ครั้งแรกของโลก Gripen ไทยใช้อาวุธในสมรภูมิจริง ในภารกิจสนับสนุนกองทัพบก
ในการปะทะระหว่างไทยและกัมพูชาในครั้งนี้ มีระบบอาวุธในกองทัพไทยที่ถูกใช้งานในสงครามจริงเป็นครั้งแรกหลายแบบ และแสดงประสิทธิภาพได้ค่อนข้างดี อย่างเช่นระเบิดนำวิถี KGGB ซึ่งผลิตโดยบริษัท LIG Nex1 ของเกาหลีใต้ ที่จริงๆ แล้วคือการติดตั้งชุดปีกบนระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ขนาด 500 ปอนด์ ชุดนำวิถีนี้ช่วยทำให้ระเบิดนำวิถีปกติสามารถทิ้งได้ในระยะที่ไกลขึ้นมาก ในเงื่อนไขที่เหมาะสม เราสามารถทิ้งระเบิดได้จากระยะไกลถึง 100 กิโลเมตรเลยทีเดียว
นอกจากนั้นยังมีรถถังหลัก VT-4 ซึ่งผลิตโดยบริษัท Norinco จากประเทศจีน ซึ่งกองทัพบกทยอยจัดหาเข้าประจำการในหน่วยทหารม้าของกองทัพภาคที่ 2 มาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นรถถังหลักที่ทันสมัยที่สุดของไทยในปัจจุบัน แม้ช่วงแรกๆ จะมีข่าวเรื่องความพร้อมรบและการซ่อมบำรุงอยู่บ้าง ซึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องปกติของระบบอาวุธที่ใช้งานใหม่ แต่ล่าสุดกองทัพบกค่อนข้างมั่นใจในประสิทธิภาพและการใช้งาน อย่างที่ผู้บัญชาการทหารบกกล่าวในที่ประชุมกรรมาธิการงบประมาณ 2569 ว่า ปัจจุบัน VT-4 เป็นรถถังที่มีความพร้อมสูงสุดของกองทัพบกไทย
ซึ่งในการรบครั้งนี้ รถถัง VT-4 ก็พิสูจน์ประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดีในบทบาทของการเป็นฐานยิงสนับสนุนการดำเนินกลยุทธ์ของทหารฝ่ายเรา เนื่องจากมีอำนาจการยิงที่สูงโดยใช้ปืนใหญ่ขนาด 125 มม. และระบบกล้องเล็งที่ทันสมัยแบบ Catherine-FC ของ Thales พร้อมเลเซอร์วัดระยะ ทำให้การยิงอาวุธเป็นไปได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ
แม้ว่ารถถังในตระกูลนี้อาจจะเคยออกปฏิบัติการจริงไปแล้วคือ MBT-3000 ของไนจีเรียในภารกิจการรบกับกลุ่มกบฏโบโกฮาราม แต่ถ้านับเฉพาะรุ่นย่อยอย่าง VT-4 นี่ก็ถือว่าเป็นครั้งแรกของการรบจริง และเป็นการรบตามแบบ คือการรบระหว่างกองทัพและกองทัพ ดำเนินกลยุทธ์ตามหลักการทั้งหมด ซึ่ง VT-4 ก็มีส่วนช่วยให้กำลังทหารราบของกองทัพบกสามารถยึดพื้นที่กลับคืนจากกัมพูชาได้ และยิ่งเมื่อเทียบกับรถถังของกัมพูชาที่ใช้ T-55 แล้ว ความทันสมัยและประสิทธิภาพต่างกันมากแบบเรียกได้ว่าหลายสิบปี โดยเฉพาะเทคโนโลยีเกราะที่ VT-4 ดีกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้
กองทัพบกกำลังทยอยจัดหา VT-4 ทุกปีตามงบประมาณที่ได้รับ ซึ่งก็น่าจะมาทดแทนตามอัตราเดิมของ M41 ต่อไป
นอกจากนั้นยังมีรายงานข่าวว่ากองทัพบกไทยใช้งาน DTI-1G เป็นครั้งแรกในการรบครั้งนี้เช่นกัน DTI-1G เป็นจรวดหลายลำกล้องนำวิถีพิสัยไกลที่มีระยะยิง 150 กิโลเมตร เป็นการจัดหาเทคโนโลยีการวิจัยและผลิตจากจีนโดยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศของไทย โดยทำวิจัยและทำการผลิตในประเทศไทย แม้ว่าจะยังมีจำนวนแท่นยิงและลุกจรวดน้อย แต่ก็มีรายงานว่ากองทัพบกได้ใช้งาน DTI-1G ไปแล้ว โดยไม่ทราบว่าเป้าหมายของจรวดแบบนี้คืออะไร
