ทุบทุกสถิติ! สมัยรัชกาลที่ 3 “จับพระสึก” กว่า 500 รูป
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งที่ทรงใส่พระราชหฤทัย และมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง หากมุมหนึ่งในรัชสมัยของพระองค์ก็มีการ “จับพระสึก” จำนวนกว่า 500 รูป
พระราชศรัทธาในพระศาสนา
เมื่อใกล้เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 3 ทรงเป็นห่วงพระราชกิจเกี่ยวกับ “พระศาสนา” ดังปรากฏในพระราชปรารภตอนหนึ่งว่า
“ด้วยเงินในท้องพระคลังทั้งข้างหน้าข้างในมีอยู่สัก 40,000 ชั่งเศษ ขอไว้ให้ข้า 10,000 ชั่ง จะใช้ในการพระราชกุศลซึ่งยังค้างอยู่นั้น…ทองคำก็มีอยู่กว่า 200 ชั่ง ขอแบ่งไว้ให้ข้าเป็นส่วนพระราชกุศลสำหรับปิดวัดวาอารามที่ยังค้างอยู่นั้นให้สำเร็จก่อน…”
ด้วยตลอดรัชกาล ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพระศาสนาด้านต่างๆ ด้วยทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เช่น
“การสร้างและปฏิสังขรณ์วัด” วัดที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเช่น วัดเฉลิมพระเกียรติ ที่นนทบุรี, วัดเทพธิดาราม, วัดราชนัดดา ฯลฯ และทรงปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วัดอรุณราชวราราม ฯลฯ
การ “สังคายนาพระไตรปิฎก” ต่อจากรัชกาลที่ 1 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระไตรปิฎกใหม่ เช่น ฉบับอักษรรามัญ, ฉบับลายกำมะลอ สำหรับวัดราชโอรส ฯลฯ ทั้งยังทรงสนับสนุนให้มี “การเรียนการสอนพระปริยัติธรรม” มากขึ้น ทรงให้ขยายการศึกษาพระปริยัติธรรมออกเป็น 4 ขั้น (ขั้นเปรียญจัตวา, เปรียญตรี, เปรียญโท และเปรียญเอก)
“การปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแบ่งคณะสงฆ์เป็น 4 คณะใหญ่ คือ คณะเหนือ, คณะใต้, คณะกลาง และคณะอรัญวาสี ทั้งยังมีการตั้งและการเลื่อนสมณศักดิ์ โดยพิจารณาจากความรู้ในพระปริยัติธรรม, ความสามารถในการบริหารคณะสงฆ์ ฯลฯ
หากเมื่อมี “พระสงฆ์” กระทำผิดพระวินัย พระองค์ก็ทรงไม่ละเลยเช่นกัน
จับพระสึก
พ.ศ. 2385 พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 บันทึกว่า
“เดือน 1 เดือน 2 เดือน 3 เกิดชำระความพระสงฆ์ ที่ประพฤติอนาจารมิควร ได้ชำระสึกเสียก็มาก ประมาณ 500 เศษ ที่หนีไปก็มาก พระราชาคณะเป็นปาราชิกก็หลายรูป”
ปฏิบัติการจับพระสึกจำนวนกว่า 500 รูปดังกล่าว นอกจากพระสงฆ์ทั่วไป ส่วนหนึ่งยังเป็น “พระราชาคณะ” สำหรับมีความผิดมีตั้งแต่ประพฤติอนาจาร (ความประพฤติไม่ดีไม่งาม ไม่เหมาะสมแก่บรรพชิต) และปาราชิก (อาบัติหนักของพระสงฆ์ ได้แก่ เสพเถุน, ลักทรัพย์, ฆ่ามนุษย์ และอวดอุตตริมนุสสธรรม)
แต่ด้วยเป็นเรื่องมัวหมองที่สั่นคลอนพระศาสนาและศรัทธาของศาสนิกชน พระราชพงศาวดารจึงบันทึกไว้สั้นๆ เพียงเท่านี้
คลิกอ่านเพิ่ม :
- วาทกรรมอำนาจ “พระสงฆ์ไทย” ว่าด้วย “สังฆราช”
- วัดเฉลิมพระเกียรติฯ วัดสุดท้ายในพระราชศรัทธารัชกาลที่ 3
- “วัดราชนัดดาราม” วัดเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าหลานเธอรัชกาลที่ 3 พระราชนัดดาพระองค์ใด?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง
วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์. “พระบาทสมเด็จพระเจ้านั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการฟื้นฟูสถาบันสงฆ์” ใน, วารสารไทยศึกษา. ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2556.
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2, องค์การค้าคุรุสภา พ.ศ. 2504.
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ 35 กุมาพันธ์ 2564.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กรกฎาคม 2568.
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ทุบทุกสถิติ! สมัยรัชกาลที่ 3 “จับพระสึก” กว่า 500 รูป
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com