จับตา ครม.ไฟเขียว “วิทัย รัตนากร” นั่งเก้าอี้ผู้ว่า ธปท.คนใหม่
“ผู้ว่าแบงก์ชาติ” คนที่ 22 ลำดับที่ 25 จะได้ข้อสรุปวันนี้ ว่าใครจะได้รับไม้ต่อจากนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะสิ้นสุดวาระการตำแหน่งในสิ้นเดือนก.ย.68 นี้
ซึ่งนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เซ็นเสนอชื่อผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปแล้ว เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไปในวาระการประชุมวันที่ 15 ก.ค.68
และยังกล่าวอีกว่า “สำหรับผมแล้ว หากท่านใดเข้ามาเป็นผู้ว่า ธปท. คนใหม่ ก็สามารถทำงานร่วมกันได้ง่าย เพราะที่ผ่านมา ตนก็ไม่เคยมีปัญหา หรือมีเรื่องกับแบงก์ชาติ ซึ่งเราร่วมมือทำงานด้วยกัน เพราะปกติก็เรียกมาหารือต่อเนื่อง ผมก็ไม่มีปัญหา ใครก็ได้“
ส่วน 2 รายชื่อที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นสมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่า ธปท. ได้แก่ ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. และนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ผู้ที่ถูกเสนอชื่อนั่งเก้าอี้ ผู้ว่า ธปท. คนที่ 22 นี้ คือ “วิทัย รัตนากร” หลังจากผลงานเข้าตาฝ่ายนโยบาย จากการดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน รวมทั้งยังจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน และยังช่วยให้ฐานรากเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ
โดยตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ขับเคลื่อนออมสิน “วิทัย” ได้สร้าง Social Impact ช่วยเหลือคนไทยจำนวนกว่า 13 ล้านคน จากจำนวนบัญชีทั้งสิ้น 18.8 ล้านบัญชี คิดเป็นเม็ดเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งหากเข้าไปกุมบังเหียนขับเคลื่อนนโยบายการเงินของประเทศ ก็จะได้แก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องหนี้ประชาชน และการเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างตรงจุด
“วิทัย” มองบทบาท ธปท. อิสระแต่ไม่โดดเดี่ยว
นายวิทัย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องมี “อิสระแต่ไม่โดดเดี่ยว” หมายถึงมีอิสระในการตัดสินใจ แต่ต้องทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อเป้าหมายระยะยาวและการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ โดยต้องประสานกับนโยบายการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), กระทรวงพาณิชย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ฉายภาพ 3 แนวทางแก้หนี้
ทั้งนี้ “วิทัย” ได้ฉายภาพวิสัยทิศน์ถึงการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ต้องเดินไปพร้อมกัน แม้มีบทบาทต่างกัน คือ นโยบายการคลังจะออกได้เร็ว ยิงตรงเป้า และเห็นผลในระยะเวลาอันสั้น ส่วนนโยบายการเงินเป็นภาพใหญ่ เช่น การลดดอกเบี้ย ซึ่งกว่าจะเกิดผลต้องใช้ระยะเวลา 6-12 เดือน
“การลดดอกเบี้ย อัดฉีดเงินหรือลดภาษีอย่างเดียวแก้ไม่ได้ทั้งหมด ต้องประสาน (policy coordination) ระหว่างนโยบายการเงิน การคลัง และมาตรการจากหน่วยงานกำกับอื่นไปทิศทางเดียวกันและต่อเนื่อง ด้านนโยบายการเงินควรชัดเจน และส่งสัญญาณเชิงรุกขึ้น”
ทั้งนี้ ยังมองว่าในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในทางปฏิบัติมองว่ามี 3 แนวทาง ได้แก่
- เศรษฐกิจต้องเติบโต: หาก Nominal GDP โตเฉลี่ย 4% ต่อเนื่อง 2-3 ปี จะช่วยลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ได้
- ลดดอกเบี้ยเงินกู้: ช่วยให้ลูกหนี้จ่ายเงินต้นได้มากขึ้นในยอดชำระเท่าเดิม
- มาตรการเสริม: เช่น โอนหนี้ไม่มีหลักประกันออกจากระบบธนาคาร เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ในระยะยาว
นอกจากนี้ ยังมองว่าการลดดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือสำคัญ และจำเป็นในการบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนสูง แต่ความสำเร็จที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อส่งผ่านไปถึงดอกเบี้ยเงินกู้
เปิดประวัติการศึกษา-ทำงาน
“วิทัย” นั้น ปัจจุบันรับตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สมัยที่ 2 โดยได้พลิกบทบาทเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ช่วยเหลือประชาชน ฐานรากให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบ
ปัจจุบันอายุ 54 ปี เป็นบุตรของ “ศิริลักษณ์ รัตนากร” ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กับ “โสภณ รัตนากร” อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม
“วิทัย” จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทถึง 3 ใบ คือ
- ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ปริญญาโทกฎหมายธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ปริญญาโทการเงิน Drexel University, สหรัฐอเมริกา
โดยเริ่มต้นทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์ภัทร, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), ต่อมาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน (CFO) บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2554-2557, ย้ายมารับตำแหน่งรองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และดูแลกลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ ช่วงปี 2558-2559 ต่อมาปี 2559-2561 ดูแลกลุ่มลงทุนและบริหารการเงิน (CFO)
ทั้งนี้ ในช่วงปี 2560-2561 ถูกส่งไปเป็นรักษาการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เพื่อเข้าไปบริหารปัญหาฐานะการเงินของแบงก์ จากนั้นก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ระหว่างปี 2561-2563 ก่อนจะมาเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ตั้งแต่ปี 2563-ปัจจุบัน