สิ่งที่สำคัญของจรวดหลายลำกล้องแบบนี้คือความแม่นยำ เพราะ DTI-1G นั้นเป็นจรวดนำวิถีที่แม้จะยิงเต็มระยะ 150 กิโลเมตรก็มีความคลาดเคลื่อนน้อยไม่กี่เมตรเท่านั้น สามารถใช้ในการโจมตีเป้าหมายที่มีความสำคัญและมีคุณค่าสูงหรือ High-Value Target ของกัมพูชาได้
ซึ่งก็หวังว่าผลจากการบในครั้งนี้จะทำให้กองทัพบกจัดหา DTI-1G เข้าประจำการเพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นระบบอาวุธทางยุทธการหลักแบบหนึ่งของกองทัพบกไทยต่อไป เพราะจะได้เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยด้วย
สุดท้าย ระบบอาวุธที่น่าจะมีชื่อเสียงและคนไทยสนใจกันมากที่สุดแบบหนึ่งก็คือเครื่องบินขับไล่ Gripen C/D ของกองทัพอากาศ ซึ่งเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ด้วย โดยทำการทิ้งระเบิดสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของกองทัพบก
ทั้งนี้ Gripen เป็นเครื่องบินรบที่ผลิตในสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลางทางการทหารมานานก่อนที่จะเข้าร่วมกับ NATO หลังการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทำให้ที่ผ่านมาสวีเดนเข้าร่วมในสงครามและความขัดแย้งต่างๆ น้อยมาก ยกเว้นที่ลิเบียซึ่งกองทัพอากาศสวีเดนเข้าร่วมในภารกิจเฝ้าตรวจและบังคับใช้เขตห้ามบิน
วันศุกร์ที่ผ่านมากองทัพอากาศวางกำลัง Gripen C/D ที่กองบิน 1 โคราช และมีรายงานว่าพบเห็น Gripen ทำการบิน ดังนั้นเมื่อกองทัพอากาศไทยใช้ Gripen ในภารกิจ Battlefield Air Interdiction หรือการขัดขวางทางอากาศในพื้นที่การรบ ก็จะถือเป็นครั้งแรกของโลกที่ Gripen ใช้อาวุธอากาศสู่พื้นต่อเป้าหมายจริงนั่นคือกำลังทหารของกัมพูชา
นอกจากระเบิดเอนกประสงค์ต่างๆ ที่ไม่นำวิถีแล้ว Gripen ก็สามารถใช้ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์แบบ GBU-12 ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นคาดว่า Gripen จะใช้ระเบิดชนิดนี้เช่นเดียวกับ F-16 ที่มีรายงานการใช้ระเบิดชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง Gripen มีกระเปาะชี้เป้าแบบ LITENING III ใช้งาน ดังนั้นก็สามารถใช้งาน Gripen ชี้เป้าได้ด้วย
อันที่จริงแล้ว จุดเด่นของ Gripen ของไทยก็คือจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำ RBS-15F ซึ่งเป็นจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำแบบเดียวของกองทัพอากาศไทย แต่คงจะไม่มีบทบาทในภารกิจครั้งนี้เนื่องจากกัมพูชามีแต่เรือรบขนาดเล็กและยังไม่มีความขัดแย้งที่นำไปสู่การใช้กำลังทางเรือ
อย่างไรก็ตาม อีกองค์ประกอบหนึ่งที่กองทัพอากาศจัดหามาพร้อมกับ Gripen เมื่อสิบปีก่อนคือ Saab 340 AEW ซึ่งติดตั้งเรดาร์ Erieye จำนวน 2 ลำในบทบาทของอากาศยานแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อใช้ในการตรวจตราน่านฟ้า นอกจากนั้นยังมี Saab 340 ELINT ซึ่งเป็นเครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในภารกิจการข่าวที่เกี่ยวข้องกับสัญญาณและคลื่นวิทยุ สุดท้ายก็คือศูนย์ควบคุมปฏิบัติการทางอากาศของกองทัพอากาศไทยใช้ระบบ ACCS ของสวีเดนในการควบคุมและบัญชาการการใช้กำลังทางอากาศทั้งหมดของกองทัพอากาศไทยเช่นเดียวกัน
ภาพ: U.S. Air Force Photo by Tech Sgt. Aaron Oelrich / Released