สมองเสื่อมก่อนวัย อายุน้อยก็เป็นได้ เช็กสัญญาณเตือนจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
จากข่าวอัปเดตล่าสุดวันนี้ (22 ก.ค. 2568) ที่ “บรูซ วิลลิส” ดาราฮอลลีวูดในตำนานป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมแล้วมีอาการทรุดลง จนไม่สามารถพูด อ่าน เขียน และเดินได้เหมือนปกติ ก็ทำให้หลายคนให้ความสนใจโรคสมองเสื่อมมากขึ้น แต่นอกจากจะเกิดกับผู้สูงวัยแล้ว โรคสมองเสื่อมก่อนวัย ก็สามารถเกิดขึ้นกับคนที่ยังอายุไม่ถึง 65 ปีได้เช่นกัน สังเกตสัญญาณเตือนจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม
สมองเสื่อมก่อนวัย เกิดจากอะไร
ที่ผ่านมาเราคุ้นเคยว่าโรคสมองเสื่อมมักจะเกิดกับผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากความผิดปกติของสมองที่ลดประสิทธิภาพการทำงานลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ในวัยทำงานก็สามารถป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมก่อนวัยได้เช่นกัน ซึ่งเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป โดยพบมากถึง 7% ของจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมก่อนวัยมาจากความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้นหรือมีอายุ 40 ปีขึ้นไป อวัยวะและระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ รวมถึงหัวใจและสมองก็ย่อมค่อยๆ เสื่อมลง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ และมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น
- มีความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดสูง
- เป็นโรคเบาหวาน
- โรคหลอดเลือดต่างๆ
- โรคตับและโรคไตเรื้อรัง
- โรคอัลไซเมอร์
- สมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง
- สมองส่วนหน้าเสื่อม
- พันธุกรรมจากคนในครอบครัว
- สูบบุหรี่จัด
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ไม่ออกกำลังกาย
- นั่งทำงานทั้งวัน ไม่ค่อยขยับตัว
- มีความเครียด
- นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ
ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวเร่งที่จะทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้เร็วขึ้น รวมถึงการขาดวิตามินบางตัว เช่น วิตามินบี 12 และอี, การได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อม สารเสพติด หรือยาบางชนิด, การติดเชื้อจำพวกซิฟิลิส หรือเชื้อไพรออน CJD ที่เป็นโรคเรื้อรัง ไวรัส HIV, ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ, เป็นโรคโพรงน้ำในสมองโต, มีเนื้องอกในสมอง หรือเกิดอุบัติเหตุจนสมองได้รับความกระทบกระเทือน ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงด้วยเช่นกัน
เช็กอาการสมองเสื่อมก่อนวัย
อาการของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมก่อนวัยจะไม่ต่างกับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมตามวัย ซึ่งสังเกตได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น
- สูญเสียความทรงจำระยะสั้น จำทางกลับบ้านไม่ได้ ลืมสถานที่ ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน ทำให้ไปไหนมาไหนตามลำพังไม่ได้
- ไม่สามารถทำกิจกรรมง่ายๆ ที่เคยทำได้ เช่น ซื้อของแล้วคิดเงินทอนไม่ถูก เพราะบวกลบเลขไม่ได้
- ใช้ข้าวของต่างๆ ไม่เป็น เช่น กดรีโมททีวี กดโทรศัพท์มือถือไม่ถูก ไม่ทราบว่าของชิ้นนั้นๆ มีไว้ทำอะไร
- ไม่สามารถแยกแยะรสชาติหรือกลิ่นได้
- อาบน้ำเองไม่เป็น ไม่ยอมแปรงฟัน แต่งตัวไม่เหมาะสม
- ความจำแย่ลง หลงๆ ลืมๆ โดยเฉพาะลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ลืมว่าวางสิ่งของไว้ตรงไหน แต่ความจำในเรื่องเก่าๆ ในอดีตอาจยังดีอยู่
