พรมแดนไทย-ลาว ไม่ใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่ง 2 ประเทศ ตลอดแนว?
ทำไมพรมแดนไทย-ลาว ไม่ใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่ง 2 ประเทศ ตลอดแนว?
พรมแดนไทย-ลาวในปัจจุบัน มักเข้าใจกันดีว่ามี “แม่น้ำโขง” เป็นเส้นแบ่งเขตแดนที่ชัดเจนระหว่าง 2 ประเทศ แต่มีพื้นที่ 2 ส่วนที่ดินแดนของประเทศไทยและประเทศลาวอยู่ประชิดกันโดยใช้แนวภูเขาเป็นเส้นแบ่งเขตแดน นั่นคือ 1. พื้นที่ภาคเหนือ บริเวณจังหวัดน่าน กับแขวงไซยะบุรี และ 2. พื้นที่ภาคอีสาน บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี กับแขวงจำปาสัก
เรื่องนี้มีที่มาที่ไปที่น่าสนใจ
ดินแดนลาวในอดีตอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม กระทั่งฝรั่งเศสเข้ามาแผ่อำนาจล่าอาณานิคม จนเกิดการกระทบกระทั่งกับสยามในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436 / ค.ศ. 1893) ส่งผลให้ดินแดนลาวที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ซึ่งก็คือพื้นที่ประเทศลาวในปัจจุบันเกือบทั้งหมด
ส่วนหนึ่งในสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศสระบุเอาไว้ว่า “คอนเวอเมนต์สยามยอมสละเสียซึ่งข้ออ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้นทั่วไปในดินแดน ณ ฝั่งซ้ายฟากตะวันออกแม่น้ำโขง แลในบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้นด้วย”
ดังนั้น พื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงยังคงอยู่กับสยาม แม่น้ำโขงจึงถูกใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ไล่มาตั้งแต่บริเวณเมืองเชียงแสน (จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน) ยาวเรื่อยไปจนถึงเมืองสตรึงเตรง (ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน)
แต่ฝรั่งเศสก็ไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ เพราะพวกเขามีเป้าหมายคือ 1. ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง และ 2. เมืองพระตะบอง กับเมืองเสียมราฐ ที่ตอนนั้นยังอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม
กรณีของเมืองหลวงพระบาง ตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงก็จริง (ซึ่งตกเป็นของฝรั่งเศสไปแล้ว) แต่ก็มีอำนาจอิทธิพลเหนือพื้นที่ฝั่งตรงข้ามเมืองอยู่ด้วย เพราะเป็นเมืองสองฟากฝั่งแม่น้ำมาแต่โบราณแล้ว ฝรั่งเศสจึงต้องการพื้นที่ส่วนนี้
เวลานั้น สยามก็ไม่ได้รู้สึกเสียดายอะไรหากจะยกดินแดนให้ฝรั่งเศส โดยสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ทรงเห็นว่า ควรยกดินแดนให้ฝรั่งเศสไปเพื่อแลกกับผลประโยชน์อย่างอื่น ทรงกล่าวว่า “เพราะจะได้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนกับข้ออื่น ๆ ที่ฝ่ายสยามจะได้ประโยชน์ด้วย” และทรงยืนยันว่า “ถ้าฝรั่งเศสต้องการจริง ๆ ตามที่เรียกร้องมาก็ให้ไป”
ส่วนกรณีของเมืองพระตะบอง กับเมืองเสียมราฐ แม้จะเป็นเมืองขึ้นของสยามมานานตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ประชากรและวัฒนธรรมเป็นเขมรแทบทั้งสิ้น สยามจึงให้ความสำคัญน้อยกว่าเมืองที่เป็น “ไทย” อย่างเมืองจันทบุรี และเมืองตราด
กระทั่งใน ค.ศ. 1904 สยามและฝรั่งเศสได้บรรลุข้อตกลงเรื่องดินแดนระหว่างกัน ใน “หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ค.ศ. 1904” ระบุให้สยามได้เมืองจันทบุรีคืนมา หลังจากถูกฝรั่งเศสยึดไป แต่ต้องสละเมืองตราดและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส
ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตรงนี้นี่เองที่ได้กลายเป็นส่วนที่ดินแดนของประเทศไทยและประเทศลาวอยู่ประชิดกัน โดยไม่มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ได้แก่
1. บริเวณแขวงบ่อแก้วกับแขวงไซยะบุรีในประเทศลาว ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเลย ใช้แม่น้ำเหืองที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงบริเวณอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นแบ่งเขตแดน จากนั้นลัดเลาะไปตามแนวภูเขาทางด้านทิศตะวันตก ก่อนจะตัดขึ้นไปทางเหนือจนจรดแม่น้ำโขงที่แก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
2. บริเวณแขวงจำปาสักในประเทศลาว ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตแดนมาจนถึงบริเวณอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้นลัดเลาะไปตามแนวภูเขาทางด้านทิศใต้ ผ่านด่านช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี จนจรดดินแดนประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน
สำหรับพื้นที่เมืองพระตะบอง กับเมืองเสียมราฐ สยามได้ยกให้กับฝรั่งเศส โดยแลกกับเมืองตราด และเมืองด่านซ้าย จังหวัดเลย (ตลอดจนเกาะใต้แหลมสิงห์จนถึงเกาะกูด) คืนมาจากฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1907
พรมแดนไทย-ลาวจึงเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อ 100 กว่าปีนี้เอง
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ฐนพงศ์ ลือขจรชัย. (2567). ชิงแดนแม่น้ำโขง : ประวัติศาสตร์เสียดินแดน ฉบับวิวาท(กรรม). กรุงเทพฯ : มติชน.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2554). ประมวลสนธิสัญญา : อนุสัญญา ความตกลง บันทึกความเข้าใจและแผนที่ ระหว่างสยามประเทศไทยกับประเทศอาเซียนเพื่อนบ้าน : กัมพูชา-ลาว-พม่า-มาเลเซีย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : พรมแดนไทย-ลาว ไม่ใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่ง 2 ประเทศ ตลอดแนว?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com