สหรัฐปลดนักการทูตกว่า 1,300 คน หลังศาลฯ ไฟเขียวทรัมป์เลย์ออฟใหญ่
รัฐบาลสหรัฐเริ่มเดินหน้าปรับโครงสร้างหน่วยงานของรัฐครั้งใหญ่ ภายหลังคำตัดสินของศาลฎีกาที่เปิดทางให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สามารถปลดข้าราชการได้อย่างถูกกฎหมาย โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ (U.S. State Department) เป็นหน่วยงานแรกที่เริ่มกระบวนการดังกล่าว ด้วยการเลิกจ้างนักการทูตและพนักงานภายในประเทศรวมกว่า 1,350 คน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา
การปลดพนักงานในครั้งนี้ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือนจำนวน 1,107 คน และเจ้าหน้าที่ระดับภายในประเทศอีก 246 คน และคาดว่าจำนวนเลิกจ้างทั้งหมดในเฟสแรกจะใกล้แตะ 3,000 คน รวมถึงผู้ที่ลาออกโดยสมัครใจ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปราะบาง ทั้งสงครามในยูเครน ความตึงเครียดระหว่างอิหร่าน–อิสราเอล และวิกฤตในฉนวนกาซาที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าการลดกำลังพลทางการทูตอาจส่งผลต่อศักยภาพของสหรัฐในการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ถึงแม้ทางฝั่งทำเนียบขาวจะเน้นย้ำว่าแผนนี้เป็นการ “ลดขนาดรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพ” ตามแนวทาง “America First” แต่บรรดานักวิจารณ์และอดีตนักการทูตต่างแสดงความกังวลถึงผลกระทบระยะยาวที่อาจลดทอนอิทธิพลของสหรัฐในเวทีโลก
ท่ามกลางบรรยากาศเศร้าโศก แห่งการจากลาที่กระทรวงฯ ในกรุงวอชิงตัน เจ้าหน้าที่จำนวนมากมาร่วมให้กำลังใจเพื่อนร่วมงานที่ถูกเลิกจ้าง โดยมีการปรบมือ ส่งเสียงเชียร์ และถือป้ายเขียนข้อความ ขอบคุณ ขณะที่อีกหลายคนเดินออกมาพร้อมกล่องสัมภาระและน้ำตา
รายงานข่าวระบุว่ารายการตรวจสอบการลาออกที่พนักงานได้รับ มีความยาว 5 หน้า พร้อมระบุให้คืนบัตรเข้าอาคารและตัดอีเมลสำนักงานภายในเวลา 17.00 น. ของวันเดียวกัน
โดยในกลุ่มที่ถูกปลด ยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายดูแลการตั้งถิ่นฐานให้ชาวอัฟกันที่เคยร่วมงานกับรัฐบาลสหรัฐในช่วงสงคราม 20 ปี ซึ่งนักวิจารณ์มองว่าเป็นสัญญาณอันตรายต่อความต่อเนื่องของนโยบายมนุษยธรรมและความน่าเชื่อถือของประเทศ
ก่อนหน้านี้ หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลกลางสหรัฐ เช่น กระทรวงพาณิชย์ เกษตร สาธารณสุข การคลัง และทหารผ่านศึก ได้จัดทำแผนลดจำนวนพนักงานไว้แล้ว แต่ต้องรอคำตัดสินจากศาลสูงที่เพิ่งยกเลิกคำสั่งระงับชั่วคราวของศาลชั้นต้นไปเมื่อไม่กี่วันก่อน
ฝ่ายบริหารของทรัมป์ระบุว่าเป้าหมายคือการลดขนาดภาครัฐที่มีเจ้าหน้าที่พลเรือนกว่า 2.3 ล้านคนทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าปรับลดอย่างน้อย 260,000 ตำแหน่งในระยะแรก ขณะที่ฝ่ายแรงงานและสหภาพข้าราชการกำลังเตรียมยื่นฟ้องต่อศาล เพื่อปกป้องสิทธิแรงงานและบริการสาธารณะที่อาจได้รับผลกระทบ
แผนการปรับโครงสร้างภาครัฐครั้งนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการลดคน แต่ยังกลายเป็นสมรภูมิใหม่ของการเมืองอเมริกัน ที่มีเดิมพันคือความมั่นคงของระบบราชการ และบทบาทของสหรัฐในระดับโลก