- ชอบทำอะไรซ้ำๆ เช่น รดน้ำต้นไม้วันละหลายรอบ กินข้าววันละหลายมื้อ
- จำสถานที่ที่คุ้นเคยไม่ได้ ลืมชื่อคนในบ้าน
- มีปัญหาในการตัดสินใจ บุคลิกภาพเปลี่ยนไป เฉื่อยชา โมโหฉุนเฉียวง่าย อาจเห็นภาพหลอน หลงผิด มีอาการระแวง หวงของ กลัวคนรอบข้างจะมาเอาทรัพย์สินของตน หรือมาแย่งสมบัติไป
อาการต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ไม่มีสมาธิในการจดจ่อกับการทำงาน ซึ่งอาการของโรคสมองเสื่อมก่อนวัยนี้ ต้องแยกออกจากภาวะอื่นด้วย เช่น ภาวะซึมเศร้า, ภาวะเครียด, โรคทางจิตเวชอื่นๆ, โรคหลอดเลือดหรือเนื้องอกในสมองและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
ในระยะแรกคนใกล้ชิดอาจไม่ทราบว่านี่คืออาการของโรคสมองเสื่อมก่อนวัย แต่รับรู้ได้ถึงพฤติกรรมของผู้ป่วยที่เปลี่ยนไปจากเดิม เป็นสัญญาณของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมชนิด “โรคอัลไซเมอร์” ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดที่พบมากที่สุด โดยเกิดจากเซลล์สมองบางส่วนตายไป ส่งผลให้การส่งสารสื่อประสาทลดลง ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำและการเรียนรู้ ความสามารถในการใช้ชีวิตจะค่อยๆ ถดถอยลง
วิธีป้องกันภาวะสมองเสื่อมก่อนวัย
โรคสมองเสื่อมก่อนวัยโดยเฉพาะที่เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ ยังไม่มียาหรือวิธีรักษาให้หายได้ แต่เราสามารถบรรเทาอาการของโรคด้วยยา และประคับประคอง ป้องกัน หรือชะลอการดำเนินโรคไม่ให้เป็นมากขึ้นอย่างรวดเร็วได้ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้เซลล์สมองเสื่อมเร็วขึ้น
- ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุ สมองถูกกระแทก เช่น ระวังการหกล้ม
- ลดความเครียดและระวังภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดภาวะสมองเสื่อม โดยอาจหากิจกรรมต่าง ๆ ทำเพื่อคลายเครียด เช่น นั่งสมาธิ ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ หางานอดิเรกที่ชอบทำ
- ลดอาหารจำพวกไขมันมาก รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เพราะอาหารที่มีไขมันนี้ จะไปอุดกั้นผนังหลอดเลือด นำไปสู่การไหลของเลือดที่ไม่ปกติ ทำให้แรงดันสูงขึ้น หรืออาจเกิดเป็นก้อนเลือดหลุดไปอุดตันเส้นเลือดในสมองได้
- ดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน
- นอนหลับอย่างเพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้ง
- ตรวจสุขภาพประจำปี หากมีโรคประจำตัว ต้องติดตามการรักษา กินยาอย่างสม่ำเสมอ เช่น ควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท, รักษาระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
โรคสมองเสื่อมนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อผู้ป่วย แต่ยังส่งผลต่อครอบครัว คนรอบข้าง โดยเฉพาะทางด้านพฤติกรรม อารมณ์ ดังนั้นหากเราพบความผิดปกติเกิดขึ้นกับคนรอบตัว เช่น สับสนทิศทาง สถานที่ รวมถึงการคิด ตัดสินใจไม่ดีเหมือนเก่า ทั้งนี้หากมีอาการดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย รวมถึงการรับการรักษาทางการแพทย์หรือคำแนะนำในการดูแลต่อไป
ที่มา : รพ.พญาไท, มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : สมองเสื่อมก่อนวัย อายุน้อยก็เป็นได้ เช็กสัญญาณเตือนจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เผย "บรูซ วิลลิส" เริ่มอาการทรุด พูด อ่าน หรือเดินไม่ได้อีก หลังป่วยโรคสมองเสื่อมรุนแรง
- สมองเสื่อมก่อนวัย อายุน้อยก็เป็นได้ เช็กสัญญาณเตือนจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath