นักโทษสยามเมื่อ 100 กว่าปีก่อน เสียชีวิตด้วยโรคใดมากที่สุด?
นักโทษสยามเมื่อ 100 กว่าปีก่อน เสียชีวิตด้วยโรคใดมากที่สุด?
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีการปฏิรูปงานราชทัณฑ์ให้ทันสมัย โดยนำแนวคิดและการบริหารจัดการเรื่องงานราชทัณฑ์จากตะวันตก และดินแดนอาณานิคมของตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาปรับใช้
หนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญ คือ การก่อตั้ง “กองมหันตโทษ” ควบคุมนักโทษหนักที่มีกำหนดโทษตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป และก่อตั้ง “กองลหุโทษ” ควบคุมนักโทษเบาที่มีกำหนดโทษจำคุกต่ำกว่า 3 ปี นักโทษที่ถูกจองจำจากการเป็นหนี้ และผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี
คุกกองมหันตโทษ สร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2433 (พ.ศ. 2434 ตามปฏิทินใหม่) ส่วนตะรางกองลหุโทษ สร้างแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2434
ก่อนจะไปเรื่องสาเหตุการเสียชีวิตของนักโทษในเรือนจำยุคนั้น ขอพูดถึงเรื่อง “อาหารการกิน” ของพวกเขาก่อน
ผศ. ดร. ศรัญญู เทพสงเคราะห์ เจ้าของผลงาน “รัฐราชทัณฑ์ อำนาจลงทัณฑ์ในยุคสมัยใหม่” (สำนักพิมพ์มติชน) เล่าว่า สุขภาพและสุขอนามัยของนักโทษ เป็นดัชนีชี้วัดการดำเนินงานของรัฐได้ว่ามีมาตรฐานเพียงใด
ในกรณีคุกสมัยใหม่ของสยาม ชนชั้นนำได้ว่าจ้าง วิลเลียม วิลลิส (William Willis) นายแพทย์ชาวตะวันตก มาดำรงตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ประจำกองมหันตโทษ เพื่อดูแลเรื่องสุขภาพและรักษาโรคต่างๆ ของนักโทษทั้งหมดในพระนคร รวมทั้งจัดทำรายงานในประเด็นดังกล่าว
จากรายงานความเห็นเรื่องอาหารนักโทษใน พ.ศ. 2434 หมอวิลลิสแสดงความกังวลว่า อาหารมีไม่เพียงพอให้นักโทษบริโภค และไม่สามารถบำรุงให้นักโทษมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงได้
เนื่องจากนักโทษได้รับอัตราค่าอาหารคนละ 5 อัฐต่อวัน เทียบแล้วน้อยกว่านักโทษของศาลกงสุลอังกฤษในกรุงเทพฯ ที่ได้รับคนละ 16 อัฐ หมอวิลลิสจึงขอให้เพิ่มอัตราค่าอาหารนักโทษในคุกใหม่ให้ไม่ต่ำกว่า 8 อัฐ
แม้ว่ารัฐพยายามจัดหาอาหารให้เพียงพอต่อนักโทษสยาม แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณค่าอาหารนักโทษ ส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพอาหาร
อีกทั้งเมื่อเรือนจำในพระนครประสบปัญหานักโทษล้นคุก จนมีเงินไม่พอจ่ายค่าอาหารเลี้ยงนักโทษ รัฐจึงต้องโอนเงินค่าใช้สอยประเภทอื่น เช่น ค่าเครื่องนุ่งห่ม ค่ายารักษาโรค ฯลฯ มาเป็นค่าอาหาร หรือไม่ก็ใช้วิธีลดอัตราค่าอาหารนักโทษต่อคน เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการเลี้ยงอาหารนักโทษ
นักโทษสยามเมื่อ 100 กว่าปีก่อน เสียชีวิตด้วยโรคใดมากที่สุด?
