กรรม! (1)
สถาพร ศรีสัจจัง
ถึงวันนี้คนไทย “Gen B” (หรือ “รุ่นเบบี้ บูม”) ที่อายุประมาณ 60-80 ปี (เกิดพ.ศ.2487-2507) หรือคนที่ปัจจุบันอายุ 60-80 ปี กับคน “Gen X” ที่มีอายุระหว่าง 50-60 ปี (เกิดพ.ศ.2508-2522) หลายคนที่ไม่หลงไปกับ “วัฒนธรรมทุนบริโภคนิยม” มากนัก อาจจะ “รู้สึก” มึน หรือรับไม่ได้ หรือ “รู้สึกแย่” กับ สถานการณ์ทางสังคมที่ต้องรับรู้ ที่เกี่ยวข้อง ในปัจจุบัน
ทั้งของสังคมโลก สังคมไทย และสังคมครอบครัวตัวเอง!
ทำไมถึงคิดและประเมินไปในรูปการณ์เช่นนั้น?
ที่ประเมินเช่นนั้นก็เพราะระบบเศรษฐกิจ(ที่เป็นโครงสร้างฐานหรือโครงสร้างชั้นล่าง)และระบบวัฒนธรรม(โครงสร้างชั้นบนของสังคมทั้งหมด ตั้งแต่ระบบการเมืองจนถึงระบบ “คุณค่า” ของสังคม โดยเฉพาะเรื่องศีลธรรม-จริยธรรม และคุณธรรม)ที่เรียกกันว่าเป็น “คตินิยม” ได้ “พลิกเปลี่ยน” แบบรวดเร็วและรุนแรง ชนิดพลิก “หน้ามือเป็นหลังมือ”
คติความเชื่อทางสังคมที่ “ครอบ” คนรุ่น “เบบี้ บูม” และ คน “gen X” หรือคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี จนถึง 80 ปีในปัจจุบัน จนอาจกลายเป็น “จิตใต้สำนึก” (subconcious mind) ไปแล้ว คืออิทธิพลคำสอนของพระพุทธศาสนา!
เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ “ครอบจิตใจ” คนไทยรุ่นนี้ส่วนใหญ่ แน่ละต้องมีคนจำนวนหนึ่งที่เป็นพวก “ทุศีล” คือไม่รับศีลจากลัทธิศาสนาไหนเลย! (และคนพวกนี้บางส่วนอาจเป็นพวกที่มี “อำนาจทางสังคม” อยู่ในมือ!) คือเรื่อง “กฎแห่งกรรม”
แม้คนรุ่น “เบบี้บูม” จะเป็นคนรุ่นแรกที่ประเทศไทยเริ่มมี “แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” (แผนระยะที่ 1 จากปี 2504-09 ยังไม่มีคำว่า และ “สังคม”) ที่ “ผู้เชี่ยวชาญมริกัน” ภายใต้การชักนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์(ผู้มาจากการรัฐประหาร แต่อเมริกาสนับสนุน) เป็นผู้จัดทำต้นร่างไว้ให้
แต่ระบบอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่แท้จริงยังไม่เกิดขึ้นในเมืองไทยมากนัก หน่อของระบบ “ทุนนิยมเสรี” เพียงเริ่มได้รับการฟูมฟัก จนถึงเกิดเหตุการณ์ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” คือ เหตุการณ์ “การลุกขึ้นสู้ใหญ่” ของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน จนสามารถโค่นล้มขับไล่รัฐบาลเผด็จการ “ถนอม-ประภาส-ณรงค์” ในปีพ.ศ.2516 ได้สำเร็จแล้วนั่นแหละ “ทำนบ” ที่เคยกั้นกักความ “เสรี” หลายเรื่องในสังคมไทยจึงได้พังทลายลง!
ทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่มีส่วนแต่อย่างใดในการต่อสู้ครั้งนั้น แต่ก็ได้กลับจากการไปเรียนจบในต่างประเทศ มา ฉวยโอกาสเสวยผลของ “ระบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ” (แบบไทย) ที่เกิดขึ้นในช่วงยามนั้น จนสามารถ “สถาปนา” ครอบครัวตัวเองขึ้นเป็น “อีลีต” ของสังคมไทย คือมีอำนาจทาง “เศรษฐกิจ-การเมือง” แบบล้นฟ้าล้นแผ่นดินอยู่เหนือหัวประชาชนไทยมาจนถึงบัดนี้!
