ทิศทางตลาด EV จีน จุดเปลี่ยนหรือแค่พักหายใจ?
รัฐบาลจีนเริ่มแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าถึงเวลาต้องหยุดการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลังราคาลดลงต่อเนื่องและจำนวนผู้ผลิตที่มากเกินจำเป็นเริ่มส่งผลเสียต่อความมั่นคงของทั้งอุตสาหกรรม
นโยบายอุตสาหกรรมของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เร่งการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว จนก่อให้เกิดผู้ผลิตหน้าใหม่จำนวนมากเกินกว่าที่ตลาดจะรองรับได้ ในขณะที่ยอดขายโดยรวมยังคงเติบโต สัญญาณของภาวะอุปทานล้นตลาดและการแข่งขันที่ไม่มีจุดหมายก็เริ่มชัดเจนมากขึ้น
BYD ผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีน รายงานว่ายอดขายในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 31 เป็น 2.1 ล้านคัน โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วน ส่วนที่เหลือเป็นรถไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก หลังบริษัทเลิกผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปตั้งแต่ปี 2022
อย่างไรก็ตาม เมื่อ BYD ประกาศลดราคาครั้งใหญ่เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งครอบคลุมรถมากกว่า 20 รุ่น บริษัทก็ถูกวิจารณ์โดยตรงจากคู่แข่งอย่าง Great Wall Motors โดยประธานบริษัทกล่าวว่า หากแนวโน้มการแข่งขันยังดำเนินต่อไป อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอาจต้องเผชิญวิกฤตเหมือนที่เกิดขึ้นกับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยยกตัวอย่างกรณีของ Evergrande ที่ล้มละลายและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม
BYD ออกมาตอบโต้ในทันที โดยผู้บริหารระดับสูง Li Yunfei แสดงความไม่พอใจและโพสต์ข้อมูลเปรียบเทียบเพื่อยืนยันความแข็งแกร่งของบริษัท พร้อมระบุว่า ความเห็นของประธาน Great Wall Motors เป็นการกล่าวอ้างที่ไร้เหตุผลและสร้างความเข้าใจผิด
หลังจากนั้นไม่นาน สมาคมผู้ผลิตรถยนต์จีน (CAAM) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และพัฒนาตลาดอย่างยั่งยืน โดยชี้ว่าการลดราคาครั้งใหญ่ของผู้ผลิตรายหนึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกในตลาด และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามราคารอบใหม่
กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน (MIIT) ก็ประกาศเช่นกันว่าจะเร่งจัดระเบียบการแข่งขันที่เรียกว่า “Involution” ซึ่งหมายถึงการแข่งขันที่ไร้เป้าหมาย ไม่สร้างคุณค่า และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อการแข่งขันนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรม
ในเดือนต่อมา ผู้ผลิตรถยนต์ 17 ราย รวมถึง BYD ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันว่าจะชำระเงินให้ซัพพลายเออร์ภายใน 60 วัน ซึ่งถือเป็นความพยายามหนึ่งในการลดแรงกดดันทางการเงินต่อผู้ผลิตชิ้นส่วน และลดการแข่งขันที่ไม่ยั่งยืน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์จำนวนมากเลื่อนการชำระเงินให้ซัพพลายเออร์ออกไปหลายเดือน โดยบางรายใช้วิธีออกตั๋วเงินระยะสั้นแทนการจ่ายเงินสด ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่าง Evergrande ใช้ และเมื่อล้มละลาย ก็ทิ้งให้ซัพพลายเออร์ถือเอกสารที่ไม่มีค่า
Cui Dongshu เลขาธิการสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของจีนกล่าวว่า ข้อตกลงการชำระเงินภายใน 60 วัน เป็นสัญญาณชัดเจนจากรัฐบาลที่ต้องการหยุดการแข่งขันแบบ Involution และลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะล้มละลายแบบโดมิโน
แม้ความเคลื่อนไหวล่าสุดจะสะท้อนความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์ แต่ผู้เชี่ยวชาญยังจับตาว่ามาตรการเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพเพียงใดในการยุติสงครามราคา และพลิกแนวโน้มราคาลงในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่แข่งขันดุเดือด
Jing Yang ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์จาก Fitch Ratings ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันสะท้อนความพยายามของภาครัฐและเอกชนในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและความมั่นคงของตลาด โดยยังต้องติดตามต่อว่า ความต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในไตรมาสถัด ๆ ไปจะเป็นอย่างไร
การที่จีนเริ่มเข้ามาควบคุมสงครามราคาถือเป็นก้าวสำคัญที่อาจพลิกเกมของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแม้จะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็เริ่มเผยให้เห็นรอยร้าวจากการแข่งขันที่ไม่มีจุดจบ ในยุคที่โลกกำลังจับตาจีนในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด ความยั่งยืนอาจกลายเป็นคำตอบสำคัญที่สุดของการเดินเกมครั้งนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "เฟอร์เรโร" ซื้อกิจการ "เคลล็อก" 3.1 พันล้านดอลลาร์
- ทำไม "BYD" ยอดขายกระฉูด! ท่ามกลางสงครามราคา EV l การตลาดเงินล้าน
- "TikTok" ดิ้นรอดแบน เตรียมขาย ผู้ลงทุนไม่ใช่จีน-เปิดแอปใหม่ l การตลาดเงินล้าน
- "Apple" โต้เดือดอียู ค่าปรับไม่เป็นธรรมในคดีผูกขาด l การตลาดเงินล้าน
- เกิดอะไร! "ซัมซุง" กำไรวูบ 39% คู่แข่งแซงตลาดชิป AI l การตลาดเงินล้าน