เมื่อดึงงบจากส่วนอื่น โดยเฉพาะค่ายารักษาโรค ไปเพิ่มงบประมาณส่วนอาหาร ก็กระทบกับสุขภาพของนักโทษเข้าไปอีก เพราะช่วงนั้นนักโทษในกองมหันตโทษมีปัญหาเจ็บป่วยกันอยู่แล้ว และมีอัตราการเสียชีวิตในระดับที่สูงมากด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่าง เดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2435 มีนักโทษเสียชีวิตจากอาการป่วยทั้งสิ้น 18 คน ส่วนมากเสียชีวิตด้วยโรคฝีในท้อง และ โรคริดสีดวงลำไส้
เดือนสิงหาคม ปี 2435 มีนักโทษเสียชีวิต 8 คน นักโทษป่วย 81 คน และนักโทษติดฝิ่น 10 คน จากนั้นเดือนกันยายน ปี 2435 ไม่มีนักโทษเสียชีวิต แต่มีนักโทษป่วย 72 คน และนักโทษติดฝิ่น 5 คน
เหตุที่มีนักโทษเสียชีวิตและป่วยในอัตราสูง เพราะส่วนมากมีสุขภาพร่างกายอ่อนแอและติดฝิ่น เมื่อเข้ามาใช้ชีวิตกับคนจำนวนมากในพื้นที่จำกัด จึงติดโรคระบาดต่างๆ ได้ง่าย
ปัญหานักโทษสยามเสียชีวิตจากอาการเจ็บป่วยยังไม่หมดง่ายๆ ดังปรากฏในรายงานคุกกองมหันตโทษ ปี 2445 ให้ข้อมูลว่ามีนักโทษเสียชีวิต 81 คน หรือ 5.79% จากนักโทษทั้งหมดเกือบ 1,400 คน
สาเหตุเพราะคุมขังนักโทษจำนวนมากในห้องขังที่อากาศถ่ายเทน้อย ทำให้ วัณโรค แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทั้งการแยกนักโทษป่วยไปรักษาก็ทำได้ยาก เพราะโรงพยาบาลคุกมีเตียงจำกัด ทำให้นักโทษเสียชีวิตด้วยวัณโรคมากกว่าโรคอื่นๆ
ทศวรรษ 2450 มีความพยายามแก้ปัญหานักโทษเสียชีวิตจากโรคระบาด ด้วยการโอน แฮนซ์ อดัมเซ็น (Hans Adamsen) หรือพระบำบัดสรรพโรค นายแพทย์ประจำกระทรวงธรรมการ ให้มาเป็นแพทย์ใหญ่ของกรมเรือนจำ ทำให้รัฐบาลสามารถจัดการโรคภัยไข้เจ็บของนักโทษในคุกที่กรุงเทพฯ ได้ดีขึ้น
ถึงอย่างนั้นในช่วงดังกล่าว วัณโรคและโรคเรื้อนก็ยังคงเป็นโรคระบาดในคุกที่ควบคุมได้ยากเช่นเดิม
อ่านเพิ่มเติม :
- ประหาร “7 ชั่วโคตร” เรียงตระกูลอย่างไร ใครโดนบ้าง
- เณรเล่นดอกไม้ไฟจนไหม้วัดมหาธาตุ วังหน้าทรงพระพิโรธ รับสั่งให้สึกแล้ว “ประหารชีวิต”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศรัญญู เทพสงเคราะห์. รัฐราชทัณฑ์ อำนาจลงทัณฑ์ในยุคสมัยใหม่. กรุงเทพฯ : มติชน, 2568
สั่งซื้อหนังสือ “รัฐราชทัณฑ์ อำนาจลงทัณฑ์ในยุคสมัยใหม่” ที่เว็บไซต์สำนักพิมพ์มติชน ได้ที่นี่
เผนแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : นักโทษสยามเมื่อ 100 กว่าปีก่อน เสียชีวิตด้วยโรคใดมากที่สุด?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com