คติเรื่อง “กรรม” ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญที่แฝงเร้นเป็นความเชื่อลึกๆของคน “เจน บี” และ “เจนเอ็กซ์” น่าจะส่งผลอย่างสำคัญต่อส่วนใหญ่ของคนรุ่นนี้ (ส่วนน้อยที่มีโอกาสเข้าไปร่วมเสวย “อำนาจ” ทั้งด้าน “การเมือง” และ “เศรษฐกิจ” มาแต่ต้น คติความเชื่อเรื่อง “กรรม” อาจไม่ส่งผลอะไรต่อพวกเขามากนัก)
หลักเรื่อง “กรรม” ที่สอนให้ “พุทธศาสนิก” ในสังคมไทยแต่อดีต จนถึงคนรุ่น “เบบี้ บูม” และ รุ่น “เจน เอ็กซ์” (ส่วนใหญ่) ศรัทธา และ ยึดถือเป็น “แนวทางของชีวิต” (แม้จะถูกแรงกระชากแบบกิเลสของระบบทุนนิยมที่เริ่มแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆฉุดกระชากให้ไม่เชื่อไปได้ไม่น้อยแล้วก็ตาม)มีความลึกซึ้งและมีรายละเอียดมาก
ถ้าสนใจรายละเอียด ขอแนะนำให้ไปศึกษาได้จากพระไตรปิฎก ถ้าไม่มีเวลามากพอ ก็ลองคลิกถาม “อากู๋” เอาก็ได้ กรณีถามเจ้านี่ ขอแนะนำให้พิมพ์ชื่อท่าน ป.อ.ปยุตฺโต หรือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ลงไปด้วย แต่ที่อยากให้อ่าน(หรือฟัง)มากก็คือคำเทศน์เรื่อง “กฎแห่งกรรม” ของท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกข์
เกี่ยวกับเรื่อง “กรรม” นี้ คนรุ่น “เบบี้ บูม” และ “เจนเอ็กซ์” มักจะจำพุทธภาษิตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ดีเป็นพิเศษ อยู่หลายหัวข้อ เช่น
“กมฺมุนา วตฺตตี โลโก.”
“สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม.”
หรือ
“กลฺยาณการี กลฺยาณํ. ปาปการี จ ปาปกํ.”
“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว.”
หรือ
“ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ.”
“บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น
ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว.
เกี่ยวพุทธภาษิตแรกที่ยกมานั้น อยากนำคำอรรถาธิบายของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)มากำกับความให้ชัดขึ้นอีกสักหน่อย ท่านอธิบายไว้ว่า…”
“…กมฺมุนา วตฺตตี โลโก แปล ว่า ชาวโลกเป็นไปตามกรรม โลกในที่นี้หมายถึงสัตวโลก หมายความว่า กรรมหรือการกระทำนั่นเอง เป็นตัว สร้างสรรค์ เป็นตัวปรุงแต่งชีวิต แต่ละคนนั้นมีกรรมก็คือการคิดนึกที่เรียกว่า มโนกรรมบ้าง คิดอย่างไรแล้วก็ แสดงออกมาทางวาจาพูดเป็นวจีกรรม แล้วแสดงออกมาทางกายเป็นกายกรรม คือจะทำตามที่เกี่ยวข้องกับโลกภายนอก…
จากกรรมของตนเองก็ทำให้ชีวิตของเรานี้เป็นไปต่างๆ แล้วมนุษย์เหล่านั้น แต่ละคนๆ ทำกรรมร่วมกัน ก็ทำให้วิถีของสังคมเป็นไป สังคมนั้นก็จะมีความเป็นไปยังไง ก็เป็นผลรวมของมนุษย์ที่กระทำนั้น…”
แต่ข้อที่่ควรอภิปรายกันอย่างกว้างขวางสำหรับยุคปัจจุบัน น่าจะคือพุทธภาษิตบทที่ 2 ที่ยกมา ที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นั่นมากกว่าหรือเปล่า?!!