภัยของตนเองด้วย
"อีกเรื่องที่ ปชช. สามารถช่วยทหารได้ นอกจากการไม่แชร์ข้อมูลสำคัญต่าง ๆ แล้ว สิ่งนั้นก็คือเมื่อพบเห็นโพสต์หรือคอมเมนต์ ของผู้ไม่หวังดี ที่มีการกลั่นแกล้ง ก่อกวน และโจมตี สื่อทางการไทย ให้ช่วยกันกดรีพอร์ต (Report) ทันที" นายจิรายุระบุ
อ่านเพิ่มเติม ( คลิก )