พระพุทธชินราชสร้างพุทธศตวรรษที่ 20 สมัยกษัตริย์พระองค์ใด?
พระพุทธชินราชสร้างพุทธศตวรรษที่ 20 สมัยกษัตริย์พระองค์ใด?
“พระพุทธชินราช” พระประธานในพระวิหาร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก เป็นพระพุทธรูปสำริดที่มีขนาดใหญ่ หน้าตักกว้างถึง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว (2.85 เมตร) สูง 7 ศอก 1 คืบ (3.72 เมตร)
พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก และยึดถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในโลกอีกด้วย แต่ประวัติการสร้างพระพุทธชินราชกลับไม่มีข้อมูลแน่ชัด
หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงการสร้างพระพุทธชินราช ปรากฏในเอกสารชื่อว่า“พงศาวดารเหนือ” ซึ่งชำระในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) เจ้ากรมราชบัณฑิตขวา ได้ทำการเรียบเรียงตำนานเรื่องเล่าของเมืองเหนือที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
เนื้อหาในพงศาวดารเหนือตอนที่ว่าด้วยการสร้างพระพุทธชินราชมีลักษณะเป็นตำนานอภินิหาร จึงไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยกษัตริย์พระองค์ใด
นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่า หากพิจารณาจากพุทธลักษณะแล้ว พระพุทธชินราชเหมือนกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ แต่มีพัฒนาการที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งพระพักตร์ (หน้า) รูปไข่ แม้ว่าจะกลมป้อมมากกว่าหมวดใหญ่ แต่ก็ยังคงเค้าพระพักตร์ของพระพุทธรูปสุโขทัย รวมถึงขมวดพระเกศา (ผม) ปานกลางแบบหมวดใหญ่ และอีกหลายส่วนที่เหมือนแบบสุโขทัย ทั้งพระรัศมี พระวรกาย (ร่างกาย) แม้จะดูอวบอ้วนกว่า และโดยเฉพาะพระสังฆาฏิ
ศ. หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงเชื่อว่า พระพุทธชินราชเริ่มสร้างสมัยพระเจ้าลิไท ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 หรือหลังกว่านั้น ทางด้าน รศ. ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ ให้ความเห็นว่า พระพุทธชินราชมีลักษณะใกล้เคียงกับพระศรีศากยมุนี (สันนิษฐานว่าสร้างสมัยพญาลิไท) แต่พัฒนาการไปแล้วเล็กน้อย คือมีความอ่อนช้อยมากขึ้น พระหัตถ์ (มือ) เรียวเล็ก พระองค์ (ตัว) มีความแข็งกระด้างน้อยลง พระพักตร์กลมขึ้น พระปราง (แก้ม) ยังค่อนข้างอวบอยู่มาก พระรัศมีเป็นเปลวสูง เชื่อว่าสร้างในสมัยพญาไสลือไท ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 20
ขณะที่ ศ. ดร. สันติ เล็กสุขุม อธิบายว่า พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปที่มีสัดส่วนสมบูรณ์งดงาม ย่อมจะต้องสร้างโดยช่างที่มีความสามารถขั้นสูงสุดแล้วเท่านั้น โดยหากเทียบกับพระศรีศากยมุนีทั้งในแง่ของขนาดและรูปแบบมีความไล่เลี่ยกัน แต่พระพุทธชินราชอ่อนช้อยกว่าพระศรีศากยมุนี ดังนั้น พระพุทธชินราชจึงอาจสร้างหลังพระศรีศากยมุนีเล็กน้อย อาจสร้างในสมัยพญาไสลือไท
ข้อสังเกตประการหนึ่งของพระพุทธชินราชอยู่ที่นิ้วพระหัตถ์ (นิ้วมือ) ทั้งสี่ที่ยาวเสมอกัน
ศ. ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อธิบายว่า การทำนิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกันเคยปรากฏมาก่อนในศิลปะหริภุญชัย แต่หายไปและไม่มีการสร้างต่อเนื่องในสมัยล้านนาตอนต้น มาพบอีกครั้งในศิลปะล้านนาตอนปลายในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21
ส่วนในศิลปะอยุธยาพบในกลุ่มพระพุทธรูปทรงเครื่องและพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางราวพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา และมาพบมากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 1-3)
อ. ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การที่พระพุทธชินราชมีนิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกันนั้น อาจแสดงให้เห็นว่าเป็นงานที่สร้างขึ้นใหม่ในสกุลช่างพระพุทธชินราชเอง แต่ที่สำคัญคือพบหลักฐานน้อยมาก และพบเฉพาะพระพุทธรูปองค์ที่มีขนาดใหญ่เพียงไม่กี่องค์เท่านั้น จึงเป็นไปได้ในอีกทางว่า อาจเป็นงานซ่อมในสมัยหลังหรือไม่ ในประเด็นนี้จึงนับว่ายังมีปัญหาอยู่มาก
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พระพุทธชินราชสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยค่อนข้างแน่ชัด แต่จะสร้างในสมัยพญาไสลือไทจริงหรือไม่นั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป
ทำไมพระพุทธชินราชถึงนิยมนำมาเป็นต้นแบบในการจำลองพระพุทธรูปมากที่สุด ทำไมพระพุทธชินราชถึงได้รับการยกย่องให้เป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในโลก ติดตามรับชมได้ใน ZAB HISTORY “พระพุทธชินราช” การเมืองเบื้องหลังประวัติพุทธรูป
อ่านเพิ่มเติม :
- “สังวาล” พระพุทธชินราช ของใหม่ที่ใส่ประดับองค์พระสมัยหลัง มาจากไหน?
- ทำไมรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนพระราชหฤทัย ไม่ทรงอัญเชิญพระพุทธชินราชมากรุงเทพฯ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธปฏิมา งานช่างพลังแห่งศรัทธา. มติชน, 2554.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : พระพุทธชินราชสร้างพุทธศตวรรษที่ 20 สมัยกษัตริย์พระองค์ใด?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com