‘คมนาคม’ เปิด 5 มาตรการช่วยประชาชน จากผลกระทบชายแดนไทย-กัมพูชา
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สถานการณ์บริเวณชายแดน ไทย-กัมพูชา เป็นเรื่องที่รัฐบาลและทุกหน่วยงานให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอให้ทุกท่านมั่นใจว่า กระทรวงคมนาคมพร้อมสนับสนุนภารกิจ และเคียงข้างดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มกำลัง กระทรวงคมนาคมได้ออกมาตรการใน 5 มิติ เพื่อให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการรักษาอธิปไตยของประเทศใน พื้นที่ชายแดน ไทย - กัมพูชา ดังนี้
มิติที่ 1 การอพยพประชาชนและการเคลื่อนย้าย ให้จัดเตรียม และระดมยานพาหนะภาครัฐ เช่น รถโดยสาร รถบรรทุก หรือรถไฟ เพื่อใช้ในการอพยพประชาชนจากพื้นที่เสี่ยง พร้อมจัดตั้งจุดพักคอยหรือสถานีรับ - ส่งที่ปลอดภัยบริเวณใกล้ชายแดน โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดตารางการบินเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของเครื่องบินกองทัพอากาศให้เกิดความปลอดภัยทางด้านการบินสูงสุด และเกิดความรวดเร็วในการดำเนินภารกิจ
มิติที่ 2 การดูแลโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้ตรวจสอบและประเมินความเสียหายของโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ปะทะ ดำเนินการซ่อมแซมฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย และสนับสนุนการลำเลียงสิ่งของหรือการเคลื่อนย้ายประชาชน ปิดกั้นหรือเบี่ยงเส้นทางที่ไม่ปลอดภัย พร้อมติดตั้งป้ายแจ้งเตือนล่วงหน้า และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของทุกระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ
มิติที่ 3 การสนับสนุนด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ให้จัดระบบลำเลียงสิ่งของบรรเทาทุกข์ และความช่วยเหลือจากส่วนกลางสู่พื้นที่ชายแดน ตลอดจนสนับสนุนการขนส่งอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ และวางแผนเส้นทางสำรองสำหรับการขนส่งสินค้า เพื่อลดผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์
มิติที่ 4 การสื่อสารข้อมูลและการประสานงาน โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านคมนาคมในภาวะฉุกเฉิน ภายใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคม พร้อมเปิดช่องทางติดต่อสายด่วนตลอด ๒๔ ชั่วโมง สำหรับสอบถามการเดินทาง การขนส่ง เส้นทางที่ปลอดภัย และเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์แอปพลิเคชัน และโชเชียลมีเดียของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมอย่างต่อเนื่อง
มิติที่ 5 การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและเครื่องจักรกล โดยเตรียมเจ้าหน้าที่จากกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยง จัดเตรียมเครื่องจักรกลหนัก เช่น รถบรรทุก รถขุด พร้อมเข้าดำเนินการเมื่อมีความจำเป็น และสนับสนุนหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (Mobile Units) สำหรับช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน
ทั้งนี้ ขอให้ ทุกหน่วยงานจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมงจนกว่าสถานการณ์จะสงบ
“กระทรวงคมนาคมจะไม่นิ่งเฉยในยามที่ประชาชนและประเทศต้องเผชิญกับความไม่มั่นคง เราพร้อมจะระดมทุกทรัพยากร ทั้งคน เครื่องจักร และระบบขนส่ง เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด เพราะความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของประชาชนคือสิ่งสำคัญสูงสุดที่เราจะไม่ละเลย” นายสุริยะ กล่าว